เมื่อเวลา 10.00 น. วันนี้ (26 ธ.ค.) ที่ห้องพิจารณาคดี 803 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ศาลอ่านคำพิพากษาของศาลฎีกาในคดีหมายเลขดำ 4903/2536 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 2 เป็นโจทก์ฟ้อง พล.ต.ท.ชลอ เกิดเทศ อดีตผู้บัญชาการประจำกรมตำรวจ, พ.ต.อ.ประเสริฐ จันทราพิพัฒน์ ผู้กำกับการตำรวจม้า กองบังคับการตำรวจสายตรวจ (ยศขณะนั้น), พ.ต.ต.ธานี สีดอกบวบ สารวัตร กก.กาฬสินธุ์ (หลบหนีการดำเนินคดี), ร.ต.อ.ฤทธิศาสตร์ แก้วเดช รอง สว.สส. สภ.อ.บ้านตาก จ.ตาก, ด.ต.เท่ง ติ๊บปะละวงศ์ ผบ.หมู่ สภ.อ.เถิน จ.ลำปาง, จ.ส.ต.สนิท กาวิชา ผบ.หมู่ สภ.อ.เถิน, จ.ส.ต.เสวก หรือส่วย กันทะมา สังกัด ผ.5 กก.2 ป. และนายสุรจิต หรือแดงหงอก ชัยศิริ (เสียชีวิตเมื่อปี 2547) เป็นจำเลยที่ 1-8 ตามลำดับ ในความผิดฐานร่วมกันเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่มิชอบ, เป็นเจ้าพนักงานเรียกรับทรัพย์สินจากผู้อื่นเพื่อประโยชน์ตนเองหรือผู้อื่น, ร่วมกันเบียดบังยักยอกทรัพย์ของผู้อื่นเป็นของตนเองโดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157, 149, 147 และความผิดอื่นๆ อีกหลายข้อหา
คดีนี้โจทก์ฟ้องเมื่อวันที่ 7 ก.ค. 2536 สรุปว่า พวกจำเลยซึ่งเป็นคณะพนักงานสอบสวนสืบหาเครื่องเพชรมูลค่ากว่า 500 ล้านบาท ของเจ้าชายไฟซาล ประเทศซาอุดีอาระเบีย ซึ่งถูกนายเกรียงไกร เตชะโม่ง คนงานไทยขโมยมาจากพระราชวังก่อนกลับประเทศไทยและนำมาขายให้กับนายสันติ ศรีธนะขัณฑ์ เสี่ยเจ้าของร้านเพชร “สันติมณี” ซึ่งเป็นผู้ต้องหาคดีรับของโจร โดยระหว่างสืบสวนสอบสวนคดีพวกจำเลยทั้งหมดได้เรียกรับเงินจากนายสันติ ผู้ต้องหาหลายครั้งจำนวน 3 ล้านบาท, จำนวน 6.6 แสนบาท และจำนวน 1.2 ล้านบาท เพื่อแลกกับการไม่ดำเนินคดีผู้ต้องหาในคดีรับของโจร และยังได้ร่วมกันยักยอกเพชรและทรัพย์สินของกลางหลายรายการ เช่น นาฬิกาข้อมือฝังเพชรยี่ห้อโชปาร์ด, นาฬิกายี่ห้อบูเช่กิรอด, อัญมณีแดงรูปดอกลำดวน 5 แฉก สร้อยเพชร สร้อยคอทองคำฝังเพชร จี้เพชร ต่างหู และอื่นๆ ไปโดยมิชอบไม่นำส่งคืนให้กับพนักงานสอบสวน ในชั้นพิจารณาคดีจำเลยทั้งหมดแถลงให้การปฏิเสธต่อสู้คดี
โดยศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 29 มิ.ย. 2549 โดยพิเคราะห์แล้วเห็นว่าจำเลยที่ 1 มีความผิดตาม ป.อาญา ม.149 จำคุก 2 กระทงๆ ละ 10 ปี รวมจำคุกเป็นเวลา 20 ปี จำเลยที่ 4 มีความผิดตาม ม.147 จำคุก 7 ปี คำให้การในชั้นสอบสวนและคำรับสารภาพเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาคดีอยู่บ้าง มีเหตุบรรเทาโทษเห็นควรลดโทษให้ 1 ใน 3 คงจำคุกไว้เป็นเวลา 4 ปี 8 เดือน และให้ยกฟ้องจำเลยที่ 2, 5, 6, 7 เนื่องจากพยานโจทก์ยังไม่เพียงพอ และให้คืนทรัพย์สินของกลาง 9 รายการและเงินจำนวน 200,000 บาท แก่ผู้มีสิทธิ์ ต่อมาโจทก์และจำเลยยื่นอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 9 ก.พ. 2555 โดยพิพากษายืนจำคุกจำเลยที่ 1 เป็นเวลา 20 ปี และพิพากษาแก้ในส่วนของจำเลยที่ 2 มีความผิดตาม ป.