นายกฯนั่งหัวโต๊ะประชุมคณะกรรมการอำนวยการพูดคุยดับไฟใต้ วาง 3 ขั้นตอนสู่สันติสุข เริ่มจากดึงผู้เห็นต่างร่วมโต๊ะแบบไม่แยกกลุ่ม ลงสัตยาบันลดรุนแรง ก่อนเดินตามโรดแมพที่ตกลงร่วมกัน ทั้งเรื่องกฎหมาย กระบวนการยุติธรรม พัฒนา ลดเหลื่อมล้ำ และอัตลักษณ์ วัฒนธรรม ลั่นความรุนแรงลด ถอนทหารแน่ สั่งศึกษาคำสั่ง 66/23 ปรับใช้เป็นแนวทางพิเศษรองรับหลังเจรจา
สำนักข่าวอิศรารายงานว่าเมื่อวันวันพุธที่ 28 มกราคม ที่สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการอำนวยการพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมอย่างพร้อมเพรียง ใช้เวลาประชุมนานประมาณ 2 ชั่วโมง
ภายหลังการประชุม พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า เป็นการประชุมครั้งแรกในการจัดตั้งกระบวนการพูดคุยสันติสุขอย่างเป็นทางการ โดยได้หารือ ถึงการดำเนินงาน 3 ขั้นตอน ประกอบด้วย
ขั้นตอนที่ 1.เป็นเรื่องเหตุผลและความจำเป็นที่ต้องมีการพูดคุย เพื่อให้เป็นไปตามยุทธศาสตร์ทั้งในส่วนของ สมช. แนวทางของ คสช.และรัฐบาลในปัจจุบัน ที่ต้องแก้ปัญหาให้ยุติโดยเร็ว เนื่องจากต้องเตรียมการก้าวสู่ประชาคมอาเซียน และเป็นความเดือดร้อน สูญเสียชีวิต และทรัพย์สิน สร้างความตื่นตระหนกต่อประชาชนคนไทยโดยรวม มีผลเสียต่อการบริหารประเทศชาติเป็นอย่างมาก จึงถือเป็นวาระแห่งชาติ
ทั้งนี้ โครงสร้างการพูดคุยแบ่งเป็น 3 ระดับ ได้แก่ ระดับนโยบาย นายกฯเป็นหัวหน้า เลขาธิกาส สมช.เป็นเลขานุการ (คณะที่ประชุมวานนี้) ระดับคณะขับเคลื่อนมี พล.อ.อักษรา เกิดผล เป็นหัวหน้าทีม ซึ่งส่วนนี้จะประกอบไปด้วยเรื่องของกฎหมาย การพัฒนา และกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) โดยจะมีรายชื่อคณะทำงานชัดเจนออกมาอีกที และระดับพื้นที่ ให้ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า โดยแม่ทัพภาคที่ 4 เป็นคนขับเคลื่อน โดยทั้งหมดจะต้องเดินตามกรอบนโยบายที่สั่งการลงไป
“การพูดคุยจะต้องสร้างความไว้วางใจ โดยให้ทางมาเลเซียเป็นผู้อำนวยความสะดวกในการหากลุ่มต่างๆ ที่เห็นต่าง อย่าไปเรียกชื่อกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง มันไม่ได้ คนที่มาทำอะไรทั้งหมดนี้เป็นคนไทยทั้งนั้น ฉะนั้นขอให้ใช้คำว่าผู้เห็นต่างหลายกลุ่มก็แล้วกัน อย่าไปให้เครดิตใครทั้งสิ้น มันเป็นเรื่องภายในประเทศ อย่าไปเอาคนอื่นมาเกี่ยวข้อง ซึ่งตรงนี้เป็นการสร้างความไว้วางใจซึ่งกันและกัน ต้องหาคนที่ต้องการจะยุติความรุนแรงให้ได้อย่างแท้จริง”
