โรงงานผลิตอาหารในจีนเกือบครึ่งหนึ่งไม่ได้มาตรฐาน

เอเชียอินสเปกชั่น ( AsiaInspection) บริษัทผู้ให้บริการด้านการควบคุมคุณภาพอาหารเผยผลการตรวจสอบโรงงานผลิตอาหารบนแดนมังกรพบว่า เกือบครึ่งหนึ่งไม่ได้มาตรฐานความปลอดภัยและสุขภาพ

จากการตรวจสอบ การทดลองและการวัดคุณภาพ 1 แสนครั้งทั่วทุกภาคอุตสาหกรรมบนแผ่นดินใหญ่เมื่อปีที่แล้ว บริษัทผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งมีที่ทำการในฮ่องกงรายนี้พบว่า ร้อยละ 48.1 ของโรงงานแปรรูปอาหารบนแผ่นดินใหญ่ไม่ได้มาตรฐานทันสมัย ซึ่งเป็นที่ยอมรับ

เอเชียอินสเปกชั่น ซึ่งได้รับการว่าจ้างจากบรรดาลูกค้าของซัปพลายเออร์ผู้ส่งป้อนสินค้าให้นั้น ระบุว่า ผู้ตรวจสอบพบว่า อุตสาหกรรมแปรรูปอาหารของจีนมีความล้าหลังกว่าอุตสาหกรรม ที่ไม่เกี่ยวกับอาหารทั้งด้านเทคโนโลยีและกฎระเบียบถึง 15 ปี

การตรวจสอบยังพบอุปสรรคจากสาเหตุสำคัญ เช่น การจงใจติดฉลากส่วนผสมของสินค้าผิดจากความเป็นจริง และระบุวันหมดอายุของส่วนผสมปลอม

นอกจากนั้น ผลทดสอบในห้องปฏิบัติการยังพบสารอันตราย เช่นยาฆ่าแมลง ยาปฏิชีวนะ โลหะหนัก แบคทีเรีย และเชื้อไวรัส

ทั้งนี้ นอกจากข่าวครึกโครม 8 เมนูของร้านแมคโดนัลด์ทั่วญี่ปุ่นใช้เนื้อไก่เน่าจากจีนเมื่อปี 2557 แล้ว จีนยังเกิดข่าวอื้อฉาวด้านอาหารอื่น ๆ อีกมากมาย รวมทั้งกรณีนมผงสูตรเลี้ยงทารกปนเปื้อนสารเมลามีน ซึ่งมีเด็กเสียชีวิตเมื่อปี 2551 ข่าวเหล่านี้บั่นทอนความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในจีน

นายมาทิว ลาบาส รองประธานเอเชียอินสเปกชั่นระบุว่า อุตสาหกรรมอาหารบนแผ่นดินใหญ่ยังไม่เติบโตสมบูรณ์ หากเทียบกันบริษัทด้านการผลิตอุปกรณ์ หรือเทคโนโลยี โดยยังขาดการฝึกอบรมและขาดความตระหนักด้านมาตรฐานความปลอดภัยของอาหารอย่างมาก ดังนั้น จึงจำเป็นต้องมีการร่วมมือกันในภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งบริษัทผู้ผลิต หน่วยงานรัฐ ผู้ค้าปลีก และผู้บริโภค เพื่อยกระดับการผลิตอาหารในจีนให้ได้มาตรฐานทันสมัย

โรงงานและซัปพลายเออร์ในกลุ่มชาติผู้ผลิต “บิ๊ก โฟร์” ได้แก่จีน อินเดีย เวียดนามและบังคลาเทศแทบไม่ดำเนินการใด ๆ เพื่อปรับปรุงเรตติ้งการตรวจสอบมาตรฐานในด้านอื่น ๆ ได้แก่การใช้แรงงานเด็ก สุขอนามัย และความปลอดภัย ตลอดชั่วโมงการทำงาน โดยจีนได้คะแนนผลการตรวจสอบเฉลี่ยสูงกว่าระดับ 6 เล็กน้อย ซึ่งอยู่ในระดับเดียวกับบังคลาเทศและเวียดนามเมื่อสิ้นปี 2557 ส่วนอินเดียหล่นจากระดับ 6 มาอยู่ที่ระดับ 4.5

เอเชียอินสเปกชั่นระบุว่า ในปีที่แล้วลูกค้าของตนร้อยละ 15 ทั้งในอุตสาหกรรมผลิตอาหารและอุตสาหกรรมด้านอื่น ได้ยกเลิกซัปพลายเออร์ หลังจากผลการตรวจสอบพบว่า ซัปพลายเออร์ไม่ได้มาตรฐาน ซึ่งโดยปกติแล้ว โรงงานต้องไม่ผ่านการตรวจสอบ 2 ครั้ง จึงจะถูกยกเลิก

รายงานผลการตรวจสอบนี้มีขึ้นในขณะเดียวกับที่ ฟาสต์ รีเทลลิ่ง (Fast Retailing) ซึ่งเป็นบริษัทแม่สัญชาติญี่ปุ่นของแบรนด์แฟชั่นยูนิโคล่ ออกมายอมรับว่าซัปพลายเออร์ 2 รายใหญ่ในจีนได้ละเมิดแรงงาน โดยให้ทำงานเกินเวลานานหลายชั่วโมง ท่ามกลางสภาพภายในโรงงาน ที่ต่ำกว่ามาตรฐาน

ด้านกลุ่มสิทธิมนุษยชนในฮ่องกงยังมีการเผยแพร่รายงานเกี่ยวกับสภาพโรงงาน ที่ไม่ปลอดภัยและไม่ได้สุขอนามัย ซึ่งแรงงานอพยพในจีนต้องเผชิญในโรงงานต่าง ๆ บนแผ่นดินใหญ่อีกด้วย

ความคิดเห็น

comments

ใส่ความเห็น