อาญา ม.147 ลงโทษจำคุกเป็นเวลา 10 ปี ส่วนจำเลยที่ 5, 6 และ 7 มีความผิดตาม ป.อาญา ม.149 ประกอบ ม.83 ลงโทษจำคุกเป็นเวลาคนละ 7 ปี แต่จำเลยที่ 5 และ 6 นำเงินของกลางจำนวน 2 แสนบาทมาคืน มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้ 1 ใน 3 เหลือลงโทษจำคุกเป็นเวลา 4 ปี 8 เดือน นอกเหนือจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ต่อมาจำเลยที่ 2 ยื่นฎีกาเพียงคนเดียว ส่วนจำเลยที่ 1, 4-7 ไม่ยื่นฎีกาคดีจึงยุติในชั้นอุทธรณ์ โดยระหว่างฎีกาจำเลยที่ 2 คงถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ
ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้วเห็นว่า คดีมีประเด็นต้องวินิจฉัยว่าจำเลยที่ 2 ได้เบียดบังยักยอกทรัพย์จากผู้ต้องหาซึ่งรับซื้อทรัพย์สินที่ถูกลักมาจากพระราชวังประเทศซาอุดีอาระเบีย รวมจำนวน 6.6 แสนบาท เป็นของตนจริงหรือไม่ เห็นว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า นายเกรียงไกร เตชะโม่ง คนงานไทยซึ่งเป็นพนักงานทำความสะอาดได้ขโมยทรัพย์สินมาจากพระราชวังซาอุดีอาระเบียซึ่งเป็นเพชร เครื่องประดับ อัญมณีและอื่นๆ น้ำหนักรวมประมาณ 30 กิโลกรัม รวมมูลค่าประมาณ 500 ล้านบาท ก่อนเดินทางกลับประเทศไทย จากนั้นทางการซาอุดีอาระเบียทราบข่าวจึงได้ประสานมายังทางการไทยเพื่อให้ติดตามจับกุมตัวนายเกรียงไกร โดยมีการตั้ง พล.ต.ท.ชลอ จำเลยที่ 1 เป็นหัวหน้าชุดสืบสวนในการติดตามจับกุมคนร้าย โดยมีจำเลยที่ 2-4 อยู่ในชุดสืบสวนด้วย เมื่อนายเกรียงไกรทราบว่ามีการตั้งชุดสืบสวนติดตามจับกุมจึงได้หลบหนีและนำทรัพย์สินไปฝากไว้กับญาติและขายให้กับผู้ต้องหารายอื่นๆ และนำไปมอบให้กับ พล.ต.ท.ชลอ จำเลยที่ 1 บางส่วน นอกจากนี้ ชุดสืบสวนก็ติดตามยึดทรัพย์สินคืนมาได้บางส่วนแต่ไม่นำส่งพนักงานสอบสวน ต่อมานายเกรียงไกรถูกจับกุมได้ที่โรงแรมแห่งหนึ่งในจังหวัดตาก จนกระทั่งถูกศาลพิพากษาจำคุกจนคดีถึงที่สิ้นสุด
ส่วนที่จำเลยที่ 2 ฎีกาคัดค้านว่าพยานโจทก์ไม่ได้ยืนยันว่าจำเลยที่ 2 ได้เบียดบังเอาทรัพย์สินไป และพยานจำไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 ได้เดินทางไปยังบ้านพักของนายนิคม เตชะโม่ง ญาติของนายเกรียงไกร เพื่อเรียกรับทรัพย์สินด้วยหรือไม่นั้น เห็นว่า แม้คำให้การของพยานโจทก์จะให้การขัดแย้งกันบ้าง แต่จำเลยที่ 2 ก็มิได้ยืนยันว่าไม่ได้เดินทางไปยังบ้านของนายนิคม แต่จำเลยที่ 2 กลับยอมรับว่าได้เดินทางไปยังบ้านหลังดังกล่าวจริง เพียงแต่บ่ายเบี่ยงว่าไม่ได้เข้าไปในบ้านพักโดยรออยู่ในรถด้านนอกก่อนจะเดินทางกลับ ศาลฎีกาได้ตรวจดูบันทึกคำให้การของพยานในชั้นสอบสวนของศาลจังหวัดเชียงใหม่และศาลจังหวัดตากแล้วเห็นว่า การสอบสวนพยานทั้ง 4 ปากซึ่งเป็นกลุ่มผู้ต้องหา เป็นไปด้วยความรอบคอบรัดกุม ไม่ชักนำหว่านล้อมเพื่อให้พยานให้การผิดเพี้ยนจากข้อเท็จจริง ซึ่งในการสอบสวนดังกล่าวมีทั้งข้าราชการฝ่ายกระทรวงมหาดไทยและเจ้าหน้าที่ตำรวจชั้นผู้ใหญ่ นำโดย พล.ต.ท.ธนู หอมหวล พร้อมคณะ ร่วมทำการสอบสวนด้วย และมีการสอบสวนถึง 5 ครั้ง มีการทำบันทึกถ้อยคำอย่างละเอียดถี่ถ้วน พยานต่างเบิกความสอดคล้องตรงกันไปตามที่รู้เห็น มิได้บิดเบือนข้อเท็จจริง หากพยานทั้ง 4 ปากไม่ได้สมัครใจในการเข้าให้ถ้อยคำก็เป็นการยากที่พนักงานสอบสวนจะปรุงแต่งเรื่องขึ้นมาเอง เนื่องจากข้อเท็จจริงในคดีดังกล่าวมีความสลับซับซ้อนและมีบุคคลที่เกี่ยวข้องเป็นจำนวนมาก