“หมายความว่ากลุ่มไหนก็ตามต้องมา จะแยกพวกกันไม่ได้ จะแยกเป็นฝ่ายทหาร ฝ่ายการเมืองไม่ได้ ต้องไปรวมกันให้ได้ อันนี้เป็นหน้าที่ของทางมาเลเซีย ซึ่งเขาก็รับปากว่าจะดำเนินการเรื่องนี้ให้ เมื่อหามาได้แล้วก็ต้องพูดคุยกลุ่มนั้นกลุ่มนี้ จะลดความรุนแรงตรงนั้นตรงนี้ได้ก่อนไหม เอาเล็กๆ ไปก่อน หยุดการใช้ระเบิดได้ไหม เพื่อให้ชัดเจนว่าใช่หรือไม่ ถ้าจะพูดเหมารวมไปทั้งหมดอย่างที่ผ่านมาคงไม่ได้ เขาก็ใช้ความรุนแรงมากดดันเราอยู่เรื่อยๆ ฉะนั้นตรงนี้ที่อยู่ในขั้นตอนที่หนึ่งต้องรีบทำ” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
ลงสัตยาบัน-วางโรดแมพแก้ปัญหา
นายกรัฐมนตรี กล่าวต่อว่า เมื่อชัดเจนว่ามาครบทุกพวกทุกกลุ่มแล้ว และทุกคนมีความเห็นชอบร่วมกันว่าจะยุติความรุนแรงที่เกิดขึ้น แล้วนำปัญหาต่างๆ มาแก้ไข ในระยะต่อไปก็เข้าสู่ขั้นที่ 2 ของการพูดคุย คือ การลงสัตยาบัน ซึ่งเป็นการลงสัตยาบันธรรมดาที่เป็นลักษณะของข้อตกลงว่าจะยุติความรุนแรง แสวงหาทางออกร่วมกันด้วยสันติวิธี กำหนดโรดแมพการดำเนินงานในแต่ละเรื่อง ซึ่งครั้งที่แล้ว (การพูดคุยสันติภาพในรัฐบาลพรรคเพื่อไทย) สองขั้นตอนนี้ไปทำทีเดียว มีการลงนาม มันไม่ใช่ มันทำไม่ได้ เพราะทุกฝ่ายไม่ได้เห็นร่วมกัน
เมื่อเริ่มลงสัตยาบันได้ ก็จะเข้าสู่ขั้นที่ 3 คือ การเดินตามโรดแมพ ซึ่งกำหนดขั้นต้นไว้ คือ 1.ยุติความรุนแรงและจะดูแลคนเหล่านี้อย่างไร 2.เรื่องกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมที่มีการเรียกร้องต่างๆ ซึ่งเราก็รับฟังมาก่อน และจะนำมาหารืออีกที 3.เรื่องการพัฒนาลดความเหลื่อมล้ำ และ 4.เรื่องของอัตลักษณ์ ประเพณี วัฒนธรรมที่ต้องมาพูดคุยกัน
นอกจากนี้ยังมีเรื่องอื่นๆ อีกที่ไม่ได้กล่าวถึง ซึ่งอาจจะมีหลายปัญหา รวมถึงเรื่องกฎหมายอิสลาม ตนได้รวบรวมมาทั้งหมดเพื่อตั้งเป็นหัวข้อ แล้วเดินตามโรดแมพเป็นเรื่องๆ
ลั่นรุนแรงลด-ถอนทหารแน่
“ทั้งหมดจะต้องมาตกลงโดยรัฐบาล ซึ่งคณะกรรมการขับเคลื่อน (ชุด พล.อ.อักษรา) จะเป็นผู้เก็บรายละเอียดเหล่านั้นมา เพื่อกำหนดโรดแมพแต่ละด้านว่าจะใช้เวลาเท่าไร เริ่มพื้นที่ไหน เหมือนอย่างที่ต่างประเทศทำกัน โดยแต่ละขั้นตอนจะพยายามเร่งทำให้เร็วที่สุด เพราะเวลาไม่รอท่า ความสูญเสียมีมากขึ้นหรือลดลงซึ่งเป็นไปตามสถานการณ์ เราอย่าเอากระบวนการสันติสุขมาบีบรัดตัวเอง มันไม่ใช่ แต่ต้องเอากระบวนการสันติสุขมาสร้างการรับรู้ และลดแรงกดดันกับเจ้าหน้าที่รัฐลงให้ได้”
