เว็บไซต์ของคณะกรรมการประสานงานระหว่างประเทศว่าด้วยสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ หรือไอซีซี เปิดเผยรายงานการพิจารณารับรองคุณภาพ ลงวันที่ 30 ธ.ค. ของสมาชิกสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติประจำปี 2557 ซึ่งมีทั้งหมด 109 ประเทศ แบ่งเป็นเกรด เอ บี และซี ผลปรากฏว่า สถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติของประเทศไทย ถูกไอซีซีลงมติ “แนะนำ” ให้ลดระดับจาก เกรดเอ ลงมาที่ เกรดบี โดยให้เวลา 1 ปี เพื่อปรับปรุงการปฏิบัติงานให้สอดคล้องกับ “หลักการปารีส” ซึ่งถือเป็นเกณฑ์ที่ทางไอซีซีใช้รับรองคุณภาพของสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติของแต่ละประเทศ โดย เกรดเอ หมายถึง สถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติของประเทศนั้นๆ “ปฏิบัติ” ตามหลักการปารีส เกรดบี หมายถึง ปฏิบัติตามบางส่วน และเกรดซี หมายถึง ไม่ปฏิบัติตามตามหลักการดังกล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า รายงานข้างต้นสรุปแบ่งคุณภาพของสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติของแต่ละประเทศ ได้แก่ เกรดเอ 73 ประเทศ เกรดบี 26 ประเทศ และเกรดซี 10 ประเทศ โดยในส่วนของประเทศไทย มีหน่วยงานชื่อว่า “สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ” ที่ล่าสุด ยังมีสถานะอยู่ที่เกรดเอ ถูกประเมินเมื่อเดือนต.ค.ที่ผ่านมา ให้ลดระดับจาก เกรดเอ ลงมาเป็น เกรดบี โดยให้เวลา 1 ปี เพื่อปฏิบัติตามหลักการปารีส
โดยประเทศที่มีสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติถูกจัดอยู่ในกลุ่ม เกรดบี ได้แก่ ฮอนดูรัส บังกลาเทศ ศรีลังกา มัลดีฟส์ โอมาน คาซัคสถาน คีร์กิซสถาน ทาจิกิซสถาน อัลจีเรีย ชาด คองโก ลิเบีย มาลี เซเนกัล ตูนีเซีย เอธิโอเปีย ออสเตรีย เบลเยียม บัลเกเรีย มาเซโดเนีย โมลโดวา นอร์เวย์ สโลวาเกีย สโลเวเนีย และสวีเดน
คณะกรรมการประสานงานระหว่างประเทศว่าด้วยสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ หรือไอซีซี เป็นสมาคมระดับสากลของสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ หรือเอ็นเอชอาร์ไอ จากทั่วโลก ถูกก่อตั้งขึ้นในปี 2536 ไอซีซี ทำหน้าที่ส่งเสริมให้ เอ็นเอชอาร์ไอ ของแต่ละประเทศให้ปฏิบัติตาม “หลักการปารีส” และเป็นผู้นำในประเด็นด้านการส่งเสริมและปกป้องสิทธิมนุษยชน อาทิ เป็นผู้จัดตั้งและสนับสนุนการทำงานร่วมกับคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ หรือยูเอ็นเอชอาร์ซี การส่งเสริมความร่วมมือและการแบ่งปันข้อมูลระหว่างเอ็นเอชอาร์ไอของแต่ละชาติ การพิจารณารับรองคุณภาพของสมาชิกเอ็นเอชอาร์ไอในแต่ละชาติโดยใช้หลักการปารีสเป็นเกณฑ์วัด ช่วยเหลือเอ็นเอชอาร์ไอที่กำลังถูกคุกคาม และจัดตั้งหน่วยงานเอ็นเอชอาร์ไอในประเทศนั้นๆหากได้รับการร้องขอจากรัฐบาล
ทั้งนี้ “หลักการปารีส” คือ แนวทางหรือมาตรฐานเกี่ยวกับการจัดตั้งและการดำเนินการขององค์กรสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ที่เกิดจากการจัดสัมมนาระหว่างประเทศ ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ปี 2534 และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติได้ให้การรับรองในเวลาต่อมา โดยกล่าวถึงแนวทางในการจัดตั้งองค์กรสิทธิมนุษยชนแห่งชาติว่า องค์กรสิทธิมนุษยชนแห่งชาติจะต้องเป็นองค์กรที่มีความอิสระในด้านการปฏิบัติงานและด้านงบประมาณ และองค์ประกอบขององค์กรสิทธิมนุษยชนแห่งชาติจะต้องมีความหลากหลาย รวมทั้งอำนาจหน้าที่ขององค์กรอย่างน้อยต้องมีหน้าที่ในการให้ข้อเสนอแนะ ตลอดจนรายงานสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชน การสนับสนุนการศึกษาวิจัยด้านสิทธิมนุษยชน ฯลฯ เป็นต้น