ถึงแม้พยานโจทก์จะไม่ได้ยืนยันว่าจำเลยที่ 2 เอาเงินจำนวน 6.6 แสนไปหรือไม่ แต่ก็รับฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 เดินทางไปบ้านของผู้ต้องหาจริง โดยศาลฎีกามีอำนาจรับฟังจากพยาน 4 ปากในชั้นสอบสวนและสืบเสาะข้อเท็จจริงได้ โดยมิต้องถือถ้อยคำตามพยานโจทก์ ซึ่งพยานทั้ง 4 ปากต่างยืนยันตรงว่าจำเลยที่ 2 ได้รับเงินจากนายนิคม ซึ่งไปฝากไว้กับพันจ่าอากาศเอกคนหนึ่ง จำนวน 6.6 แสนบาทจริง โดยไม่ส่งมอบให้กับพนักงานสอบสวน แต่กลับเบียดบังทรัพย์สินไปเป็นของตนโดยทุจริต จึงมีความผิดตาม ป.อาญา ม.147 ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น พิพากษายืนให้จำคุก 10 ปี
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คดีนี้ในศาลชั้นต้นใช้เวลาสืบโจทก์-จำเลยนานกว่า 13 ปี เนื่องจากเอกสารในคดีมีจำนวนมาก และต้องส่งประเด็นไปสืบตามศาลจังหวัดต่างๆ รวมทั้งการติดตามพยานในศาลอุทธรณ์อีก 6 ปี รวมเป็นเวลากว่า 19 ปี โดยคดีนี้เป็นคดีแรกที่ยื่นฟ้อง พล.ต.ท.ชลอ กับพวก ในสำนวนคดีเพชรซาอุฯ กระทั่งต่อมามีการยื่นฟ้อง พล.ต.ท.ชลอ กับพวก ในคดีอุ้มฆ่านางดาราวดี และ ด.ช.เสรี ภรรยาและบุตรชายของนายสันติ ศรีธนะขัณฑ์ เสี่ยเจ้าของร้านเพชร “สันติมณี” ที่รับซื้อเพชรมาจากนายเกรียงไกร เตชะโม่ง ที่เป็นผู้ขโมยเพชรมาจากวังเจ้าชายไฟซาล ซึ่งคดีอุ้มฆ่า 2แม่ลูกศรีธนะขัณฑ์โดยนำศพทั้งสองไปไว้บนรถแล้วให้รถสิบล้อวิ่งทับอำพรางเป็นอุบัติเหตุนั้น คดีถึงที่สุดแล้วโดยศาลฎีกาพิพากษาให้ประหารชีวิต พล.ต.ท.ชลอ ส่วนนายสันติ ศรีธนะขัณฑ์ ศาลฎีกาพิพากษาให้จำคุกในความผิดฐานรับของโจร เป็นเวลา 3 ปี คดีสิ้นสุดแล้วเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม พล.ต.ท.ชลอได้ถูกปล่อยตัวออกจากเรือนจำเมื่อวันที่ 25 ต.ค. 2556 หลังถูกจำคุกมาแล้วนานกว่า 19 ปี ก่อนหน้านี้ทางเรือนจำกลางบางขวางได้เสนอขอพักการลงโทษให้กับ พล.ต.ท.ชลอ เนื่องจากเป็นผู้ต้องขังที่มีคุณสมบัติเข้าเงื่อนไขพักการลงโทษ หลังจากการรับโทษจำคุกมาแล้วเกิน 2 ใน 3 และยังเป็นผู้ต้องขังที่จัดอยู่ในกลุ่มนักโทษชรามีอายุเกิน 70 ปี รวมทั้งมีอาการป่วยเรื้อรัง แต่จะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขของเรือนจำ โดยไปรายงานตัวเจ้าพนักงานคุมประพฤติทุกเดือน ขณะเดียวกัน พล.ต.ท.ชลอยังถูกถอดยศตำรวจและเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ตามประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 5 พ.ย. 2553 เนื่องจากต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษประหารชีวิตในคดีอุ้มฆ่าสองแม่ลูกตระกูลศรีธนะขัณฑ์ โดยปัจจุบัน พล.ต.ท.ชลอ อายุ 72 ปี และได้เปลี่ยนชื่อเป็น “ธัชพล เกิดเทศ” แล้ว