องค์การพูโล กลุ่มเคลื่อนไหวเพื่อปลดปล่อยปัตตานี (สามจังหวัดชายแดนภาคใต้) ออกจากรัฐไทย ได้ส่งจดหมายเปิดผนึกถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เรียกร้องปล่อยตัวนักโทษการเมือง พร้อมดำเนินการสืบสวนสอบสวนอย่างเต็มรูปแบบต่อข้อกล่าวหาที่ว่าหน่วยงานรัฐใช้อำนาจในทางมิชอบ และให้ยกเลิกการประกาศกฎอัยการศึกในพื้นที่
ทั้งนี้ จดหมายเปิดผนึกดังกล่าวถูกส่งถึงนายกรัฐมนตรี ในโอกาสที่รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ กำลังเตรียมการเปิดโต๊ะพูดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้รอบใหม่ หลังจากเดินทางเยือนมาเลเซียอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 1 ธ.ค.57 พร้อมเปิดตัว พล.อ.อักษรา เกิดผล ประธานคณะที่ปรึกษากองทัพบก เป็นหัวหน้าคณะพูดคุยฝ่ายรัฐบาลไทย
นอกจากนั้นยังเป็นห้วงเวลาใกล้กับวันจัดประชุม “ยูนิตี้ ทอล์ค” ในทวีปยุโปร ในวาระครบรอบ 47 ปีการก่อตั้งองค์การพูโล ที่มี นายกัสตูรี่ มาห์โกตา ประธานพูโล เป็นหัวหอกด้วย
อย่างไรก็ดี จดหมายเปิดผนึกฉบับนี้ไม่ได้มาจากพูโลกลุ่มของนายกัสตูรี่ แต่เป็นจดหมายที่ลงนามโดย นายลุกมัน บินลิมา ที่ระบุตำแหน่งของตนเองท้ายจดหมายว่า เป็นหัวหน้าฝ่ายต่างประเทศและกรรมการบริหารพูโล
ปัจจุบันพูโลแตกออกเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มของนายกัสตูรี่ กลุ่มของนายลุกมัน ซึ่งมี อาแบ กาแม หรือ นูร์ อัลดุลเราะมาน เป็นประธาน ถือเป็นกลุ่มผู้อาวุโสของพูโล และอีกกลุ่มหนึ่งคือ กลุ่มของนายซัมซูดิง คาน ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นกองกำลังที่ร่วมก่อเหตุรุนแรงในพื้นที่ชายแดนใต้
จดหมายเปิดผนึกของพูโล กลุ่มนายลุกมัน มีเนื้อหาระบุว่า “พูโลก่อตั้งเมื่อวันที่ 22 ม.ค.ปี 2511 และปัจจุบันพูโลยังคงต่อสู้เพื่อประกาศเอกราชอย่างต่อเนื่อง ชาวปัตตานีไม่เคยมองว่าตัวเองเป็นคนไทย เราเป็นชาวมุสลิมมาเลเซีย ดินแดนที่เราอยู่เป็นของชาวปัตตานี แม้ว่าคนไทยจะเข้ามายึดครองดินแดนของเราตั้งแต่ปี 2329
ความไม่สงบในปัตตานีดำเนินมาช้านานและหยั่งรากลึก ทั้งยังเป็นประวัติศาสตร์เก่าแก่ ไม่ใช่ปรากฏการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้
ในช่วงหลายร้อยปีที่ผ่านมานี้ได้มีการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาหลายต่อหลายครั้งด้วยกัน บางครั้งเป็นความรุนแรง บางครั้งเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ก้าวร้าว แต่ความคับข้องใจในหมู่ชาวปัตตานีเกี่ยวกับเรื่องนี้ไม่เคยหายไป
ในปีหน้าหากรัฐบาลไทยไม่เปลี่ยนมุมมองทางการเมืองต่อปัตตานี การเจรจาสันติภาพระหว่างกันก็จะไม่เกิดขึ้น และในระยะยาวปัญหาความรุนแรงยังคงเป็นปัญหาท้าทายต่อกระบวนการสร้างสันติภาพระหว่างไทยและพูโล
พูโล เรียกร้องให้รัฐบาลไทยในปัจจุบันหวนกลับมาสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจกับประชาชนชาวปัตตานี ดังนี้
1.ดำเนินการสืบสวนอย่างเต็มรูปแบบต่อข้อกล่าวหาที่ว่าหน่วยงานรัฐใช้อำนาจในทางมิชอบ
2.คุมเข้มบทบาทและกิจกรรมต่างๆ ของกองกำลังทหารและเหล่าอาสาสมัครในปัตตานี
3.พยายามอย่างจริงจังเพื่อยุติการล่วงละเมิดเหยื่อ และสร้างหลักประกันว่ากระบวนการตั้งข้อกล่าวหามีการดำเนินการอย่างเหมาะสม มีประสิทธิภาพและโปร่งใส
4.ปล่อยตัวนักโทษการเมืองที่ถูกขังในจังหวัดปัตตานีและจังหวัดยะลา ประกอบด้วย Gen. HJ.ดาอุด ฮัสซาน ดาอุด เทอร์นัง Gen.HJ. อิสมาอิล กัดดาฟี อิสมาอิล เทอร์นัง และ Gen.อูเซ็ง ชา (น่าจะหมายถึงแกนนำพูโล และกองกำลังติดอาวุธของพูโลที่ถูกจับกุมคุมขังอยู่ในปัจจุบัน)
5.ผ่อนคลายกฎระเบียบด้านความมั่นคงในปัตตานี
6.ยกเลิกการนิรโทษกรรมแก่เจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคงที่กระทำความผิด
7.ยกเลิกกฏอัยการศึกในปัตตานี
และ 8.ให้มีการดำเนินการสอบสวนอย่างเป็นอิสระในคดีตากใบและกรือเซะอย่างโปร่งใส
จดหมายของพูโล ยังระบุทิ้งท้ายว่า เราเชื่อว่าความขัดแย้งทางการเมืองและประเด็นสำคัญๆ สามารถหาทางออกได้ผ่านกระบวนการเจรจา หากทั้งสองฝ่ายมีความจริงใจที่จะหาทางออกในปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างแท้จริง
สำหรับ นายลุกมัน บินลิมา เป็นตัวแทนกลุ่มพูโลเก่าที่เข้าร่วมโต๊ะพูดคุยสันติภาพระหว่างผู้แทนรัฐบาลไทย นำโดย พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) กับแกนนำบีอาร์เอ็น กลุ่มของนายฮัสซัน ตอยิบ เมื่อปี 2556 ที่มีรัฐบาลมาเลเซียเป็นผู้อำนวยความสะดวก และเป็นที่คาดหมายว่าโต๊ะพูดคุยสันติสุขที่จะเปิดขึ้นในเร็ววันนี้ระหว่างตัวแทนรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ กับกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ จะมีนายลุกมัน เป็นตัวแทน 1 ใน 2 ที่นั่งของพูโลด้วย
อนึ่ง จดหมายถึง พล.อ.ประยุทธ์ ฉบับนี้ อาจเขียนขึ้นตั้งแต่ปลายปี 2557 เพราะในเนื้อหามีการระบุถึง “ปีหน้า” ซึ่งจะมีการเจรจาสันติภาพ น่าจะหมายถึงปี 2558
สำนักข่าวอิศรา