“กลุ่มติดอาวุธ” ในอัสสัม อินเดียบุกสังหารชาวบ้าน ดับแล้ว 56 ศพ

ยอดผู้เสียชีวิตจากเหตุโจมตีหลายระลอกโดยกลุ่มติดอาวุธในภาคตะวันออกเฉียงเหนืออันห่างไกลของอินเดียเพิ่มขึ้นเป็น 56 รายแล้ว ตำรวจ ระบุวันนี้ (24)

พยาน ระบุว่า กลุ่มติดอาวุธลากตัวชาวบ้านออกจากบ้านเรือนของพวกเขาและจ่อยิงพวกเขาระยะประชิด ในเหตุโจมตีโดยพร้อมกันหลายจุดในพื้นที่ไม่สงบของรัฐอัสสัมเมื่อช่วงค่ำวานนี้ (23)

       มุขมนตรีแห่งรัฐอัสสัม กล่าวว่า ในจำนวนผู้เสียชีวิตมีเด็กรวมอยู่ด้วย และประกาศว่า พวกผู้ก่อเหตุจะไม่ได้รับการให้อภัย

“นี่เป็นหนึ่งในเหตุโจมตีที่ป่าเถื่อนที่สุดในช่วงไม่นานมานี้ โดยที่กลุ่มติดอาวุธพวกนี้ไม่ละเว้นแม้แต่เด็กแบเบาะ” ธรูน โกกอย บอกกับเอเอฟพี

ตำรวจชี้ว่าการโจมตีดังกล่าวเป็นฝีมือของกลุ่มแนวหน้าประชาธิปไตยแห่งชาติแห่งโบโดแลนด์ (National Democratic Front of Bodoland หรือ NDFB) ซึ่งเป็นพวกนอกกฎหมาย และเคลื่อนไหวเรียกร้องการแบ่งแยกแผ่นดินเกิดมาหลายสิบปีแล้ว

“จนถึงตอนนี้มีผู้เสียชีวิตแล้ว 56 คน และได้รับบาดเจ็บอีก 80 คน โดยอย่างน้อย 20 คนในจำนวนนี้อาการหนักอยู่โรงพยาบาล” เอ็ส.เอ็น. ซิงห์ จเรตำรวจบอกกับเอเอฟพี

“ทีมของเรายังคงพยายามที่จะเข้าถึงพื้นที่ดังกล่าว เพื่อดูว่ามีร่างผู้เสียชีวิตอยู่ในบ้านเรือนหรือป่าหรือไม่”

รัฐอัสสัม ซึ่งมีพรมแดนติดกับภูฏานและบังกลาเทศ มีประวัติศาสตร์ของข้อพิพาททางดินแดนที่มักรุนแรงอยู่เสมอระหว่างชนเผ่าพื้นเมืองโบโด , ผู้ตั้งถิ่นฐานชาวมุสลิม และชุมชนอธิวาสี (Adivasi) มาเนิ่นนาน

ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ กองโจรโบโดก่อเหตุโจมตีอย่างป่าเถื่อนต่อทั้งผู้ตั้งถิ่นฐานชาวมุสลิมและชุมชนอธิวสี

“ผมเห็นภรรยาและลูกชายของผม 2 คนถูกยิงเสียชีวิตต่อหน้าต่อตา” อนิล เมอร์มู ผู้รอดชีวิตวัย 40 ปีจากหมู่บ้านพุลบารีซึ่งถูกโจมตีหนักที่สุด และมีชาวบ้านถูกสังหาร 30 ราย

“อย่างไรก็ตาม ผมรอดมาได้ด้วยการหลบอยู่ใต้เตียงนอน” เขาบอกกับเอเอฟพี

ตำรวจ ระบุว่า การเจรจาเมื่อเร็วๆ นี้ที่มีรัฐบาลเป็นผู้ตั้งโต๊ะคุยกับฝ่ายหนึ่งของกลุ่ม NDFB อาจกระตุ้นให้เกิดการโจมตีดังกล่าว เนื่องจากพวกสายเหยี่ยวบางคนภายในกลุ่มนี้คัดค้านการเจรจา

นายกรัฐมนตรี นเรนทรา โมดี แห่งอินเดียประณามการโจมตีดังกล่าวว่าเป็น “การกระทำอันขี้ขลาด” และระบุว่า รัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทยของอินเดียจะเดินทางไปยังรัฐอัสสัมเพื่อประเมิณสถานการณ์ดังกล่าว

เมื่อช่วงก่อนหน้าในปีนี้ ประชาชนราว 10,000 คนพากันละทิ้งบ้านเรือนตัวเองหลบหนีลี้ภัย ภายหลังการปะทะรุนแรงจากกรณีพิพาททางพรมแดนทำให้มีผู้เสียชีวิตไปกว่า 45 ราย

เมื่อปี 2012 การปะทะกันของชนกลุ่มน้อยในพื้นที่เดียวกันนี้ในรัฐอัสสัมคร่าชีวิตผู้คนไปราว 100 คน และทำให้ประชาชนต้องพลัดถิ่นกว่า 400,000 คน

ความคิดเห็น

comments

ใส่ความเห็น