กล่องดำทรานส์เอเชียพบข้อมูลเครื่องยนต์ไฟไหม้ อีกเครื่องนักบินสั่งปิดการทำงาน

ไขปริศนา ‘กล่องดำ’ เครื่องบินทรานส์เอเชีย แอร์เวย์ส เที่ยวบิน GE235 พบเครื่องยนต์ทั้งสองตัวหยุดการทำงานก่อนดิ่งแม่น้ำ ขณะยอดผู้เสียชีวิตล่าสุดเขยิบไปที่ 35 ศพ เจ้าหน้าที่ยังคงระดมกำลังค้นหาผู้สูญหายอีก 8 ราย ท่ามกลางอุปสรรคจากสภาพอากาศเลวร้ายและซากปรักหักพัง

สภากำกับดูแลความปลอดภัยทางการบินของไต้หวัน ซึ่งทำหน้าที่สืบสวนเหตุโศกนาฏกรรมครั้งนี้ เผย (6 ก.พ.) รายงานการตรวจสอบเครื่องบันทึกข้อมูลการบิน (กล่องดำ) ของเครื่องบินใบพัดสองเครื่องยนต์เทอร์โบพรอบ รุ่น ATR72 เที่ยวบิน จีอี235 ระบุเครื่องยนต์ตัวหนึ่งเกิดไฟลุกไหม้ ขณะที่เครื่องยนต์อีกตัวถูกนักบินสั่งปิดการทำงาน

“ไฟสัญญาณแจ้งเหตุเพลิงไหม้ที่เครื่องยนต์ตัวหนึ่งสว่างขึ้น ณ เวลา 10.53.28 น. ระหว่างเครื่องบินกำลังไต่ระดับความสูงขึ้นไปที่ 1,200 ฟุต” โทมัส หวัง ประธานสภาฯ กล่าวถึงเครื่องยนต์ปีกขวาของเครื่องบิน

“จากนั้นเครื่องยนต์อีกตัว (ปีกซ้าย) ก็ถูกสั่งปิดการทำงานลงโดยนักบิน และแม้นักบินพยายามเปิดการทำงานอีกครั้งก็ไม่เป็นผล ซึ่งหมายความว่าช่วงเวลาสุดท้ายของการบิน ไม่มีเครื่องยนต์ตัวไหนช่วยส่งแรงผลักให้กับเครื่องบินเลย โดยเราได้รับสัญญาณ ‘เมย์เดย์’ (Mayday) ณ เวลา 10.54.35 น.”

หวังกล่าวว่า ยังไม่มีข้อสรุปชัดเจนว่าทำไมเครื่องยนต์ปีกซ้ายจึงถูกนักบินสั่งปิดการทำงานลง โดยปัจจุบัน “เรายังไม่ชี้ชัดตัดสินความใดๆ ทั้งสิ้น”

ขณะที่ไฟล์ทเรดาร์24 (Flightradar24) เว็บไซต์ผู้ให้บริการข้อมูลการจราจรทางอากาศยอดนิยมแสดงความเห็นว่า “เหมือนนักบินจะปฏิบัติงานผิดพลาด” โดยเว็บฯ ทวีตข้อความบนโลกออนไลน์ไว้ว่า “ข้อมูลจากกล่องดำชี้ว่านักบินอาจปิดเครื่องยนต์ผิดตัว ทำให้สูญเสียพลังงานทั้งหมดลงในเวลาหนึ่งนาทีหลังจากออกบิน”

รายงานฯ ฉบับแรกข้างต้นประกาศออกมาไม่นาน หลังมีรายงานเจ้าหน้าที่กู้ภัยค้นพบศพนักบินอยู่ในสภาพมือทั้งสองข้างยังคงกุมคันบังคับแน่น ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเขาพยายามควบคุมเครื่องบินหลบหลีกพื้นที่ชุมชนอย่างสุดกำลังความสามารถ

ภาพและคลิปวีดีโอที่ประชาชนในละแวกใกล้เคียงที่เกิดเหตุบันทึกไว้ได้ เผยให้เห็นเครื่องบินของสายการบินทรานส์เอเชีย ซึ่งเพิ่งทะยานออกจากท่าอากาศยานซงซันของกรุงไทเปได้ไม่กี่นาที ร่อนเอียงผ่านหมู่ตึกสูงก่อนแฉลบชนสะพานทางหลวง และตกลงกลางแม่น้ำคีลุงทางตอนเหนือของเกาะไต้หวัน

ผู้โดยสารและลูกเรือรวม 58 คน ต่างประสบชะตากรรมอันเลวร้ายแตกต่างกันไป โดยมีผู้รอดชีวิตเพียง 15 คน ส่วนที่เหลือเสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 35 ราย และอีก 8 ราย อยู่ระหว่างการค้นหาตามลำน้ำและซากปรักหักพังของเจ้าหน้าที่กู้ภัย

