เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม ที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) นพ.ศิริวัฒน์ ทิพย์ธราดล ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวภายหลังเปิดงาน “คืนความสุขคนไทย ส้มปลอดภัย คนไทยยิ้มได้” ว่า ภาพรวมผลการตรวจวิเคราะห์สารเคมีตกค้างในส้ม ทั้งส่วนที่ด่านนำเข้าสินค้า และตามปลายทางคือท้องตลาด พบว่า มีสารเคมีตกค้างเกินปริมาณที่กฎหมายกำหนดประมาณ ร้อยละ 3-5 ที่น่าห่วงคือบางครั้งไม่สามารถตรวจเช็คย้อนกลับไปได้ว่าส้มดังกล่าวมีที่มาจากแหล่งใด จึงร่วมกับกรมวิชาการเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ห้างค้าปลีก จัดทำระบบมาตรฐานคุณภาพและความปลอดภัย เพื่อตรวจสอบย้อนกลับไปยังต้นทางได้ โดยให้เกษตรกรผู้ปลูกส้มเข้าสู่ระบบการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (GAP) ส่วนห้างค้าส่ง ค้าปลีก รวมไปจนถึงร้านค้าก็คัดเลือกส้มที่ผ่านมาตรฐาน GAP มาจำหน่าย โดยขณะนี้มีห้างค้าปลีกนำร่อง 5 แห่งคือ เทสโก้โลตัส แม็คโคร ท็อปส์/เซ็นทรัลฟู้ดฮอลล์ บิ๊กซี และเดอะมอลล์
ทางด้านนายวัชรินทร์ อุปนิสาคร ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาระบบและรับรองมาตรฐานสินค้าพืช กรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า ขณะนี้พื้นที่ในการปลูกส้มน้อยลงเรื่อยๆ จากปี 2547 ที่มีพื้นที่ประมาณ 466,000 ไร่ ปัจจุบันเหลือเพียง 102,000 ไร่ ผลผลิตประมาณ 180,000 ตัน จำนวนนี้เข้าสู่ระบบมาตรฐาน GAP เพียง 700 กว่าฟาร์ม เฉลี่ยประมาณฟาร์มละ 50 ไร่ ซึ่งรวมแล้วยังไม่ถึงร้อยละ50 ของพื้นที่ปลูกส้มทั้งหมด
สาเหตุที่เกษตรกรส่วนมากไม่เข้าสู่ระบบนั้น เพราะมองว่าต้องผลิตส้มให้ได้มาตรฐานตามที่กำหนด ปริมาณสารเคมีตกค้างต้องไม่เกิน ซึ่งกังวลว่าจะทำไม่ได้ อย่างไรก็ตาม กระทรวงเกษตรฯจะเร่งดำเนินการให้เกษตรกรผู้ปลูกส้มเข้าสู่ระบบ ทั้งนี้ ส้มที่ผ่านมาตรฐานส่วนใหญ่จะเป็นส้มส่งออก ขณะที่ส้มส่วนที่เหลือที่ไม่ผ่านมาตรฐานนั้นมักจะจำหน่ายในประเทศ