ผู้พิพากษาศาลชั้นต้นสหรัฐฯ มีคำตัดสินให้บริษัทจัดหางาน ในมลรัฐแคลิฟอร์เนียชดเชยค่าเสียหายเป็นเงินทั้งสิ้น 8.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 286 ล้านบาท) แก่ “แรงงานไทย” ที่ถูกเอารัดเอาเปรียบขณะทำงานที่ไร่สับปะรด 6 แห่งในฮาวาย ทว่ายังไม่เป็นที่แน่ชัดว่า ในที่สุดแล้วจะมีโจทก์คนใดได้รับเงินก้อนนี้หรือไม่
วานนี้ (22 ธ.ค.) มอร์เดไช โอเรียน อดีตประธาน “โกลบัลฮอริซอนส์” ระบุว่า ไม่สามารถหาเงินมาจ่ายค่าเสียหายให้แก่แรงงานได้ เนื่องจากบริษัทจัดหางานที่มีฐานในเมืองลอสแองเจลิสแห่งนี้ได้ล้มเลิกกิจการไปแล้ว
เขากล่าวว่า “เราจะอุทธรณ์คำตัดสินที่น่าขันเช่นนี้” พร้อมสำทับว่า การสั่งให้บริษัทจ่ายค่าเสียหายเป็นเงินมหาศาลขนาดนี้ “ช่างไร้เหตุผลสิ้นดี”
นอกจากนี้ โอเรียนยังคงยืนกรานว่า ไม่มีแรงงานคนใดถูกทารุณ โดยเน้นย้ำว่า “เราจ่ายค่าตอบแทนแรงงานให้คนเหล่านี้ทุกเหรียญทุกเพนนี … เราพยายามช่วยให้ไร่เกษตรถูกกฎหมายในสหรัฐฯ ยืนหยัดต่อไปได้ แต่นี่คือผลตอบแทนที่เราได้รับ”
เมื่อปี 2011 คณะกรรมาธิการเพื่อความเท่าเทียมของโอกาสในการจ้างงานแห่งสหรัฐฯ (อีอีโอซี) ได้ยื่นฟ้องร้องโกลบัลฮอริซอนส์ และไร่เกษตร 6 แห่งในฮาวาย โดยคณะกรรมาธิการชุดนี้ระบุว่า แรงงานในกิจการเหล่านี้ได้รับการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมจากความมีอคติต่อเชื้อชาติ จัดหาที่พักซึ่งไม่สามารถอยู่อาศัยได้ จัดหาอาหารไม่เพียงพอ และให้ค่าแรงต่ำกว่ามาตรฐาน ตลอดจนขู่คุกคามจะส่งกลับประเทศ โดยฟาร์ม 5 แห่งยอมจ่ายค่ายอมความเป็นเงินรวมทั้งสิ้น 3.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 118 ล้านบาท)
เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (19) เลสลีย์ โคบายาชิ ผู้พิพากษาศาลแขวงสหรัฐฯ ได้พิพากษาให้โกลบัลฮอริซอนส์ แพ้คดี
แอนนา พัค ทนายความของอีอีโอซี ระบุว่า ทางหน่วยงานรู้สึกพอใจกับคำตัดสินของศาล แต่ก้าวถัดไปคือการทำให้โกลบัลฮอริซอนส์ ยอมจ่ายเงิน
ก่อนหน้านี้ โคบายาชิเคยพิพากษาว่า บริษัทจัดหางานเจ้านี้ต้องรับผิดต่อกรณีการเลือกปฏิบัติอย่างมีอคติต่อเชื้อชาติ และการทารุณแรงงาน
คณะกรรมาธิการเพื่อความเท่าเทียมของโอกาสในการจ้างงานระบุว่า บริษัทนี้จงใจปล่อยให้คนไทย ซึ่งเป็นชนชาติที่ถูกเหมารวมว่าเป็นคนไม่มีปากมีเสียง และยอมคน ต้องใช้ชีวิตอย่างอัตคัดขัดสน ทั้งที่ได้เรียกเก็บค่านายหน้าจากคนไทยเป็นเงินตั้งแต่ 9,500-26,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 310,000-850,000 บาท) และปล่อยให้พวกเขานอนบนเตียงเต็มไปด้วยตัวเรือดในบ้านซึ่งมีสภาพแออัด ขณะที่แรงงานบางคนต้องประดิษฐ์ “หนังสติ๊กขึ้นมาเพื่อจับไก่กิน”
ทั้งนี้ ผู้พิพากษาโคบายาชิสั่งให้มีการชดเชยเงินโจทก์ทั้ง 82 คน เป็นเงินคนละ 150,000 ดอลลาร์ (ราว 4.9 ล้านบาท) โดยเป็นเงินที่มาจากกองทุนสินไหมทดแทนมูลค่า 3.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ของไร่เกษตร 6 แห่งในฮาวาย และอีก 8.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ที่โกลบัลฮอริซอนส์ต้องแสดงความรับผิด เธอพบว่า ไร่เกษตรแห่งสุดท้ายที่ยังไม่ยอมชดใช้ค่าเสียหายคือ บริษัท “เมาอีไพแนปเพิล” ซึ่งมีส่วนต้องรับผิดร่วมกับโกลบัลฮอริซอนส์ ด้วยการออกค่าเสียหายเป็นเงิน 8.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 266.6 ล้านบาท) จากทั้งสิ้น 8.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
แคลร์ แฮนัสซ์ ทนายความซึ่งเป็นตัวแทนของแรงงานกลุ่มใหญ่ เพื่อดูแลจัดการเรื่องการเข้าเมืองให้พวกเขากล่าวถึงคำตัดสินว่า “คำถามก็คือเงินหลายล้านดอลลาร์ก้อนนี้จะตกไปถึงมือพวกเขาบ้างไหม … กระนั้น ดิฉันก็ยังประประหลาดใจว่าบริษัทไม่มีเงินจ่ายจริงๆ หรือ ไม่เช่นนั้นพวกเขาก็ปกปิดอำพรางไว้ได้แนบเนียนมาก”
ฆาเวียร์ โลเปซ เปเรซ ทนายของโกลบัลฮอริซอนส์ระบุว่า บริษัทเจ้านี้ไม่มีสินทรัพย์ และไม่มีเงินจ่ายค่าสู้คดี จึงยอมให้ผู้พิพากษาโคบายาชิ ตัดสินให้คู่ความชนะคดี โดยไม่ไปขึ้นศาล ขณะที่กิจการนี้วางแผนจะอุทธรณ์คำตัดสินภายหลัง
แฮนัสซ์ชี้ว่า เงินก้อนนี้จะช่วยพลิกชีวิตของแรงงานกลุ่มนี้ ซึ่งจำนวนมากยังคงยึดอาชีพเกษตรกรต่อไป
“ขณะที่ดิฉันหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ผู้เสียหายจะได้รับเงินทั้งหมดที่ควรจะได้ ดิฉันคิดก็ว่า พวกเขาจะมีความสุขที่ศาลพิพากษาให้พวกเขาชนะคดี” เธอกล่าวทิ้งท้าย