จับตาโซนร้อน “จังมี” เข้าชายแดนไทย-มาเลย์ต้นปีหน้า

ไต้ฝุ่นกับพายุโซนร้อนในฤดูหนาวเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้และกำลังเกิดขึ้นอีกครั้งหนึ่งในปีนี้ พายุโซนร้อนจังมี (Jangmi) กำลังทำสถิติใหม่ หลังจากที่เคยมีพายุ 2 ลูกคือไต้ฝุ่นอู่คง (Wukong) กับไต้ฝุ่นบุปผา พัดเข้าสู่ทะเลใหญ่ ทางทิศตะวันออกของภูมิภาค ในสัปดาห์กลางเดือน ธ.ค. กับช่วงเทศกาลคริสต์มาส ปี 2555

หลายประเทศในย่านนี้กำลังจับตาพัฒนาการของพายุโซนร้อนลูกล่าสุด ซึ่งวันที่ 29 ธ.ค. ได้พัดข้ามหมู่เกาะฟิลิปปินส์ ก่อนอ่อนกำลังลงเป็นดีเปรสชั่นในวันถัดมา และ กลับทวีความเร็วลมใกล้ศูนย์กลางขึ้นเป็นระดับพายุโซนร้อนอีกครั้งหนึ่งในวันสิ้นปี คือ วันพุธ 31 ธ.ค.นี้ ท่ามกลางความแปลกประหลาดใจของนักพยากรณ์อากาศจำนวนไม่น้อย

ความแปลกก็คือ พายุโซนร้อนจังมีเกิดขึ้นในท่ามกลาง สภาพแวดล้อมใหม่ในฤดูกาลที่มวลอากาศหนาวเย็นแผ่นลงมาปกคลุมทั่วทั้งภูมิภาค และ ถูกกดหัวพายุลงสู่เส้นรุ้งต่ำ แต่ถึงกระนั้นหลายสำนักก็ยังเฝ้าติดตามอย่างใกล้ชิด เพราะยังมีความเป็นไปได้ที่พายุจังมี จะฝ่าลมหนาวเลียบทะเลตอนใต้ เหนือเกาะบอร์เนียว เข้าสู่ตอนล่างสุดของทะเลอ่าวไทยในอีกวันสองวันข้างหน้านี้ ก่อนจะอ่อนกำลังลงเป็นดีเปรสชั่นในทะเล ที่สามารถส่งอิทธิพลถึงบนบก

ถ้าหากรูปการณ์เป็นเช่นนี้ ก็หมายความว่าพายุลูกล่าสุดอาจจะส่งผลกระทบซ้ำเติมอุทกภัยรุนแรง ในภาคใต้ของไทยกับทางตอนเหนือของมาเลเซีย ที่ดำเนินอยู่ในขณะนี้

ตามรายงานขององค์การนาซ่า พายุโซนร้อนจังมี หรือ “ซีนิอาง” (Seniang) ที่ชาวฟิลิปปินส์ใช้เป็นชื่อเรียกในภาษาตากาล็อก ได้อ่อนตัวลงขณะพัดเข้าสู่ทะเลซูลู (Sulu Sea) ทางตะวันตกเฉียงใต้ของหมู่เกาะในตอนเที่ยงวันอังคารที่ผ่านมา และ ปั่นตัวงเองขึ้นสู่ระดับพายุโซนร้อนอีกครั้งหนึ่งในเช้าวันพุธนี้ และ มีศักยภาพที่จะเคลื่อนตัวต่อไปตามทิศตะวันตก-ตะวันตกเฉียงใต้

อย่างไรก็ตามมวลอากาศเย็นจากตอนเหนือ กำลังจะแผ่ลงมาสมทบทำให้อุณหภูมิทั่วทั้งภูมิภาคลดลงอีกในช่วงต้นปีใหม่ ซึ่งจะเป็นแรงกดดันสำคัญให้พายุจังมีให้อ่อนแรงเร็วขึ้นอีก หรือ ไม่ก็อาจจะได้รับแรงหนุนเนื่องจากมวลอากาศร้อนในแถบเส้นศูนย์สูตร ทำให้มันมีอายุยืนยาวไปจนถึงเป้าหมาย นั่นก็คือไปฉลองเทศกาลปีใหม่ในบริเวณรอยต่อชายแดนไทย-มาเลเซีย ช่วงสุดสัปดาห์นี้

จับตาอย่างใกล้ชิด.. ทุกอย่างยังเป็นไปได้ เช่น เมื่อวันที่ 7 ธ.ค.2555 ซูเปอร์ไต้ฝุ่นบุปผาที่คร่าชีวิตชาวฟิลิปปินส์กว่า 400 คน ได้พุ่งทะยานเข้าทะเลจีนใต้ตอนบน ขณะเป็นไต้ฝุ่นระดับ 2 และ ใช้เวลา 3 วันหันรีหันขวางอยู่ในอาณาบริเวณนั้น และ ไม่สามารถไปต่อได้ กลายเป็น “ไต้ฝุ่นเต้นร็อก” เนื่องจากถูกกดดันด้วยมวลอากาศเย็นปริมาณมหึมามหาศาล ที่เคลื่อนลงมาจากตอนบนของภาคพื้นทวีป

ต่อมาวันที่ 25 ธ.ค. ปีเดียวกัน ไต้ฝุ่นอู่คงทะลวงเข้าทะเลจีนใต้อีกลูก ก่อนอ่อนตัวลงเป็นพายุโซนร้อน และ สิ้นฤทธิ์ลงในบริเวณชายฝั่งทะเลภาคใต้เวียดนามสั่งลาปีเก่า ทำให้หลายจังหวัดแถบนั้นฉลองเทศกาลแห่งความสุข ท่ามกลางสายฝน

ความคิดเห็น

comments

ใส่ความเห็น