ประกาศเขตอุทยานฯ ทับที่ทำกินชาวนราฯกว่า 9 หมื่นไร่

เมื่อเวลา 9.00 น.วันที่ 25 มกราคม ณ ลานสนามมัสยิดซีอารุดดีน บ้านมาแฮ ม.11 ต.ปะลุกาสาเมาะ อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส ได้มีตัวแทนชาวบ้าน จำนวนกว่า 500 คน ที่ถือครอง นส.3 นส.3 ก. โฉนดที่ดิน และหนังสือใบอนุญาตเหยียบย้ำที่ดินปี 2472 ซึ่งออกให้สมัย อ.บาเจาะ จ.สายบุรี ซึ่งส่วนใหญ่มีที่ดินทำกินอยู่บริเวณแนวเทือกเขาบูโด-สุไหงปาดี จนต่อมาปี 2542 ได้มีการประกาศเขตอุทยานแห่งชาติทับที่ดินทำกินของชาวบ้าน จำนวน 96,216 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ 24 ตำบล 9 อำเภอ 3 จังหวัด คือ นราธิวาส ยะลา และปัตตานี

ซึ่งส่งผลให้ชาวบ้านได้รับความเดือดร้อนทั้งหมด 6,985 ครัวเรือน จึงได้มีการจัดเวทีสร้างความเข้าใจ กรณีการตัดโค่นต้นยางพาราที่หมดอายุ เพื่อปลูกทดแทนด้วยยางพันธุ์ดี ซึ่งผ่านมา 6 รัฐบาล เรื่องดังกล่าวยังไม่มีรัฐบาลใดเข้ามาแก้ไขปัญหาให้ชาวบ้านที่ถือครองที่ดินได้รับความเป็นธรรม เมื่อต้นยางพาราแก่หมดอายุ ชาวบ้านได้ไปใช้สิทธิ์ขอสงเคราะห์กับ สกย. แต่ได้รับการปฏิเสธโดยให้เหตุผลว่า ที่ดินทำกินของชาวบ้านทับซ้อนกับเขตอุทยานแห่งชาติและป่าสงวน

ซึ่งในวันนี้มีนายภาณุ อุทัยรัตน์ เลขาธิการ ศอ.บต. นายอำเภอบาเจาะ ผู้แทนสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 6 สำนักงานกองทุนสงเคราะห์ยางพารา ผู้แทนอุทยานแห่งชาติ และผู้ที่เกี่ยวข้องได้เดินทางมาร่วมกิจกรรม เพื่อหาข้อสรุปเกี่ยวกับกรณีที่ทำกินของชาวบ้าน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการรับมรดกตกทอดมาเป็นรุ่นๆ แต่เขตอุทยานแห่งชาติและป่าสงวนมาประกาศทับที่ดินทำกินของชาวบ้าน ซึ่งสามารถพิสูจน์ได้ด้วยเอกสาร

โดยชาวบ้านให้เวลา 30 วัน ให้ผู้ที่เกี่ยวข้องนำไปแก้ไขปัญหา เพราะปัจจุบันมีที่ดินทำกินปลูกต้นยางพาราเป็นส่วนใหญ่ แต่ต้องไปรับจ้างกรีดยางพาราของบุคคลอื่น เพราะของตัวเองยางหมดอายุจะไปโค่นก็ไม่ได้ เพราะโค่นไปแล้ว สกย.ก็ไม่อนุญาตให้ทำการสงเคราะห์ แต่หาก 30 วัน ไม่มีคำตอบจากผู้ที่เกี่ยวข้อง ชาวบ้านก็จะรวมตัวเพื่อกดดันอีกครั้ง ซึ่งเป้าหมายคือการโค่นต้นยางพารา ที่สามารถกระทำได้ในปริมาณ 1 ใน 4 ของพื้นที่ ซึ่งถือว่าไม่เป็นการทำร้ายธรรมชาติ

จากนั้นชาวบ้านได้เดินทางขึ้นไปร่วมตัดต้นยางพาราซึ่งมีอายุ 96 ปี ของนายมะดือเร๊ะ เย๊ะตูแก ที่ถือครองใบอนุญาตเหยียบย้ำที่ดินทำกิน ซึ่งออกสมัย อ.บาเจาะ จ.สายบุรี เมื่อปี พ.ศ. 2472 บนเทือกเขาบูโด-สุไหงปาดี ซึ่งมีอายุยาวนานกว่า การประกาศเขตอุทยานแห่งชาติซึ่งมีขึ้นเมื่อปี 2542 เพื่อเป็นการทวงคืนความเป็นธรรมในสิทธิที่ดินทำกิน ที่ชาวบ้านได้เสนอเรื่องความเดือดร้อนให้รัฐบาลที่ผ่านมา 6 สมัย แต่ไม่มีรัฐบาลไหนเข้าไปแก้ไขปัญหาให้ชาวบ้านเลย รวมไปถึงการกระทำตามมติ ครม.วันที่ 14 ตุลาคม 2551 ที่ระบุว่าผู้ที่ถือครองที่ดินทำกินสามารถทำประโยชน์ในพื้นที่ที่ถือครองได้

ด้านนายภาณุ อุทัยรัตน์ เลขาธิการ ศอ.บต. กล่าวาว่า เรื่องดังกล่าวตนขอยืนยัน 30 วัน กฤษฏีกาคงมีคำตอบ เพราะตนได้มีการบอกกล่าวไว้ล่วงหน้าแล้ว ทุกสิ่งทุกอย่างตนรับรองว่าพี่น้องประชาชนต้องได้ตามความต้องการ เพราะเรื่องของเทือกเขาบูโด-สุไหงปาดี ทับที่ดินทำกินของชาวบ้าน ต้องทำให้แล้วเสร็จในปี 2558 ซึ่งท่านนายกรัฐมนตรีท่านก็ได้กำชับมาให้แล้วเสร็จโดยเร็วตามที่ตนได้เสนอไป

i-News Daily 58-01-26-185m

 

ความคิดเห็น

comments

ใส่ความเห็น