นิตยสารแนวดูหมิ่น เสียดสี สร้างความแตกแยกในสังคมอย่าง “ชาร์ลี เอ็บโด” เตรียมวางตลาดฉบับพิเศษซึ่งรูปแบบและเนื้อหายังคงยึดแนวดูหมิ่นเหยียดหยามผู้อื่นเหมือนเดิม โดยหน้าปกเป็นภาพการ์ตูนที่สื่อว่าเป็นท่านนบีมูฮัมหมัด ศ็อลลั๊ลลอฮุอลัยฮิวะซัลลัม ยืนร้องไห้ชูป้าย “ฉันคือชาร์ลี” พร้อมคำบรรยาย “ยกโทษให้หมดแล้ว” ขณะที่เหตุการณ์โจมตีสำนักงานนิตยสารชั่ว ทำให้กลุ่มหัวรุนแรงต่อต้านอิสลามในเยอรมนีฉวยโอกาสสร้างกระแสระดมคนแสดงพลังต่อต้านอิสลาม
หน้าปกของนิตยสารชาร์ลี เอ็บโดฉบับพิเศษที่เรียกว่าเป็นฉบับ “ผู้รอดชีวิต” ถูกนำออกแจกจ่ายเพื่อการโฆษณาประชาสัมพันธ์ไปตามสื่อต่างๆ ก่อนที่จะวางแผงจริงในวันพุธ (14ม.ค.) โดยมียอดตีพิมพ์ 3 ล้านฉบับ ในภาษาต่างๆ 16 ภาษา และเตรียมวางจำหน่ายใน 25 ประเทศตามที่มีเสียงเรียกร้องต้องการ
อย่างไรก็ดี ภาพปกที่สื่อถึงการดูหมิ่นศาสนาอิสลามล่าสุด ทั้งที่ยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจนถึงมูลเหตุในการโจมตีสำนักงานของตน เป็นที่คาดหมายกันว่าจะกระตุ้นยั่วยุความโกรธแค้นของกลุ่มมุสลิมทั่วโลก
โดยพนักงานนิตยสารนี้ผู้รอดชีวิตจากเหตุการณ์ล่าสุด ออกมาให้คำมั่นว่าจะสานต่อธรรมเนียมการล้อเลียนเสียดสีทุกศาสนา ทุกกลุ่มเหล่าการเมือง คนดัง และเหตุการณ์ใหม่ๆ โดยที่ผ่านมา ชาร์ลี เอ็บโด วาดการ์ตูนดูหมิ่น เสียสีศาสนาอิสลามมาอย่างต่อเนื่อง โดยที่แทบไม่มีการกระทำแบบเดียวกับกับศาสนาอื่น โดยเฉพาะยูดาย
ริชาร์ด มัลคา ทนายความของชาร์ลี เอ็บโด ยืนยันว่า นิตยสารจะไม่ยอมจำนนต่อกลุ่มหัวรุนแรง พร้อมย้ำว่า ชาร์ลี เอ็บโดมองตัวเองว่า ไม่ได้เป็นหนังสือพิมพ์ที่ขายความรุนแรง และไม่เลื่อมใสความรุนแรง
ในการจัดทำฉบับพิเศษนี้ กองบรรณาธิการชาร์ลี เอ็บโด ต้องไปอาศัยทำงานในสำนักงานของหนังสือพิมพ์ “ลิเบราซิยอง” และหยิบยืมอุปกรณ์จากองค์กรสื่อต่างๆ เนื่องจากสำนักงานของตัวเองที่เป็นสถานที่เกิดเหตุเมื่อสัปดาห์ที่แล้วยังเป็นพื้นที่ควบคุมเพื่อเก็บหลักฐานของตำรวจ
นิตยสารที่มีอายุอานาม 44 ปีฉบับนี้ส่อเค้าล้มละลายรอมร่อก่อนถูกโจมตี และเดิมทีมียอดตีพิมพ์สัปดาห์ละ 60,000 ฉบับเท่านั้น
แต่หลังการสังหารหมู่ ทำให้ยอดขายดังกล่าวพุ่งขึ้นในทันที
โดยเหตุการณ์โจมตีในปารีสเมื่อสัปดาห์ที่แล้วที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตทั้งสิ้น 17 ราย ยังปลุกเร้ากระแสต่อต้านอิสลามในเยอรมนี โดยวันจันทร์ที่ผ่านมา การชุมนุมต่อต้านอิสลามประจำสัปดาห์ที่เดรสเดนสามารถดึงดูดผู้คนได้ถึง 40,000 คนตามการอ้างของผู้จัด แต่ตำรวจระบุว่ามีผู้ร่วมชุมนุมเพียง 25,000 คน
แกนนำการชุมนุมที่เรียกตัวเองว่า ชาวยุโรปรักชาติต่อต้านกระแสอิสลามานุวัตรแห่งตะวันตก” (Patriotic Europeans Against the Islamization of the West) หรือ PEGIDA ขอให้ผู้ร่วมชุมนุมติดริบบิ้นดำเพื่อรำลึกถึงเหยื่อในปารีส
แม้กลุ่มนี้ยืนยันว่า ไม่ได้ฝักใฝ่อุดมการณ์ขวาจัด แต่ผู้ชุมนุมจำนวนมากกลับติดสัญลักษณ์และสวมเสื้อผ้าที่รู้กันว่าเป็นของพวกกลุ่มนีโอนาซี
อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนกลุ่มคัดค้านการเดินขบวนต่อต้านอิสลามจะมีผู้เข้าร่วมมากกว่า สำนักข่าวดีพีเอ ของเมืองเบียร์รายงานว่า กลุ่มผู้ชุมนุมฝ่ายต่อต้าน PEGIDA สามารถดึงดูดประชาชนให้ออกมารวมตัวกันมากถึง 8,000 คนในเมืองเดรสเดน, 30,000 คนในเมืองไลป์ซิก, 20,000 คนในเมืองมิวนิก, 17,000 คนในเมืองฮันโนเวอร์, 9,000 คนในเมืองซาร์บรุคเคิน และ 5,000 คนในเมืองดุสเซลดอร์ฟ 4,000 คนในกรุงเบอร์ลิน และฮัมบูร์ก, 2,000 คนในเมืองรอสต็อค และจำนวนรองลงมาในเมืองอื่นๆ
ในหลายเมืองซึ่งทั้งสองฝ่ายต่างออกมาชุมนุมกัน ปรากฏว่าฝ่ายต่อต้าน PEGIDA มีจำนวนมากกว่าอย่างเช่นกัน โดยตำรวจกรุงเบอร์ลินเผยว่า มีประชาชน 4,000 คนชุมนุมคัดค้านกลุ่มต่อต้านอิสลามที่รวมตัวกัน 400 คน และที่มิวนิก มีประชาชน 20,000 คนร่วมคัดค้านกลุ่มต่อต้านอิสลาม 1,500 คน