เมื่อเวลา 14.30 น. วันนี้ (6 ม.ค.) ที่ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก พนักงานสอบสวน สภ.หนองปรือ จ.ชลบุรี พร้อมด้วยหน่วยปฏิบัติการพิเศษภูธรจังหวัดชลบุรี ได้ควบคุมตัว นายเกอร์มีท ซิงห์ (MR.Gurmeet Singh) หรือ แจ็คตาร์ ซิงห์ อายุ 37 ปี ชาวปากีสถาน ผู้ต้องหาตามหมายจับประเทศอินเดีย มาขออำนาจศาลคุมขังเพื่อเตรียมขอส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนกลับไปดำเนินคดีที่ประเทศอินเดีย
โดยพนักงานอัยการสำนักงานต่างประเทศ ได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลตรวจสอบความยินยอมเพื่อกลับไปดำเนินคดีที่ประเทศอินเดีย โดยคำร้องระบุว่า เมื่อวันที่ 3 ต.ค. 2557 ผู้ร้องได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลอาญาออกหมายจับผู้ต้องหาตาม พ.ร.บ.ส่งผู้ร้ายข้ามแดน เพื่อนำตัว นายเกอร์มีท ซิงห์ ส่งเป็นผู้ร้ายข้ามแดนที่ประเทศอินเดียในคดีก่อการร้ายรวม 6 คดี ประกอบด้วย 1. เมื่อวันที่ 26 มี.ค. 2534 คดีที่ร่วมกับผู้ต้องหารวม 4 คน วางแผนซุ่มโจมตีเจ้าหน้าที่ตำรวจขณะอยู่ในงานเลี้ยงที่หมู่บ้านปาเทอรี จัตตัน อำเภอรูปนาการ์ โดยเป็นผิดฐานพยายามฆ่า ก่อเหตุจลาจลโดยใช้อาวุธร้ายแรง 2. เมื่อวันที่ 31 ส.ค. 2538 คดีที่ร่วมกันวางแผนลอบสังหาร นายบีนต์ ซิงห์ หัวหน้าคณะรัฐมนตรี ของแคว้นปัจจะ ด้วยระเบิดพลีชีพทำลายล้างสูง ทำให้รัฐมนตรีและผู้อื่นเสียชีวิตรวม 18 คน และได้รับบาดเจ็บอีก 20 คน ซึ่งคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาล ต่อมาผู้ต้องหาได้หลบหนีออกจากเรือนจำบุเรล โดยร่วมกับพวกขุดอุโมงค์หลบหนีออกจากเรือนจำดังกล่าวไปได้เมื่อ 2547 ก่อนจะถูกจับกุมได้และหลบหนีไปในปากีสถาน โดยในคดีนี้ผู้ต้องหาอื่นได้รับการตัดสินลงโทษประหารชีวิตและบางรายถูกจำคุกตลอดชีวิต 3. คดีที่หลบหนีออกจากเรือนจำบุเรล ต่อมาศาลประเทศอินเดียได้ออกหมายจับ 26 ก.ย. 2557 4. เมื่อวันที่ 28 ก.ค. 2552 คดีที่ร่วมกับพวกฆ่านายรุลดา ซิงห์ ประธาน Rashtriya Sikh Sangat จนได้รับบาดเจ็บและถึงแก่ความตายที่โรงพยาบาล และได้ระดมทุนเพื่อใช้ก่อการร้ายเป็นเหตุให้ผู้อื่นเสียชีวิต ต่อมาศาลแอลดี เอสเอช จักมีต ซิงห์ พีซีเอส ได้ออกหมายจับเมื่อวันที่ 23 ก.ย. 2556 5. เมื่อวันที่ 28 ก.ย. 2552 คดีที่ร่วมกับพวกซึ่งเป็นผู้ก่อการร้าย โดย นายมันจิต ซิงห์ ผู้ต้องหาชาวปากีสถานให้การว่า นายเกอร์มีท ซิงห์ เป็นผู้อยู่เบื้องหลังในการฝึกยุทธวิธีก่อการร้ายวางแผนก่อการร้ายสังหารบุคคลระดับสูงและผู้นำศาสนาสำคัญของอินเดีย ซึ่งได้รับเงินสนับสนุนจากผู้ร่วมขบวนการที่อยู่ในประเทศมาเลเซีย 6. เมื่อวันที่ 21 ก.ย. 2555 คดีที่ผู้ต้องหาเป็นหนึ่งในตัวการสำคัญที่ร่วมกันกระทำผิดฐานก่อการร้าย โดยมุ่งประสงค์ต่อบุคคลสูงสุดด้วยการใช้วัตถุระเบิดและอาวุธซับซ้อน ซึ่งศาลได้ออกหมายจับแล้ว
ทั้งนี้ ความผิดทั้ง 6 คดี มีอัตราโทษจำคุกไม่น้อยกว่าหนึ่งปี และรัฐบาลอินเดียให้การรับรองว่าคดียังไม่หมดอายุความ และเจ้าพนักงานได้สอบถามความยินยอมของผู้ต้องหาตาม พ.ร.บ.ส่งผู้ร้ายข้ามแดน ม.27 แล้ว ผู้ต้องหาแสดงความยินยอมให้ส่งตัวเป็นผู้ร้ายข้ามแดนเพื่อไปดำเนินคดีที่ประเทศอินเดียเป็นลายลักษณ์อักษรด้วยความสมัครใจ จึงขอให้ศาลตรวจสอบความยินยอมดังกล่าวและขอให้ศาลมีคำสั่งให้ขังผู้ต้องหาไว้เพื่อส่งตัวข้ามแดน กลับไปดำเนินคดีที่ประเทศอินเดียตามคำร้องของประเทศอินเดีย นอกจากนี้ ท้ายคำร้องได้คัดค้านการประกันตัวเพราะเชื่อว่าผู้ต้องหาจะหลบหนี และจะกระทบกระเทือนต่อความสำคัญระหว่างประเทศอย่างร้ายแรง
