นักวิชาการ จุฬาฯ ชี้การครองสิทธิข้ามสื่อไม่ผิด แต่เนื้อหาต้องมีความหลากหลาย ชวนกระตุกต่อมความคิด ปชช. ‘สารี อ๋องสมหวัง’ หวั่นปัจจุบันสื่อไม่ชี้นำสังคมในทิศทางเป็นประโยชน์สาธารณะ เล็งตั้งสมาคมผู้บริโภคสื่อช่วยตรวจสอบ
วันที่ 22 มกราคม 2558 สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ร่วมกับสถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย จัดราชดำเนินเสวนา เรื่อง ‘ครองสิทธิข้ามสื่อ กับการผูกขาด ครอบงำ ข้อมูลข่าวสาร’ ณ ห้องอิศรา อมันตกุล ชั้น 3 สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
ผศ.ดร.ธวัชชัย จิตรภาษ์นันท์ กรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวถึงกรณีบริษัทโซลูชั่น คอนเนอร์ (1998) จำกัด (มหาชน) หรือ SLC ในฐานะผู้ถือหุ้นหลัก สถานีโทรทัศน์สปริงนิวส์ ซื้อหุ้นบริษัท เนชั่น มัลติมีเดีย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ NMG สัดส่วน 12.27% โดยคณะอนุกรรมการที่ปรึกษาด้านกฎหมาย กสทช. ยืนยันให้รักษาหลักเกณฑ์ก่อนประมูลและหลังประมูลเป็นแนวทางกำกับดูแลผู้รับใบอนุญาตทีวีดิจิตอลต่อไป
“ตามกฎหมายกำหนดให้ผู้มีผลประโยชน์ร่วมกันต้องถือหุ้นไม่เกิน 10% ในช่องทีวีดิจิตอลประเภทเดียวกัน” กรรมการ กสท. กล่าว และว่า วันที่ 26 มกราคม 2558 จะนำเข้าสู่การพิจารณาของ กสท. อีกครั้ง
นายธวัชชัย กล่าวถึงในอนาคตวิธีการเข้ามาครอบงำสื่อและเป็นเจ้าของสื่อจะซับซ้อนมากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งคิดว่า กฎหมายที่มีอยู่ในปัจจุบันเพียงพอแล้วสำหรับการกำกับดูแล เพราะประกาศ กสทช.ที่เกี่ยวข้องล้วนดึงมาจากหลักเกณฑ์ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมามี “นอมินี” เข้ามาสวมสิทธิเพื่อหลีกเลี่ยงการตรวจสอบ ซึ่งหากตรวจสอบจริงจังก็เจอ
ด้านรศ.จุมพล รอดคำดี ประธานคณะกรรมาธิการปฏิรูปการสื่อสารมวลชนและเทคโนโลยีสารสนเทศ สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) กล่าวว่า คณะกรรมาธิการฯ ไม่พิจารณาเน้นหนักเกี่ยวกับการครองสิทธิข้ามสื่อมากนัก แต่สิ่งที่ให้ความสำคัญ คือ พยายามให้คนรับรู้ข้อมูลข่าวสารอย่างหลากหลาย เพื่อสร้างการวิเคราะห์อย่างมีวิจารณญาณว่า ข่าวสารใดมีประโยชน์ ไม่ใช่ทุกสื่อมีประเด็นนำเสนอเหมือนกันหมด
ทั้งนี้ ด้านมาตรการเฝ้าระวัง นอกเหนือจากการกำกับดูแลกันเองแล้ว การบังคับใช้กฎหมายก็มีความสำคัญ ตลอดจนการสร้างความเข้มเข็งในกลุ่มผู้บริโภคสื่อ เมื่อพบสื่อขาดความรับผิดชอบในการนำเสนอข้อมูล หมิ่นเหม่ด้านจริยธรรมวิชาชีพ จะต้องมีรูปแบบเอาผิดกับผู้ละเมิดนั้นด้วย
“ในต่างประเทศมีการจัดตั้งสมาคมผู้บริโภคสื่อ ซึ่งมีความเข้มแข็งมาก และมีหน่วยงานรองรับเรื่องร้องเรียน มิใช่เมื่อเกิดปัญหาแล้วทำอะไรไม่ได้” ประธาน กมธ.ปฏิรูปการสื่อฯ สปช.กล่าว และว่าในอนาคตต้องให้การรับประกันว่าสื่อจะมีสิทธิเสรีภาพเต็มที่ มีความรับผิดชอบ และผู้บริโภคต้องรู้เท่าทันสื่อ รู้จักเลือก วิเคราะห์ เผยแพร่ อย่างสร้างสรรค์
ขณะที่น.ส.สารี อ๋องสมหวัง สมาชิก สปช. ในฐานะเลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า เครือข่ายผู้บริโภคมีแนวคิดจะเปลี่ยนโครงสร้างการคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งส่วนหนึ่งจะเป็นเรื่องสื่อ โดยคิดจะออกแบบเป็นสมาคมคุ้มครองผู้บริโภคสื่อ หรือเฟรนด์ ออฟ มีเดีย หากประสบความสำเร็จจะเกิดกลุ่มคนที่คอยทำหน้าที่คอยจับตาไม่ให้เกิดการกระทำใด ๆ หรือทำอย่างไรให้สื่อมีบทบาทชี้นำสังคมได้
“ขณะนี้สื่อเลยจุดความเป็นกลางมาแล้ว แต่สิ่งที่ขาดมาก คือ สื่อไม่ได้ชี้นำสังคมในทิศทางที่เป็นประโยชน์สาธารณะ” เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าว และคาดหวังว่า กลุ่มผู้บริโภคสื่อจะเติบโตต่อเมื่อกระบวนการของประชาชนเติบโต แต่อย่าหวังจะให้ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อควบคุมกันเอง ไม่มีทางเป็นจริง เพราะสื่อจะเน้นเฉพาะการรักษาผลประโยชน์ของตัวเอง ฉะนั้นต้องเกิดกลุ่มผู้บริโภคสื่อให้ได้
สุดท้าย ผศ.ดร.พิรงรอง รามสูตร รณะนันท์ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ผู้บริโภคสื่อต้องรวมตัวจนเกิดความเข้มแข็ง และสื่อต้องผลิตเนื้อหาสาระตอบโจทย์ผู้บริโภคมากที่สุด อย่างไรก็ตาม การมีสภาผู้ชม เหมือนสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ซึ่งมีกองทุนจัดตั้งขึ้น ใช่จะตอบโจทย์ได้ เพราะกรณีที่เกิดขึ้นกับสถานีช่วงที่ผ่านมา ไม่เห็นสภาผู้ชมจะมีอะไรที่จริงจังออกมา ดังนั้น หากจะให้เกิดองค์กรลักษณะคล้ายกัน แต่ไม่มีกองทุนจัดตั้ง ยิ่งจะไม่เกิดผลอะไร
“ปัญหาการครองสิทธิข้ามสื่อไม่เป็นเรื่องผิด เพราะกระบวนการเป็นไปตามการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี แต่สิ่งสำคัญ คือ กสทช.ต้องสร้างความหลากหลายในแง่โครงสร้างตรงกับเนื้อหาสาระสำคัญ ส่งผลกระทบต่อความคิดกับประชาชน มิใช่จะกำกับดูแลเฉพาะการแข่งขันเท่านั้น” นักวิชาการ จุฬาฯ กล่าว