องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) เตรียมออกกฎให้เครื่องบินโดยสารต้องแจ้งพิกัดทุกๆ 15 นาที เพื่อสร้างระบบติดตามที่ครอบคลุมทั่วโลก หลังเกิดเหตุเที่ยวบิน MH370 ของมาเลเซียแอร์ไลน์สสูญหายไร้ร่องรอยเมื่อเกือบ 1 ปีมาแล้ว
การหายไปของเที่ยวบิน MH370 ได้จุดกระแสเรียกร้องให้มีการสร้างระบบติดตามที่มีประสิทธิภาพพอจะระบุเส้นทางบินที่แน่นอน รวมไปถึงตำแหน่งสุดท้ายของเครื่องบินโดยสาร
โฆษก ICAO แถลงวานนี้(6)ว่า รัฐสมาชิก ICAO จะหารือข้อเสนอนี้ในการประชุมว่าด้วยความปลอดภัยการบินที่เมืองมอนทรีออลในเดือนหน้า ซึ่งหากมาตรฐานนี้ได้รับการยอมรับ ก็จะสามารถบังคับใช้ได้ในอนาคตอันใกล้ เพราะไม่จำเป็นต้องติดตั้งเทคโนโลยีใหม่ๆ บนเครื่องบิน
ด้านสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA) ก็รับปากเมื่อปีที่แล้วว่า จะเป็นผู้นำคณะทำงานเฉพาะกิจพัฒนาระบบติดตามเครื่องบิน ระหว่างที่ ICAO แก้ไขกฎระเบียบ
เมื่อเดือนธันวาคม คณะทำงานได้เสนอให้ทุกสายการบินต้องเริ่มติดตามพิกัดเครื่องบินของตนเองทุกๆ 15 นาทีภายใน 12 เดือน ทว่า IATA ได้ออกมาค้าน โดยชี้ว่าเส้นตายดังกล่าวไม่สามารถปฏิบัติได้จริง
แอนโธนี ฟิลบิน โฆษก ICAO เรียกแผนนี้ว่า “มาตรฐานการติดตามเที่ยวบินขั้นพื้นฐาน” (foundational flight tracking standard) และระบุว่า ICAO กำลังพิจารณาออกคำแนะนำที่เข้มงวดยิ่งกว่าเดิม
“ถ้า (รัฐสมาชิก) เห็นด้วยกับมาตรฐานนี้ ก็จะมีการหารือในที่ประชุมด้านความปลอดภัยว่าจะสามารถบังคับใช้ได้เมื่อใด และต้องการให้ ICAO มีส่วนช่วยเร่งกระบวนการนี้หรือไม่” ฟิลบิน ให้สัมภาษณ์ต่อรอยเตอร์ทางอีเมล์
มาตรฐานที่ ICAO ประกาศถือเป็นกฎข้อบังคับที่สายการบินใน 191 รัฐสมาชิกจะต้องปฏิบัติตามอยู่แล้ว ทว่า ICAO มักจะขอความเห็นผ่านที่ประชุมและตัดสินด้วยเสียงข้างมากเป็นหลัก ซึ่งทำให้การประชุมในเดือนกุมภาพันธ์นี้มีวาระสำคัญที่น่าจับตามอง
ปัจจุบันมีหลายสายการบินที่ติดตามเครื่องบินผ่านระบบดาวเทียมอยู่แล้ว และเมื่อไม่นานนี้ก็มีรายงานจาก ICAO ว่า เที่ยวบินพาณิชย์ระยะไกลส่วนใหญ่ติดตั้งอุปกรณ์ที่สามารถส่งสัญญาณระบุพิกัดของเครื่องบินได้ แต่ปัญหาสำคัญก็คือ อุปกรณ์เหล่านี้ไม่ได้เปิดใช้งานตลอดเวลา และสัญญาณดาวเทียมอาจขาดหายได้ในบางพื้นที่ เช่น เส้นทางแถบขั้วโลกเหนือและใต้