ต่อมาภายหลังเวลา 17.00 น. ศาลได้สอบถาม นายเกอร์มีท ซิงห์ ผ่านล่ามภาษาอังกฤษ โดยอ่านและอธิบายคำร้องให้ฟัง ซึ่ง นายเกอร์มีท ซิงห์ ไม่คัดค้าน และขอให้ความยินยอมส่งตัวเป็นผู้ร้ายข้ามแดนและไม่ติดใจจะยื่นอุทธรณ์
ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า นายเกอร์มีท ซิงห์ เป็นบุคคลตามคำร้องขอเป็นผู้ร้ายข้ามแดนและต้องการเดินทางไปดำเนินคดีที่ประเทศอินเดียตามคำยินยอมและยืนยันในความต้องการดังกล่าวโดยสมัครใจจริงจึงมีคำสั่งให้ส่งตัวไปดำเนินคดีที่อินเดียและให้ขังไว้เพื่อรอส่งตัวเป็นผู้ร้ายข้ามแดนตาม มาตรา 22 พ.ร.บ.ส่งผู้ร้ายข้ามแดน พ.ศ. 2551
ด้าน นายวันชัย รุจนวงศ์ โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด เปิดเผยถึงขั้นตอนการส่งผู้ร้ายข้ามแดน ว่า ภายหลังจากทางการไทยได้รับการประสานจากประเทศที่มีสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดน และมีผู้ต้องหาหลบหนีเข้ามาในประเทศไทยแล้วนั้น ทางอัยการจะเป็นผู้ยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอออกหมายจับ เมื่อศาลอนุมัติหมายจับแล้วทางอัยการก็จะส่งหมายให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อติดตามจับกุมตัวผู้ต้องหา จากนั้นเมื่อตำรวจจับกุมผู้ต้องหาได้แล้ว ก็จะต้องดำเนินการสอบสวนในเบื้องต้น โดยจะส่งตัวผู้ต้องหาไปฝากขังที่ศาลเพื่อให้อยู่ในอำนาจของศาลในการควบคุมตัว ซึ่งศาลจะสอบถามผู้ต้องหาว่าจะยินยอมกลับไปถูกดำเนินคดีที่ประเทศต้นทางที่ขอส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนหรือไม่ ถ้าหากผู้ต้องหายินยอมก็จะส่งตัวกลับไปทันที แต่หากผู้ต้องหาไม่ยินยอมก็มีสิทธิแต่งตั้งทนายความเพื่อสู้คดี
นายวันชัย กล่าวอีกว่า สำหรับการยื่นคำร้องในวันนี้เพื่อให้ศาลสอบถามใน 2 ประเด็น คือ 1. เป็นบุคคลคนเดียวกับที่ศาลออกหมายจับหรือไม่ และ 2. บุคคลนั้นยินยอมที่จะกลับไปดำเนินคดีในประเทศที่ร้องขอตัวมาหรือไม่ หากผู้ต้องหานั้นยอมรับและยินยอมพร้อมจะกลับประเทศ ศาลก็จะมีคำสั่งให้ส่งตัวกลับได้ทันที ซึ่งระยะเวลาในการส่งตัวก็จะต้องเป็นไปตามกระบวนการขั้นตอนของกฎหมาย แต่หากผู้ต้องหานั้นปฏิเสธตามกฎหมายไทยศาลก็จะต้องดำเนินการนัดไต่สวนพยานหลักฐาน เพื่อพิจารณาในประเด็นที่ว่าเป็นบุคคลตามหมายจับหรือไม่ และมีพฤติการณ์ที่กระทำผิดตามที่กล่าวหาหรือไม่ ซึ่งหากเป็นกรณีที่ผู้ต้องหาปฏิเสธดังกล่าวก็อาจจะต้องใช้ระยะเวลาเป็นปีในการไต่สวนพยานหลักฐาน โดยศาลจะพิจารณาว่าจะอนุญาตให้ส่งตัวเป็นผู้ร้ายข้ามแดนหรือไม่ ซึ่งกรณีนี้อาจจะคล้ายๆ กับกรณีการส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนของ นายวิคเตอร์ บูท โดยทางอัยการจะรวบรวมพยานหลักฐานแสดงต่อศาลว่าได้มีการประสานขอส่งตัวผู้ต้องหาเป็นผู้ร้ายข้ามแดน เนื่องจากได้กระทำผิดในประเทศต้นทางนั้นๆ ไว้ รวมทั้งจะต้องแสดงให้ศาลเห็นว่าการส่งผู้ร้ายข้ามแดนดังกล่าวอยู่ในสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนระหว่างประเทศไทยกับประเทศที่ร้องขอ ซึ่งไม่ได้เป็นเรื่องทางการเมืองและไม่เกี่ยวข้องกับทางทหารแต่อย่างใด
ASTV