ยันหวัดใหญ่ H3N2 ระบาดหนักฮ่องกงไม่น่าห่วง เป็นไข้หวัดฤดูกาลในไทย

วันนี้ (6 ก.พ.) นพ.โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กล่าวถึงกรณีข่าวการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ H3N2 ในฮ่องกง ที่ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก ว่า ขณะนี้ยังไม่น่าเป็นห่วง เพราะไข้หวัดชนิดนี้พบได้ทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยด้วย ที่สำคัญโรคไข้หวัดใหญ่เป็นไข้หวัดตามฤดูกาลเท่านั้น เนื่องจากโรคนี้มักพบมากในช่วงอากาศเย็น คือ ช่วงหน้าหนาวและหน้าฝน ดังนั้น ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ที่มีอากาศหนาวเย็นอาจเจ็บป่วยด้วยอาการไข้หวัดใหญ่ได้ง่าย โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในพื้นที่แออัดมีโอกาสป่วยเป็นโรคนี้ได้สูงกว่าพื้นที่อื่นๆ

นพ.โสภณ กล่าวว่า จากข้อมูลการเฝ้าระวังโรคไข้หวัดใหญ่ของกรมควบคุมโรค โดยสำนักระบาดวิทยา ตั้งแต่ 1 มกราคม – 2 กุมภาพันธ์ 2558 พบผู้ป่วยด้วยโรคไข้หวัดใหญ่ จำนวน 4,041 ราย เสียชีวิต 4 ราย กลุ่มที่ป่วยมากที่สุด คือ ช่วงอายุ 10 – 14 ปี (ร้อยละ 11.75) รองลงมาคือ อายุ 25 – 34 ปี และอายุ 7 – 9 ปี ตามลำดับ ส่วนจังหวัดที่มีอัตราป่วยสูงสุด 5 อันดับแรก คือ เชียงใหม่ ลำปาง ลำพูน พระนครศรีอยุธยา และ พะเยา

“ผู้ที่ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่ อาการมักเริ่มด้วยการเป็นไข้ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อมาก ในเด็กอาจพบอาการคลื่นไส้ อาเจียน ท้องร่วง ส่วนใหญ่มักมีอาการไม่รุนแรง อาการจะทุเลาและหายป่วยภายใน 5 – 7 วัน แต่บางรายที่มีอาการปอดอักเสบรุนแรง จะมีอาการหายใจเร็ว เหนื่อย หอบ หายใจลำบาก อาจทำให้เสียชีวิตได้สำหรับการรักษาโรคไข้หวัดใหญ่ จะรักษาตามอาการ ถ้ามีไข้ให้ใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดตัว หากไข้ไม่ลดให้รับประทานยาลดไข้ เช่น พาราเซตามอล นอนหลับพักผ่อน ให้ดื่มน้ำมากๆ และสวมหน้ากากป้องกันโรคเพื่อป้องกันการแพร่กระจายโรคไปสู่ผู้อื่นในกรณีที่ต้องไปยังที่สาธารณะ หากอาการไม่ดีขึ้นใน 48 ชั่วโมง หรือมีอาการรุนแรงให้พบแพทย์ทันที” อธิบดี คร. กล่าว

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ รองอธิบดี คร. กล่าวว่า โรคไข้หวัดใหญ่สามารถป้องกันได้ด้วยตนเอง เช่น การล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำและสบู่ ไม่ใช้สิ่งของร่วมกับผู้อื่น ไม่คลุกคลีใกล้ชิดกับผู้ป่วยที่มีอาการไข้หวัด หลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานที่ที่มีผู้คนแออัดและอากาศถ่ายเทไม่ดีเป็นเวลานานโดยไม่จำเป็น และติดตามคำแนะนำจากกระทรวงสาธารณสุขอย่างใกล้ชิด ส่วนผู้ที่ดูแลและคลุกคลีกับผู้ป่วย ควรสวมหน้ากากป้องกันโรค หมั่นล้างมือด้วยน้ำและสบู่บ่อยๆ โดยเฉพาะเวลาสัมผัสน้ำมูก น้ำลาย สัมผัสตัว หรือข้าวของเครื่องใช้ผู้ป่วย ดูแลสุขภาพอนามัยตนเอง หลังจากดูแลผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด

ความคิดเห็น

comments

ใส่ความเห็น