นายบัมบัง โซลิต์โย ผู้อำนวยการสำนักงานค้นหาและช่วยเหลือผู้ประสบภัยแห่งชาติของอินโนเซีย (บาซาร์นาส) เผยเมื่อวันเสาร์ว่า เครื่องตรวจหาวัตถุุใต้ทะเลด้วยคลื่นโซนาร์ สามารถตรวจจับวัตถุขนาดใหญ่เพิ่มอีก 2 ชิ้น ที่ก้นทะเลในพื้นที่ค้นหา เมื่อวันศุกร์และวันเสาร์ โดยชิ้นที่ใหญ่ที่สุดมีความยาว 18 เมตร และกว้าง 5.4 เมตร ซึ่งคาดว่าเป็นชิ้นส่วนบริเวณลำตัวเครื่องบิน ส่วนอีกชิ้นมีความยาวราว 12 เมตร โดยก่อนหน้านี้มีการตรวจพบวัตถุ 2 ชิ้นที่คาดว่าน่าจะเป็นชิ้นส่วนสำคัญ ขณะที่ชิ้นส่วนอื่นๆ ที่มีขนาดเล็กถูกคลื่นซัดมาเกยที่ชายหาดซึ่งถูกตรวจพบระหว่างการค้นหาทางอากาศ
กระแสน้ำรุนแรงและคลื่นสูง เป็นอุปสรรคอย่างยิ่งต่อการส่งนักประดาน้ำเข้าสำรวจยังพื้นที่ที่พบชิ้นส่วนดังกล่าว ขณะที่ทัศนวิสัยใต้น้ำที่มองเห็นได้ไกลเพียง 2 เมตร ยังทำให้ยานสำรวจใต้ทะเล (อาร์โอวี) ไม่สามารถบันทึกภาพได้ อย่างไรก็ตาม คาดว่าทีมนักประดาน้ำที่มีผู้เชี่ยวชาญจากรัสเซียร่วมสมทบด้วย จะเข้าตรวจสอบชิ้นส่วนนั้นได้ในวันอาทิตย์หากสภาพอากาศดีขึ้น
สาเหตุของโศกนาฏกรรมครั้งนี้ยังไม่สามารถระบุรายละเอียดได้ โดยรายงาน 14 หน้าจากสำนักงานอุตุนิยมวิทยา บรรยากาศศาสตร์ และธรณีฟิสิกส์ ของอินโดนีเซีย ระบุว่า จากตำแหน่งและช่วงเวลาที่เครื่องบินติดต่อได้เป็นครั้งสุดท้าย ลักษณะอากาศในขณะนั้นเป็นอุปสรรคอย่างยิ่งต่อการบิน แม้จะยังไม่ทราบตำแหน่งของกล่องบันทึกเสียงในห้องนักบินและเครื่องบันทึกข้อมูลการบิน หรือกล่องดำ แต่ลักษณะศพและชิ้นส่วนเครื่องบินที่พบในสภาพเป็นชิ้นใหญ่ ก็นับว่าเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อแนวทางการสืบสวน โดยอาจต้องใช้ผลการชันสูตรร่างผู้เสียชีวิตบางรายเช่นนักบินและผู้ช่วยนักบินประกอบด้วย
ด้านครอบครัวของเหยื่อยังคงอยุ่ในสภาพเศร้าโศก ท่ามกลางการรายงานความคืบหน้าของการค้นหาและคาดเดาทฤษฎีไปต่างๆ นานา ซึ่งบางส่วนพิสูจน์ได้ว่าไม่เป็นความจริง ซึ่งหลายฝ่ายต่างก็หวังว่า ศพที่เหลือจะยังติดค้างอยู่ภายในตัวเครื่อง และจะได้ถูกนำขึ้นมาได้ทั้งหมดในที่สุด โดยนายสุปรียาดี เจ้าหน้าที่ประสานงานประจำศูนย์ช่วยเหลือในเมืองปังกาลาน บัน กล่าวว่า ขณะนี้สามารถกู้ศพขึ้นมาได้แล้ว 30 ศพ ส่วนที่เหลืออาจจะจมอยู่กับเครื่องบิน แต่ก็มีความเป็นไปได้ว่าอาจถูกกระแสน้ำพัดไปเกยตื้นที่ชายหาดบางแห่งเช่นเดียวกับชิ้นส่วนเครื่องบิน ขณะที่สายการบินแอร์เชียอินโดนีเซีย ยืนยันจะให้ความร่วมมือกับทางการในการสืบสวนอย่างเต็มที่ และจะยังไม่ให้ความเห็นใดเกี่ยวคดีจนกว่าการสืบสวนจะลุล่วง
เครื่องบินแอร์บัส 320-200 เที่ยวบิน QZ8501 ของสายการบินแอร์เอเชีย พร้อมด้วยผู้โดยสาร 155 คน และลูกเรือ 7 คน ออกเดินทางจากท่าอากาศยานนานาชาติจูอันดาในเมืองสุราบายาของอินโดนีเซีย มุ่งหน้าสู่สนามบินสิงคโปร์ชางงี เมื่อช่วงรุ่งเช้าวันอาทิตย์ที่ 28 ธ.ค. โดยเครื่องได้ขาดการติดต่อกับหอควบคุมการบินในกรุงจาการ์ตา บริเวณทะเลชวาระหว่างเกาะบันลิตุงและเกาะบอร์เนียว หลังแจ้งขอเพิ่มเพดานบินเลี่ยงพายุ เพียง 40 นาทีหลังขึ้นบิน