“หากไม่มีการใช้ความรุนแรงเกิดขึ้นก็จะถอนกำลังทหารได้ เหลือเฉพาะทหารพราน อาสาสมัคร และตำรวจในพื้นที่ ไม่ต้องเอาตำรวจ ทหารลงไปเพิ่มอีก วันนี้ต้องกลับไปดูทุกพื้นที่ เพราะเขาใช้ความรุนแรงมาเป็นตัวกำหนด หากไม่มีความรุนแรงเกิดขึ้น จะเอาทหารลงไปให้เปลืองเบี้ยเลี้ยง เปลืองกำลังพลทำไม เพราะทหารก็มีงานอยู่แล้ว ฉะนั้นขั้นตอนที่ 1 ถึง 3 ต้องใช้เวลา” นายกฯระบุ
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวต่อว่า ขั้นตอนที่ 1 จะเกิดได้เร็ว ก็ต่อเมื่อต้องหาให้ได้ว่าใครจะมาพูดคุยและเห็นชอบร่วมกันหรือไม่ ไม่ใช่ฝ่ายการเมืองเห็นชอบ แต่ฝ่ายการทหารบอกไม่ใช่ ฝ่ายผู้เห็นต่างก็มีการแย่งชิงการนำกันอยู่เหมือนกัน ทุกคนก็อยากเป็นใหญ่ เป็นหัวหน้า มีบทบาทในการต่อรองพูดคุย ถ้าทุกคนคิดว่ามันไม่เกิดประโยชน์แล้วทำต่อไปก็ไม่สำเร็จ เหมือนกับการต่อสู้ทางการเมือง ถ้าใช้ความรุนแรงมันก็ไปไม่ได้ อย่างไรเสียมันก็ไม่มีใครคุยด้วย หรือใครอยากจะคุยกับคนที่ผิดกฎหมาย มันก็ไม่ได้
ฉะนั้นต้องให้กระบวนการนี้หาข้อสรุปมาให้ได้ รัฐบาลก็จะมาหารือ สรุปเอาเข้า ครม.ว่าข้อไหนทำได้หรือทำไม่ได้ จะมีกฎหมายพิเศษออกมาหรือไม่
สั่งศึกษามาตรา21-คำสั่ง66/23
“ยกตัวอย่างเช่น มาตรา 21 พ.ร.บ.ความมั่นคง (พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.25514) ที่ใช้ในปัจจุบันได้ผลหรือไม่ ต้องปรับรูปแบบเป็นลักษณะคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 66/23 หรือไม่ แต่ผมได้ให้ข้อห่วงใยไปว่า คำสั่ง 66/23 เป็นเรื่องการเห็นต่างทางการเมืองการปกครองของระบอบคอมมิวนิสต์ หรือระบอบสังคมนิยมหรือไม่ ซึ่งเป็นเรื่องการต่อสู้กับเจ้าหน้าที่รัฐ แต่เรื่องภาคใต้เป็นอาชญากรรมที่มีการฆ่าคนตาย ก็ต้องไปหาทางออก ซึ่งฝ่ายกฎหมายก็รับไป”
ยอมรับขั้นตอนที่ 1 กำหนดเวลาไม่ได้
ผู้สื่อข่าวถามว่า มีการวางแผนหรือไม่ว่าขั้นตอนที่ 1 ต้องใช้เวลาเท่าไร นายกฯ ตอบว่า กำหนดไม่ได้ ขึ้นอยู่กับทางมาเลเซียจะไปรวบรวมกลุ่มที่จะมาพูดคุยได้มากน้อยแค่ไหน และถ้ากลุ่มที่ไม่มาจะทำอย่างไร
“เราจะไปบังคับเขาไม่ได้ ซึ่งกลุ่มเหล่านี้เขาต้องมีความมั่นใจ เขาถึงจะมาร่วมพูดคุย คิดว่าจะได้ประโยชน์อะไรบ้างในการพูดคุย เราต้องตั้งหลักให้ถูก ไม่ใช่เขาเรียกร้องอะไรมา และใช้ความรุนแรงมากำหนด แล้วเราก็มากดดันกันเอง ต้องเข้าใจว่าเราไม่ได้เป็นผู้ริเริ่มความรุนแรง ก็ต้องมาทบทวนดู”
ปัดเลิกอัยการศึก-ไม่ปล่อยนักโทษ
เมื่อถามว่าทั้ง 3 ขั้นตอน รัฐบาลไหนเข้ามาก็สามารถดำเนินการต่อได้เลยใช่หรือไม่ นายกฯ ตอบว่า ก็ต้องดำเนินการต่อ แต่ถ้าจะไม่เดินตามนี้ ก็ต้องมีแนวทางที่ดีกว่านี้ ไปหามาว่ามีอะไรดีกว่านี้ไหม
