ย้อนรอย 2014 หายนะการบินแห่งทศวรรษ ตายรวมกว่าพันศพ ไม่รวมแอร์เอเชีย

สื่ออังกฤษระบุในรอบ 12 เดือนที่ผ่านมา ถือเป็นปีแห่งหายนะด้านการบินครั้งเลวร้ายที่สุดของทศวรรษนี้ ด้วยยอดรวมผู้คนที่เสียชีวิตในเหตุเครื่องบินตกสูงถึง 1,050 ศพ แม้ยังไม่รับรวมเครื่องบินโดยสารของสายการบินแอร์เอเชียที่สูญหายตั้งแต่ช่วงสุดสัปดาห์

เดลีเมล์ระบุว่า ในเหตุการณ์ต่างๆ เหล่านั้น รวมถึงเครื่องบินของสายการบินมาเลเซีย แอร์ไลน์ส 2 ลำ ลำหนึ่งโหม่งโลกทางภาคตะวันออกของยูเครน ส่วนอีกลำเชื่อว่าน่าจะตกในมหาสมุทรอินเดีย คร่าชีวิตผู้โดยสารและลูกเรือรวมกัน 537 ศพ ขณะที่เครื่องบินของสายการบินแอร์แอลจีเรียก็ประสบอุบัติเหตุในมาลี มีผู้เสียชีวิต 116 รายและเครื่องบินทรานส์เอเชีย ประสบอุบัติเหตุระหว่างลงจอดในไต้หวัน คร่าผู้โดยสารและลูกเรือ 49 ชีวิต

สำหรับผู้เสียชีวิตอีก 456 คนที่หลือ ส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ต่างๆ ซึ่งเกี่ยวข้องกับเครื่องบินพาณิชย์ขนาดเล็กหรือไม่ก็เครื่องบินส่วนบุคคลที่ปฏิบัติการในนามบริษัท รัฐบาลหรือองค์การต่างๆ

แม้ว่ายอดเหยื่อในปี 2014 ถือเป็นตัวเลขผู้เสียชีวิตสูงสุดของทศวรรษนี้ ทว่า ในส่วนของจำนวนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแล้วกลับถือว่าต่ำที่สุดนับตั้งแต่เครื่องบินเชิงพาณิชย์ลำแรกออกปฏิบัติการบนท้องฟ้าในปี 1949 เลยทีเดียว ด้วยรอบ 12 เดือนที่ผ่านมา มีเครื่องบินโหม่งโลกทั่วโลก 111 ครั้ง

“บางทีมันอาจสร้างความประหลาดใจแก่คนส่วนใหญ่ แค่ความจริงแล้วมันเป็นปีที่มีความปลอดภัยอย่างมาก” พอล ฮายส์ จากแอสเซนด์ บริษัทที่ปรึกษาด้านการบินบอกกับวอลล์สตรีทเจอร์นัล

ส่วนปีที่เลวร้ายที่สุดด้านการบินได้แก่ปี 1972 ซึ่งมีผู้คนเสียชีวิตจากเหตุการณ์ทางอากาศมากถึง 2,429 ศพ ในนั้นรวมถึงเครื่องบินของสายการบินแอร์โรฟลอต เที่ยวบิน 217 ตกในรัสเซีย คร่าผู้โดยสารและลูกเรือ 174 ศพ และอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นกับเครื่องบินสายการบินคอนแวร์ 990 โคโรนาโด มีผู้เสียชีวิต 155 คน

อย่างไรก็ตาม ยอดรวมผู้เสียชีวิตในปีนี้อาจเพิ่มเป็น 1,212 คน หากสมมติว่าเหล่าผู้โดยสารและลูกเรือของสายการบินแอร์เอเชียที่สูญหายไปเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา เสียชีวิตแล้วยกลำ ถือเป็นตัวเลขที่เพิ่มขึ้นอย่างมหาศาลจากจำนวนผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ทางเครื่องบินในปี 2013 ที่มีเพียง 265 ศพ ซึ่งเป็นปีที่มีความปลอดภัยด้านการบินที่สุดนับตั้งแต่สิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2

2014 ยังเป็นปีแห่งหายนะของสายการบินต่างๆที่มีฐานประจำการอยู่ในมาเลเซีย โดยมีผู้เสียชีวิตบนเที่ยวบินของสายการบินมาเลเซีย แอร์ไลน์ส 2 ลำรวมกัน 537 คน และอีกราว 162 คนบนเที่ยวบินแอร์เอเชีย ยังสูญหายและหวั่นกลัวกันว่าน่าจะเสียชีวิตแล้ว ซึ่งทั้งหมดถือเป็นจำนวนเกินกว่าครึ่งของเหยื่อผู้เสียชีวิตของเหตุการณ์ต่างๆด้านการบินในปีนี้

