อดีตแกนนำพูโลแย้ม มี.ค.เปิดโต๊ะพูดคุย

สำนักข่าวอิศรารายงานว่า อดีตแกนนำคนสำคัญของขบวนการพูโล ยอมรับ 24 มกราคมมีวงประชุมกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐที่เยอรมันจริงในโอกาสครบรอบ 47 ปีสถาปนาองค์กร คาดมีเจ้าหน้าที่ไทย-ภาคประชาสังคมร่วมด้วย แย้ม มีนาคมเริ่มการพูดคุยอย่างเป็นทางการนัดแรก พูโลได้ 2 ที่นั่งในคณะเจรจา

อดีตแกนนำพูโลคนสำคัญซึ่งพำนักอยู่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ยอมรับว่า ในวันที่ 24 ม.ค.นี้ องค์การพูโลนำโดย นายกัสตูรี่ มาห์โกตา ประธานพูโล ได้เตรียมจัดการประชุมกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐที่ประเทศเยอรมนี ในโอกาสครบรอบ 47 ปีการสถาปนาพูโล โดยคาดว่าจะมีการเชิญหลายหน่วยงานในประเทศไทยเข้าร่วมด้วย เช่น เจ้าหน้าที่รัฐบางหน่วย องค์กรรัฐที่เคลื่อนไหวเรื่องการพูดคุยทางลับบางองค์กร และภาคประชาสังคม

ส่วนความคืบหน้าการพูดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ซึ่งกำลังถูกจับตาว่าไม่ค่อยคืบหน้านั้น อดีตแกนนำพูโลรายนี้ บอกว่า “รัฐไทยเรียกการพูดคุย แต่ผมเรียกการเจรจา พรรคพวกในมาเลเซียเล่าให้ฟังว่า เดือน มี.ค.นี้อาจจะมีการพูดคุยที่ประเทศมาเลเซีย ซึ่งเป็นการพูดคุยอย่างเป็นทางการ แต่จะเปิดเผยหรือปิดลับยังไม่แน่ใจ ส่วนวันที่แน่นอนยังไม่มีการกำหนด”

อดีตแกนนำผู้นี้ บอกอีกว่า สาเหตุที่ยังกำหนดวันเปิดโต๊ะพูดคุยไม่ได้ เพราะพูโลยังเลือกผู้แทนที่จะเข้าร่วมโต๊ะพูดคุยไม่ได้ แต่เบื้องต้นมีรายชื่อของนายกัสตูรี่ กับ นายลุกมัน บินลิมา รองหัวหน้าขบวนการพูโลเก่า แต่ยังไม่มีความชัดเจนว่าใครจะมาเป็นตัวแทน

เมื่อถามถึงความเคลื่อนไหวของบีอาร์เอ็น ซึ่งรัฐไทยเชื่อว่าเป็นขบวนการหลักที่ควบคุมกลุ่มติดอาวุธในพื้นที่ชายแดนใต้ อดีตแกนนำพูโล บอกว่า ฝ่ายบีอาร์เอ็นก็ยังไม่มีตัวแทนเข้าร่วมโต๊ะพูดคุยเช่นกัน ขณะที่ นายฮัสซัน ตอยิบ อดีตหัวหน้าคณะพูดคุยสันติภาพฝ่ายบีอาร์เอ็นในการพูดคุยครั้งก่อนนั้น ก็มีการพูดถึงในทำนองว่าบางฝ่ายเห็นด้วยที่จะให้กลับมาเป็นตัวแทนอีก แต่ก็มีบางฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยและคัดค้าน

ในส่วนของรายละเอียดการพูดคุย คาดว่าจะแตกเป็นหลายประเด็น บางคนมองว่าจะพูดคุยเงื่อนไข 5 ข้อเดิมที่บีอาร์เอ็นเคยเสนอในการพูดคุยกับตัวแทนรัฐไทยในรัฐบาลพรรคเพื่อไทยหรือไม่ เพราะมีบางฝ่ายเห็นว่าไม่จำเป็นต้องพูดคุยแล้ว เพราะทุกกลุ่มพร้อมยุติปัญหา เพียงแค่ไม่ไว้วางใจรัฐบาลไทยเท่านั้น เนื่องจากแทบทุกรัฐบาลที่ผ่านมาไม่มีความจริงใจจริงจัง จึงขอรอดูท่าทีของรัฐบาลชุดปัจจุบัน

“เบื้องต้นเท่าที่ได้ยินมา ประเด็นที่จะนำไปพูดคุยเจรจาในเดือน มี.ค.นี้มี 2 ประเด็น คือ 1.ให้รัฐบาลปลดปล่อยนักโทษคดีความมั่นคงชั้นดี และ 2.ให้รัฐยอมรับว่าคนมลายูเป็นคนปัตตานี ไม่ใช่คนแขก”

อดีตแกนนำพูโล กล่าวอีกว่า สำหรับในพื้นที่เองก็มีหลายหน่วยงานที่มาสอบถามถึงการเจรจาครั้งนี้ว่าจะสำเร็จไหม ก็ตอบไปว่าถ้าจะทำให้สงบจริงก็มีโอกาส เพราะคณะทำงานจากรัฐบาลไทย นำโดย พล.อ.อักษรา เกิดผล (ประธานคณะที่ปรึกษากองทัพบก และหัวหน้าคณะพูดคุยสันติสุขของรัฐบาล) ก็เป็นคนเก่งและฉลาด อยู่ที่ว่าจะทำหรือไม่เท่านั้นเอง

“เท่าที่ทราบมา พล.อ.อักษรา เป็นคนฉลาด เป็นคนเก่ง โอกาสที่การเจรจาจะสำเร็จมีแน่นอนถ้าเขาจะทำจริง และถือว่าเป็นครั้งแรกด้วยที่มีการนำทุกกลุ่มมาร่วมกันพูดคุย เพราะมั่นใจว่าอำนาจอยู่ที่เขา (หมายถึงหัวหน้าคณะพูดคุยมีอำนาจ) ข้อเรียกร้อง 2 ข้อที่หลายฝ่ายร่วมกันคิดในเบื้องต้นก็สามารถทำได้เลย ไม่จำเป็นต้องรอให้มีการเจรจา ไม่ได้เป็นเรื่องที่ผิดกฎหมายด้วย”

อนึ่ง ก่อนหน้านี้มีข่าวว่าพูโลซึ่งแตกออกเป็น 3 กลุ่มนั้น จะได้ที่นั่งในโต๊ะพูดคุยซึ่งมีมาเลเซียเป็นผู้อำนวยความสะดวกจำนวน 2 ที่นั่ง จากที่นั่งรวมราว 10-15 ที่นั่ง

ความคิดเห็น

comments

ใส่ความเห็น