เมื่อซักว่า เป้าหมายการลงสัตยาบัน จะทำให้ได้ในปีนี้หรือไม่ นายกฯ ตอบว่า เรากำหนดเองไม่ได้ ขึ้นอยู่กับผู้เห็นต่างว่าจะคุยกับเราหรือเปล่า ถามต่อว่าเมื่อขั้นตอนที่ 1 ไม่เกิด ขั้นตอนที่ 2 และ 3 จะเกิดไม่ได้ใช่หรือไม่ นายกฯ ตอบว่า “ก็เกิดไง อย่างน้อยถ้าสมมติว่ามีสัก 90 เปอร์เซ็นต์ คนเหล่านี้ก็ร่วมกับเรา แล้วเขาก็จะไปกดดันพวกนั้นให้เข้ามา ซึ่งเขาก็ต้องช่วยเราด้วย สัญญาณโดยรวมก็น่าจะดีขึ้น”
“ผมได้สั่งแม่ทัพภาคที่ 4 ไปแล้วว่า ถ้าเขาเสนอหรือเรียกร้องอะไรมา เราไม่ต้องไปตอบโต้อะไรทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มไหน เสนออะไรมาเราก็รับ แล้วค่อยเอาไปพูดในคณะพูดคุย ถ้ามาตอบโต้กันทางสื่อก็จะมีความรุนแรง ก็จะกดดันเราอยู่แบบนี้ มันไม่ได้ เราอย่าไปขยายความให้เขา อย่าไปเปิดพื้นที่ข่าวให้เขา ถ้าไปเปิดพื้นที่ข่าว เขาก็จะประสบความสำเร็จ ถ้าเรายกเลิกกฎอัยการศึกถอนทหารออกไป ผมขอถามว่าใครจะรับผิดชอบหากมีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้น” นายกฯระบุ
และว่า “เราจะคุยกับกลุ่มที่มาร่วม ส่วนผู้ที่ไม่มา เราก็ทำอะไรไม่ได้ สำหรับกลุ่มพูโลที่มีการเรียกร้องให้ปล่อยนักโทษนั้น เราก็คงจะทำตามข้อเรียกร้องไม่ได้ เพราะต้องดำเนินการไปตามกฎหมาย ต้องหาความชัดเจนก่อนว่าใครทำผิดอะไร ถ้ารับกันตรงนี้ไม่ได้ ปัญหามันก็จะอยู่แบบนี้ สู้กันอยู่แบบนี้ อายเขานะ”
ย้ำไม่ใช่คุยสันติภาพ-โอไอซีเข้าใจ
พล.อ.ประยุทธ์ ยังกล่าวอีกด้วยว่า รัฐบาลต้องมั่นคงและแสดงความจริงใจในการที่จะทำให้สันติสุขเกิดขึ้นให้ได้ อย่าไปใช้คำว่า “สันติภาพ” เพราะเราไม่ได้มีการสู้รบกัน เป็นเรื่องการกระทำผิดกฎหมายและการบังคับใช้กฎหมาย ถ้าสู้รบคือสองฝ่าย อย่างในต่างประเทศเวลานี้ที่มีการใช้กองกำลังยึดเมืองสู้กัน อย่างนั้นคือ Peace talking การพูดคุยสันติภาพ เอากำลังที่โน่นที่นี่เข้าไปปราบปราม หยุดความรุนแรงที่เกิดขึ้น
“ผมไม่อยากให้ไปถึงตรงนั้น เราไม่ต้องการให้ต่างชาติเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้อง วันนี้ได้อธิบายให้โอไอซี (องค์การความร่วมมืออิสลาม) ก็เข้าใจเราแล้วในระดับหนึ่ง เขาก็ไม่มายุ่งเกี่ยว เพราะเขาเห็นแผนเห็นการปฏิบัติ ซึ่งก็ดีขึ้นตามลำดับ วันนี้พวกเห็นต่างยังมีเยอะ ฉะนั้นผู้ที่เห็นต่าง นอกจากผู้ที่ก่อเหตุรุนแรง เรายังเอากลุ่มนักวิชาการต่างๆ มาเป็นคณะที่ปรึกษาเพื่อหาข้อสรุป และนำมาสู่การพิจารณาของคณะนโยบาย เพื่อขับเคลื่อน ฉะนั้นอย่าเอามาพันกัน” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว