สนธิสัญญากำหนดระเบียบสากลสำหรับการค้าขายอาวุธทั่วโลกที่มีมูลค่ากว่า 8.5 หมื่นล้านดอลลาร์ (ราว 2.79 ล้านล้านบาท) จะมีผลบังคับใช้ในวันพรุ่งนี้ (24 ธ.ค.) โดยกลุ่มนักรณรงค์ต่างออกมาให้คำมั่นเพื่อรับรองว่าสนธิสัญญาฉบับนี้จะถูกบังคับใช้อย่างเข้มงวด
สหรัฐฯ ซึ่งเป็นผู้ผลิตและส่งออกอาวุธรายใหญ่ที่สุดของโลกอย่างทิ้งห่าง ได้เซ็นสนธิสัญญาฉบับนี้แล้ว แต่ยังไม่ได้ให้สัตยาบัน
ประเทศผู้ส่งออกรายสำคัญอื่นๆ อย่าง ฝรั่งเศส, อังกฤษ และเยอรมนี ได้ให้สัตยาบันต่อกฎบัตรฉบับนี้แล้ว และให้คำมั่นว่าจะยึดมั่นต่อกฎเกณฑ์อันเข้มงวดของกฎบัตรฉบับนี้ ซึ่งมีวัตถุประสงค์ที่การยุติการจัดส่งอาวุธให้แก่เหล่าผู้ละเมิดสิทธิมนุษยชนทั่วโลก
“นับเป็นเวลานานมากเกินไปแล้ว ที่อาวุธยุทธภัณฑ์ต่างๆ ถูกซื้อขายแลกเปลี่ยนกันโดยที่แทบไม่มีใครถามถึงชีวิตของผู้ที่พวกเขาจะทำลาย” แอนนา แม็กโดนัล ผู้อำนวยการของกลุ่มพันธมิตรควบคุมอาวุธ (Control Arms coalition) ซึ่งประกอบด้วยองค์กรนอกภาครัฐฯ (เอ็นจีโอ) กลุ่มต่างๆ
“สนธิสัญญาว่าด้วยการค้าอาวุธ (เอทีที) ฉบับใหม่ ซึ่งกำลังมีผลบังคับใช้ในสัปดาห์นี้ จะนำพาปัญหาดังกล่าวไปสู่จุดสิ้นสุด”
“และแล้วในตอนนี้การหยิบยื่นอาวุธสู่มือของบรรดาผู้ละเมิดสิทธิมนุษยชนและจอมเผด็จการก็จะสิ่งเป็นที่ขัดต่อกฎหมายระหว่างประเทศ” เธอกล่าว
ประเทศต่างๆ ทั้งหมด 130 ประเทศได้ลงนามในสนธิสัญญาฉบับนี้และมีอยู่ 60 ประเทศที่ได้ให้สัตยาบันแล้ว รวมถึงอิสราเอลซึ่งเพิ่งเข้าร่วมกับการรณรงค์ดังกล่าวในเดือนนี้
อย่างไรก็ตาม กลุ่มผู้รณรงค์ระบุว่า เพื่อการบังคับใช้สนธิสัญญาฉบับนี้ ยังมีงานมากมายรออยู่ข้างหน้า เริ่มด้วยการประชุมครั้งแรกของบรรดาฝ่ายภาครัฐในช่วงเดือนพฤศจิกายนปีหน้า เพื่อให้สนธิสัญญาฉบับนี้ได้รับการคุ้มครอง โดยจะต้องมีการตัดสินใจในเรื่องกลไกทางการเงินสำหรับสนธิสัญญาฉบับนี้และจัดตั้งสำนักเลขาธิการเพื่อตรวจสอบการบังคับใช้กฎบัตร
องค์กรนิรโทษกรรมสากล หรือแอมเนสตี อินเตอร์เนชันแนล บันทึกไว้ว่า 5 ใน 10 ของประเทศผู้ส่งออกอาวุธชั้นนำซึ่งประกอบด้วย ฝรั่งเศส, เยอรมนี, อิตาลี, สเปน และอังกฤษ ได้ให้สัตยาบันต่อเอทีทีแล้ว แต่รัสเซียและจีนยังไม่ได้ลงนาม
เอทีที สนธิสัญญาด้านอาวุธฉบับสำคัญฉบับแรกนับตั้งแต่สนธิสัญญาห้ามทดลองนิวเคลียร์โดยสมบูรณ์ปี 1996 มีเนื้อหาครอบคลุมถึงการขนส่งอาวุธทุกชนิดระหว่างประเทศ ไล่ตั้งแต่ รถถัง, อากาศยาน, ขีปนาวุธ ไปจนถึงอาวุธขนาดเล็กต่างๆ
สนธิสัญญาฉบับนี้จะบังคับให้แต่ละประเทศจัดตั้งหน่วยงานกำกับดูแลการส่งออกอาวุธแห่งชาติ โดยรัฐต่างๆ ต้องประเมินว่าอาวุธแต่ละชิ้นสามารถถูกนำไปใช้หลบเลี่ยงการห้ามส่งสินค้าระหว่างประเทศ, ใช้เพื่อการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ และอาชญากรรมสงครามหรือตกอยู่ในมือผู้ก่อการร้ายและขบวนการอาชญากรรมได้หรือไม่
“หากมีการบังคับใช้อย่างจริงจัง สนธิสัญญาฉบับจะสามารถช่วยชีวิตคนได้มากมายและให้การปกป้องที่มีความจำเป็นอย่างมากต่อพลเรือนกลุ่มเสี่ยงทั่วโลก” แม็กโดนัล กล่าว