ในเดือนมกราคม มีผู้เสียชีวิตรวม 12 คนจากเหตุการณ์ต่างๆ 5 เหตุการณ์ ซึ่งเป็นจำนวนเดียวกับที่เกิดขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ แต่เดือนกุมภาพันธ์ มีผู้เสียชีวิตรวมถึง 107 ศพ

เดือนมีนาคม มีเหตุการณ์ด้านการบินแค่ 3 เหตุการณ์ ทว่าหนึ่งในนั้นคือกรณีเที่ยวบิน MH370 ของสายการบินมาเลเซีย แอร์ไลน์ส หายไปอย่างลึกลับ สันนิษฐานว่าน่าจะมีผู้เสียชีวิต 239 ศพ ทำให้ยอดผู้เสียชีวิตรวมของเดือนนี้ พุ่งถึง 248 ศพ

ต่อมาในเดือนเมษายน มีเหตุการณ์ด้านการบิน 2 ครั้ง ยอดผู้เสียชีวิตรวม 10 ศพ ก่อนที่ตัวเลขจะดีดตัวขึ้นอีกครั้งในเดือนพฤษภาคม โดยเกิดอุบัติเหตุ 5 ครั้ง มีผู้เสียชีวิตรวม 35 ศพ ส่วนเดือนมิถุนายน มีเครื่องบินโหม่งโลก 7 ครั้ง ตาย 64 ศพ

กรกฎาคมถือเป็นเดือนที่มีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ด้านการบินมากที่สุดในรอบปีนี้ หลังจากเครื่องบินของสายการบินมาเลเซีย แอร์ไลน์ส ถูกยิงตกทางภาคตะวันออกของยูเครน ตายยกลำ 198 ศพ จากนั้นก็มีผู้เสียชีวิตอีก 116 คน จากอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นกับสายการบินแอร์แอลจีเรียในมาลี และอีก 48 ศพ จากเหตุเครื่องบินทรานส์เอเชีย ประสบอุบัติเหตุขณะลงจอดในไต้หวัน นอกจากนี้ยังมีอุบัติเหตุอื่นๆ อีก 2 เหตุการณ์ คร่าชีวิต 6 ศพ ส่งผลให้ยอดเหยื่อของเดือนนี้ สูงถึง 468 คน

ในเดือนสิงหาคม มีเหตุการณ์ด้านการบินเกิดขึ้น 5 ครั้ง ยอดผู้เสียชีวิตรวม 60 ศพ ก่อนตัวเลขจะลดลงมาในเดือนกันยายน ที่มีเครื่องบินตกแค่ 3 หน เสียชีวิต 12 ราย เช่นเดียวกับเดือนตลาคม ที่มีอุบัติเหตุแค่ 3 ครั้ง ยอดผู้เสียชีวิต 10 คน ส่วนในเดือนพฤศจิกายน มีเหตุการณ์ด้านการบินเพิ่มเข้ามา 2 ครั้ง คร่าชีวิตลูกเรือและผู้โดยสารอีก 11 ศพ

ก่อนหน้าการสูญหายไปของเครื่องบินของสายการบินแอร์เอเชีย ได้เกิดเครื่องบินตกแล้ว 3 ลำในเดือนธันวาคม คร่าชีวิตผู้คนรวม 13 ศพ ขณะที่เที่ยวบิน QZ8501 ของแอร์เอเชีย ซึ่งบรรทุกผู้โดยสาร 155 คนและลูกเรือ 7 คน ยังคงหายไปอย่างไร้ร่องรอยและสันนิษฐานว่าน่าจะเสียชีวิตหมดแล้ว

อย่างไรก็ตาม ความจริงคือช่วง 65 ปีที่ผ่านมา อุบัติเหตุด้านการบินลดลงอย่างรวดเร็ว สวนทางกับจำนวนผู้คนที่ขึ้นสู่ท้องฟ้าในแต่ละปี โดยจากสถิติในปัจจุบันพบว่าอัตราการเกิดอุบัติเหตุของเครื่องบินอยู่ที่ 2.1 ลำต่อเครื่องบินทุกๆล้านลำที่ทะยานขึ้นสู่เวหา ขณะที่อัตราการเกิดอุบัติเหตุจะต่ำลงไปกว่านี้อีกหากแยกเฉพาะเครื่องบินพาณิยช์ขนาดใหญ่

ความคิดเห็น

comments

ใส่ความเห็น