นักวิทย์ยุ่นเพาะพันธุ์ทูน่ายักษ์ด้วยปลาแมคเคอเรล

นักวิทยาศาสตร์จากหลายสถาบันทั่วญี่ปุ่น พยายามหาทางเพาะพันธุ์ปลาทูน่าครีบน้ำเงินแปซิฟิก หรือปลาทูน่ายักษ์ ที่เป็นอาหารชั้นเลิศสำหรับชาวญี่ปุ่น หลังเมื่อเดือน พ.ย. ที่ผ่านมา สหภาพนานาชาติเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติและทรัพยากรธรรมชาติ (ไอยูซีเอ็น) จัดลำดับสถานะการอนุรักษ์ (Conservation Status) ให้มันอยู่ในกลุ่มสิ่งมีชีวิตที่มีความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ (Threatened Species) ซึ่งถึงแม้จะมีความเสี่ยงน้อยกว่าญาติของมันอย่างปลาทูน่าครีบน้ำเงินทางใต้และทูน่าครีบน้ำเงินแอตแลนติก ที่ถูกจัดอยู่ในกลุ่มสิ่งมีชีวิตที่ใกล้สูญพันธุ์ แต่ก็เป็นสายพันธุ์ที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา มีความพยายามเพาะเลี้ยงปลาทูน่ายักษ์ แต่ยังคงห่างไกลจากความสำเร็จ หนึ่งในอุปสรรคสำคัญคือวงจรชีวิตของมัน โดยต้องใช้เวลานานถึง 5 ปี เพื่อเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ซึ่งถือว่านานมาก และในการเพิ่มน้ำหนักตัวแต่ละกิโลกรัม มันต้องกินอาหารมากถึง 20 – 40 กิโลกรัม ซึ่งตัวเต็มวัยจะมีน้ำหนักอยู่ที่ราว 100 กิโลกรัม นอกจากนี้ มันยังมักจะว่ายชนผนังอ่างเลี้ยงจนเสียชีวิต ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ระบุว่า เป็นผลมาจากสติปัญญาที่อยู่ในระดับต่ำของมัน

นายโกโร่ โยชิซากิ ผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยโตเกียว มีแนวคิดจะแก้ปัญหาเหล่านี้ในการเพาะพันธุ์ โดยการให้ปลาแมคเคอเรลทำหน้าที่เปรียบเสมือนพ่อแม่อุ้มบุญ ด้วยการฉีดเซลล์สืบพันธุ์ของปลาทูน่ายักษ์ เข้าไปยังอวัยวะสืบพันธุ์ของตัวอ่อนปลาแมคเคอเรล เมื่อพวกมันโตเต็มที่ ปลาแมคเคอเรลตัวเมียจะผลิตไข่ของทูน่ายักษ์ ขณะที่ปลาแมคเคอเรลตัวผู้ก็จะผลิตสเปอร์มของทูน่ายักษ์เช่นกัน และเมื่อผ่านกระบวนการผสมพันธุ์ตามธรรมชาติ พวกมันก็จะให้กำเนิดทายาทที่เป็นทูน่ายักษ์ออกมา

ข้อได้เปรียบที่แมคเคอเรลมีเหนือทูน่าคือ มันไม่ใช่สิ่งมีชีวิตใกล้สูญพันธุ์ และใช้เวลาเข้าสู่ช่วงเจริญพันธุ์เพียง 1 ปี เท่ากับว่าสามารถขยายพันธุ์ได้เร็วขึ้น 5 เท่าเมื่อเทียบกับทูน่ายักษ์ นอกจากนี้ มันยังมีขนาดเล็กกว่า มีน้ำหนักเพียงประมาณ 3 ขีด จึงไม่ต้องใช้พื้นที่มากในการเลี้ยง และยังกินอาหารน้อยกว่า จึงช่วยลดต้นทุนและอาจทำให้ผลผลิตมีราคาถูกลง อีกทั้งมันยังอยู่ในวงศ์ปลาอินทรีย์ (Scombridae) เช่นเดียวกัน จึงมีลักษณะทางพันธุกรรมที่ใกล้เคียงกัน อย่างไรก็ตาม อาจต้องใช้เวลานานถึง 10 ปี ที่การทดลองซึ่งจะเริ่มขึ้นในปีนี้ จะก้าวไปสู่ระดับที่จะนำไปใช้ในเชิงพาณิชย์ได้ และยังมีคนตั้งคำถามว่า งานนี้ปลาแมคเคอเรลจะรู้สึกอย่างไร เมื่อมันต้องให้กำเนิดศัตรูของตัวเอง เพราะตามธรรมชาติแล้ว ทูน่ายักษ์ล่าแมคเคอเรลเป็นอาหาร

ความคิดเห็น

comments

ใส่ความเห็น