เหลียว เฉียนซุง (Liao Chien-tsung) นักบินผู้ขับเครื่องบินลำเกิดเหตุ ได้รับการยกย่องเป็น ‘ฮีโร่’ สำหรับความพยายามครั้งสุดท้ายที่จะประคับประคองเครื่องบินให้พ้นพื้นที่อาคารอันเป็นแหล่งชุมชน โดยไชน่า ไทม์ส สื่อจีนรายงานว่า ร่างของเขาถูกพบในห้องนักบิน สภาพที่มือทั้งสองข้างยังกุมคันบังคับ แต่ส่วนขาถูกบดขยี้แหลกละเอียดไปแล้ว

“เขาดิ้นรนจับยึดคันบังคับจนกระทั่งวินาทีสุดท้ายก่อนเครื่องบินดิ่งกระแทกแม่น้ำ พยายามจะควบคุมทิศทางการบิน เพื่อลดการบาดเจ็บและสูญเสียชีวิต” รายงานข่าวอ้างเจ้าหน้าที่ฝ่ายสืบสวนรายหนึ่ง

คลาร์ก หลิน หัวหน้ากองมาตรฐานการบิน สถาบันการบินพลเรือน (CAA) ของไต้หวัน เผยว่า เครื่องบินลำดังกล่าวเคยประสบปัญหาเกี่ยวกับเครื่องยนต์มาก่อนหน้านี้ ระหว่างเที่ยวบินส่งมอบจากบริษัทผู้ผลิต เอทีอาร์ (ATR) สัญชาติอิตาลี-ฝรั่งเศส โดยต้นทางจากเมืองตูลูซของฝรั่งเศสผ่านเกาะมาเก๊า และสิ้นสุดปลายทางที่เกาะไต้หวัน

“เครื่องยนต์ตัวหนึ่งเกิดเสียพลังงานระหว่างเที่ยวบิน ต่อมามันถูกสับเปลี่ยนเครื่องยนต์ตัวใหม่โดยซัพพลายเออร์รายหนึ่ง” หลินกล่าวพร้อมเสริมว่าเครื่องยนต์ Pratt & Whitney อาจมีปัญหาด้านการประกอบชิ้นส่วน

ด้านหน่วยงานการบินพลเรือนของฝรั่งเศสเปิดเผยว่า จะจัดส่งทีมเจ้าหน้าที่ฝ่ายสืบสวนสองนายและเจ้าหน้าที่ของเอทีอาร์อีกสี่นาย เดินทางไปช่วยเหลือการทำงานของเจ้าหน้าที่ไต้หวัน

 

ขณะที่นักกฎหมายจำนวนมากในไต้หวันได้เรียกร้องให้มีคำสั่งระงับการดำเนินงานของสายการบินทรานส์เอเชีย แอร์เวย์ส โดยประเด็นนี้หัวหน้าหลินระบุว่า สายการบินฯ ล้มเหลวจะตอบสนองต่อข้อกำหนดต่างๆ ของสถาบันการบินพลเรือน

“สิ้นสุดเดือนธ.ค. ที่ผ่านมา ทรานส์เอเชียยังไม่สามารถทำตามข้อกำหนดราวหนึ่งในสาม ที่ต้องการให้สายการบินยกระดับความปลอดภัย พัฒนาการฝึกหัดบุคลากร และทบทวนการปฏิบัติงาน” หลินกล่าว โดยสำทับว่าหากยังทำไม่ได้ก่อนขีดเส้นตายเดือนมิ.ย. นี้ ก็ต้องเผชิญบทลงโทษหนักเบาไปตามขอบเขตของการละเมิดกฎข้อบังคับ

สถาบันฯ เผยอีกว่า พบนักบินของทรานส์เอเชียสองนาย ทำงานเกินกำหนดเวลา 32 ชั่วโมงบินต่อสัปดาห์ แต่ไม่ใช่นักบินสองนายที่ขับเครื่องบินลำเกิดเหตุล่าสุด ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ได้สั่งตรวจเช็คความปลอดภัยของเครื่องบิน ATR จำนวนทั้งหมด 22 ลำ ของสองสายการบินไต้หวัน ขณะเดียวกันก็สั่งห้ามทรานส์เอเชียร้องขอเปิดเส้นทางบินใหม่เป็นเวลาหนึ่งปีเต็ม

ด้านสายการบินทรานส์เอเชียเผยว่า สายการบินฯ ได้เสนอ “เงินปลอบขวัญ” จำนวน 1.2 ล้านดอลลาร์ไต้หวัน (ราว 1.2 ล้านบาท) ให้กับครอบครัวของเหยื่อผู้เสียชีวิตทุกคน และเงินจำนวน 2 แสนดอลลาร์ไต้หวัน (ราว 2 แสนบาท) ให้กับผู้บาดเจ็บจากเหตุเครื่องบินตกนี้

อนึ่ง เหตุการณ์เครื่องบินตกครั้งนี้นับเป็นโศกนาฏกรรมหนที่สองของทรานส์เอเชีย ที่เกิดขึ้นในรอบเจ็ดเดือนหลังจากเครื่องบินโดยสารรุ่นเดียวกัน เที่ยวบิน GE222 ตกกระแทกพื้นบริเวณหมู่บ้านซีชุน ใกล้สนามบินหม่ากงบนเกาะเผิงหู่ของไต้หวัน ในเดือนก.ค. ปีก่อน เป็นผลให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 48 ราย

ความคิดเห็น

comments

ใส่ความเห็น