ไอเอ็มเอฟปรับลดการคาดการณ์จีดีพีโลกปีนี้และปีหน้า ชี้ราคาน้ำมันขาลงไม่สามารถชดเชยผลพวงจากภาวะการชะลอตัวในหลายภูมิภาคทั่วโลก ด้านจีนแถลงตัวเลขเศรษฐกิจปีที่ผ่านมาโตช้าที่สุดในรอบ 24 ปี ขณะที่อีบีอาร์ดีฟันธงปีนี้รัสเซียถดถอยแรงเกินคาดเฉียด 5%
ในรายงานแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่เผยแพร่เมื่อวันอังคาร (20) กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) แจกแจงว่า การชะลอตัวในจีน รัสเซีย ยูโรโซน และญี่ปุ่น จะช่วยกันรั้งเศรษฐกิจโลกให้เติบโตเพียง 3.5% และ 3.7% ในปีนี้และปีหน้าตามลำดับ ลดลงจากตัวเลขคาดการณ์ในรายงานฉบับที่แล้วที่ออกมาในเดือนตุลาคม 0.3% และตอกย้ำภาวะความตกต่ำต่อเนื่องของหลายประเทศ อันสืบเนื่องจากความซบเซาทั้งในด้านการลงทุนและการค้า ประกอบกับราคาสินค้าโภคภัณฑ์ตกต่ำ
ขณะที่สหรัฐฯ ยังคงเป็นหนึ่งในจุดสว่างไสวบนเรดาร์เศรษฐกิจโลก ยุโรปก็ยังคงต้องฝ่าฟันกับภาวะเงินฝืดต่อไป และจีนกำลังเข้าสู่จังหวะการเติบโตต่ำสุดในรอบ 25 ปีจากปัญหาการส่งออกชะลอตัวและความตกต่ำในตลาดอสังหาริมทรัพย์
ไอเอ็มเอฟคาดว่า สหรัฐฯ ประเทศเศรษฐกิจอันดับ 1 ของโลก จะมีอัตราเติบโตในปีนี้ 3.6% เพิ่มขึ้น 0.5% จากการคาดการณ์ครั้งที่แล้ว
รายงานเสริมว่า ภาวะความซบเซาและเงินเฟ้อต่ำจะยังคงสร้างปัญหาให้แก่ยุโรปและญี่ปุ่น และวิธีรับมือก็คือการชะลอการขึ้นดอกเบี้ยออกไปก่อน
ยูโรโซนที่มีแนวโน้มประกาศมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่ภายในสัปดาห์นี้ จะยังต้องเผชิญปัญหาการลงทุนตกต่ำ และการส่งออกชะลอตัว แม้ได้อานิสงส์จากราคาน้ำมันที่ตกลงต่อเนื่องและการอ่อนตัวของเงินยูโรก็ตาม โดยไอเอ็มเอฟคาดว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ของยูโรโซนจะอยู่ที่ 1.2% และ 1.4% ในปีนี้และปีหน้าตามลำดับ
สำหรับญี่ปุ่น มาตรการกระตุ้นไม่ออกฤทธิ์ตามที่หวัง ส่งผลให้จีดีพีปีนี้มีแนวโน้มขยายตัวเบาบางเพียง 0.6% ในปีนี้ และ 0.8% ในปีหน้า
ในส่วนจีน ประเทศเศรษฐกิจอันดับ 2 ของโลก ไอเอ็มเอฟคาดว่า จีดีพีของจีน จะเพิ่มขึ้น 6.8% ในปีนี้ ต่ำกว่าการคาดหมายครั้งที่แล้ว 0.3% และ 6.3% ในปี 2016
ทั้งนี้ ครั้งล่าสุดที่จีดีพีจีนต่ำกว่า 7% คือปี 1990 ที่เศรษฐกิจขยายตัวเพียง 3.8%
ไอเอ็มเอฟยังเตือนว่า การชะลอตัวของจีนจะส่งผลกระทบต่อประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะเพื่อนบ้านเอเชีย
อนึ่ง ในวันเดียวกันนั้น สำนักสถิติแห่งชาติของจีนแถลงว่า จีดีพีปีที่ผ่านมาขยายตัว 7.4% ต่ำกว่าปีก่อนหน้า 0.3% และต่ำสุดในรอบ 24 ปี กระนั้น ปักกิ่งยืนยันว่า เป็นปรากฏการณ์ “ปกติใหม่” ภายใต้แนวทางการเติบโตอย่างยั่งยืนที่เน้นการขยายตัวจากอุปสงค์ภายในแทนการพึ่งพิงการส่งออกเป็นหลักแบบที่ผ่านมา
รัสเซียที่รับเคราะห์หนักจากมาตรการลงโทษของตะวันตกต่อกรณียูเครนอยู่แล้ว ยังถูกซ้ำเติมจากสถานการณ์ราคาน้ำมันขาลง ไอเอ็มเอฟคาดว่า เศรษฐกิจแดนหมีขาวจะหดตัว 3% ในปีนี้ และ 1% ในปี 2016 จากรายงานฉบับที่แล้วที่เชื่อว่า จีดีพีรัสเซียปี 2015 ยังมีโอกาสเติบโตเล็กน้อย
แนวโน้มนี้ได้รับการตอกย้ำจากรายงานของธนาคารเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาของยุโรป (อีบีอาร์ดี) ที่คาดว่า เศรษฐกิจรัสเซียปีนี้จะติดลบเกินคาดถึง 4.8% จากที่เคยคาดไว้ในเดือนกันยายนปีที่แล้วว่า จะหดตัวเพียง 0.2% เท่านั้น
นอกจากนั้น ไอเอ็มเอฟยังเตือนว่า ความผันผวนต่อเนื่องในตลาด ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลพวงจากการที่สหรัฐฯ เริ่มคุมเข้มนโยบายการเงินและผลักให้ดอลลาร์แข็งค่าขึ้นนั้น จะท้าทายรัฐบาลและธนาคารกลางของประเทศต่างๆ ทั่วโลก
การแข็งค่าของดอลลาร์บั่นทอนอานิสงส์จากน้ำมันราคาถูกสำหรับประเทศผู้นำเข้ามากมายที่ต้องใช้เงินสกุลท้องถิ่นที่อ่อนค่าลงจ่ายค่าน้ำมัน นอกจากนี้ ผลกระทบจากการค้าโลกซบเซา ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ตกต่ำ และความผันผวนในตลาด จะร่วมกันบ่อนทำลายอานิสงส์ของราคาน้ำมันที่ลดลงกว่า 50% จากเดือนมิถุนายนปีที่แล้ว
โอลิวิเยร์ บลองชาร์ด หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของไอเอ็มเอฟคาดว่า ราคาน้ำมันจะตกลงต่อเนื่อง และแม้กระเตื้องขึ้นก็ไม่อาจฟื้นถึงระดับ 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลเมื่อกลางปีที่ผ่านมา
ไอเอ็มเอฟทิ้งท้ายด้วยการเน้นย้ำว่า ประเทศต่างๆ ยังจำเป็นต้องสานต่อการปรับโครงสร้าง การปฏิรูป และการลงทุน แม้ปัจจัยหลายอย่างไม่เป็นใจนักก็ตาม รวมทั้งฉวยโอกาสราคาน้ำมันดิ่ง ลดการอุดหนุนราคาพลังงานเพื่อส่งเสริมงบประมาณระยะยาว