นิวยอร์กยอมจ่ายกว่า 120 ล้านบาทคดีตร.ยิงผิวสี

นายนิโคลัส เปาลุชชี โฆษกฝ่ายกฎหมายของนครนิวยอร์ก แถลงเมื่อวันศุกร์ว่า หลังการประเมินข้อเท็จจริงเกี่ยวกับคดีตำรวจผิวขาวยิงวัยรุ่นผิวสีในเขตบร็องซ์เมื่อปี 2555 รวมถึงการหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างสำนักงานตำรวจนิวยอร์ก ทางการตัดสินใจยอมความกับครอบครัวผู้เสียชีวิต โดยยินดีจ่ายค่าเสียหายเป็นเงิน 3.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (127.6 ล้านบาท) เนื่องจากเห้นว่าเป็นทางเลือกที่เหมาะสมที่สุดในขณะนี้ โดยทางคู่กรณีจะให้ความเห็นต่อเรื่องดังกล่าวในวันจันทร์

นายรามาร์ลีย์ เกรแฮม วัยรุ่นผิวดำวัย 18 ปี ถูกยิง 1 นัด เข้าที่หน้าอกจนเสียชีวิตในห้องน้ำของบ้านพักในเขตบร็องซ์ ซึ่งเป็นบ้านที่เขาอาศัยอยู่กับย่าและญาติพี่น้องคนอื่นๆ อีกรวม 3 ครอบครัว เมื่อเดือน ก.พ. 2555 หลังตำรวจวิ่งไล่ตามเขาเข้าไปในบ้านหลังดังกล่าว ระหว่างการตามสืบสวนคดียาเสพติด โดยนายริชาร์ด เฮสต์ ตำรวจผิวขาวผู้ลั่นไกให้การว่า เขาคิดว่านายเกรแฮมมีปืนและกำลังจะยิงใส่เขา แต่จากการตรวจสอบที่เกิดเหตุไม่พบปืนในบ้านหลังดังกล่าว

นายเฮสต์ถูกจับกุมในปีเดียวกันพร้อมถูกตั้งข้อหาฆ่าผู้อื่น แต่คดีถูกศาลยกฟ้องในเวลาต่อมา เนื่องจากผู้พิพากษาเห็นว่า พนักงานอัยการกระทำการไม่เหมาะสม ในการชี้แนะคณะลูกขุนให้เพิกเฉยพยานหลักฐานจากฝ่ายจำเลยที่ระบุว่า  นายเฮสต์ได้รับแจ้งเตือนทางวิทยุให้ระวังว่านายเกรแฮมอาจมีปืน โดยหลังจากนั้นคณะลูกขุนชุดที่ 2 ก็ปฏิเสธที่จะยื่นฟ้องซ้ำ แต่อัยการกลางเขตแมนฮัตตันกำลังทำการสืบสวนเกี่ยวกับสิทธิพลเมือง

คดีของนายเกรแฮมถูกอ้างถึงหลายครั้งในการประท้วงเรียกร้องความยุติธรรมสำหรับกรณีที่คล้ายคลึงกัน ทั้งในคดีของนายไมเคิล บราวน์ วัยรุ่นผิวสีวัย 18 ปี จากย่านเซนต์หลุยส์ในเมืองเฟอร์กูสันของรัฐมิสซูรี ซึ่งถูกเจ้าหน้าที่ยิงเสียชีวิตเมื่อปีที่แล้ว และอัยการสั่งไม่ฟ้องเจ้าหน้าที่ผู้ก่อเหตุเช่นกัน รวมถึงคดีของนายเอริค การ์เนอร์ ชาวผิวดำร่างใหญ่วัย 43 ปี ที่ถูกเจ้าหน้าที่ล็อกคอขณะเข้าตรวจค้นบุหรี่ผิดกฎหมายบนทางเท้าริมถนนแห่งหนึ่งบนเกาะสแตเทน นครนิวยอร์ก จนเป็นเหตุให้เขาเสียชีวิต ซึ่งนำไปสู่การตั้งประเด็นในเรื่องอำนาจของตำรวจและอคติทางเชื้อชาติ

ทั้งนี้ กรณีของนายเกรแฮมนับเป็นรายล่าสุด ของการยอมความนอกศาลในคดีสิทธิพลเมืองที่มีการฟ้องร้องต่อตำรวจหรือเจ้าหน้าที่เรือนจำของนิวยอร์ก ในสมัยแรกของการดำรงตำแหน่งของนายกเทศมนตรีบิล เดอ บลาซิโอ โดยก่อนหน้านี้มีการดำเนินการไปแล้วจำนวนหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นการจ่ายค่าเสียหาย 41 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (1,342 ล้านบาท) ในคดีเดอะ เซนทรัล ปาร์ค ไฟว์ ที่ผู้ต้องสงสัย 5 คน ถูกกล่าวหาว่าฆ่าข่มขืนนักวิ่งจอกกิ้งในสวนสาธารณะ เมื่อปี 2532 หรือคดีชายคนหนึ่งถูกแก๊งอาชญากรรมฆ่าเมื่อปี 2529 หลังตำรวจปล่อยข่าวเกี่ยวกับผู้ต้องสงสัยที่มีชื่อเดียวกัน ซึ่งครอบครัวได้รับค่าชดเชยไป 5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (163.7 ล้านบาท) รวมถึงคดีของนายการ์เนอร์ก็ยังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาการเจรจาจ่ายค่าเสียหายแก่ครอบครัวเป็นเงิน 75 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (กว่า 2,455 ล้านบาท)

ความคิดเห็น

comments

ใส่ความเห็น