“พาณิชย์” เอาจริง! เตรียมใช้กฎหมายจัดการร้านค้าออนไลน์เถื่อนเอาเปรียบผู้บริโภค เตือนจดทะเบียนให้ถูกต้องเพื่อพิสูจน์ความมีตัวตน และป้องกันปัญหาการหลอกลวง พร้อมหนุน SMEs ใช้อี-คอมเมิร์ซค้าขายสินค้า สอดรับกับนโยบายเศรษฐกิจดิจิตอลของรัฐบาล เตรียมจัดมหกรรมลดราคาสินค้าผ่านเว็บไซต์รับเทศกาลวาเลนไทน์
นายวิชัย โภชนกิจ รองอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยว่า กรมฯ ขอแจ้งเตือนไปยังผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ที่เปิดร้านค้าขายสินค้าออนไลน์ให้มายื่นจดทะเบียนพาณิชย์ให้ถูกต้องภายใน 30 วัน นับจากวันที่ได้ประกอบธุรกิจ หากไม่ดำเนินการกรมฯ จะบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังตาม พ.ร.บ.ทะเบียนพาณิชย์ พ.ศ. 2499 และจะขอความร่วมมือไปยังตลาดกลางพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ สมาคมผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ สมาคมผู้ดูแลเว็บไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ต่ออายุการให้บริการแก่ผู้ประกอบการและเว็บไซต์รายนั้นๆ
“ต่อไปกรมฯ จะถือว่าคนโพสต์ขายสินค้า ถ้าไม่จดทะเบียนให้ถูกต้องจะถือเป็นคนขายเถื่อน เป็นเว็บไซต์เถื่อน ไม่น่าเชื่อถือ เพราะระบุตัวตนไม่ได้ ผู้บริโภคก็ไม่ควรให้ความเชื่อถือในการเข้าไปเลือกซื้อสินค้า ซึ่งถือเป็นมาตรการที่จะช่วยป้องกันไม่ให้ผู้บริโภคโดนเอารัดเอาเปรียบ และถูกโกง เพราะไม่มีหลักประกันอันใดในการพิสูจน์ว่าคนขายตั้งใจที่จะทำธุรกิจออนไลน์จริง แต่ถ้ามาจดทะเบียนให้ถูกต้องก็จะถือว่าเป็นผู้ที่มีความตั้งใจที่จะทำธุรกิจ และผู้บริโภคเชื่อถือได้” นายวิชัยกล่าว
ทั้งนี้ การจดทะเบียนพาณิชย์จะเกิดประโยชน์โดย 1. สร้างการมีตัวตนตามกฎหมาย ทำให้ได้รับความน่าเชื่อถือและสร้างโอกาสทางการตลาด 2. ใช้เป็นเอกสารหลักฐานแสดงตัวตนเพื่อทำธุรกรรมทางธุรกิจ เช่น สถาบันการเงิน 3. ได้รับสิทธิสมัครขอใช้เครื่องหมาย DBD Registered และ DBD Verified ของกรมฯ ซึ่งเป็นเครื่องหมายรับรองความน่าเชื่อถือในการประกอบธุรกิจอี-คอมเมิร์ซที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล และ 4. ได้รับการส่งเสริมและได้รับสิทธิเข้าร่วมกิจกรรมที่กรมฯ หรือหน่วยงานพันธมิตรของกรมฯ จัดขึ้น
นายวิชัยกล่าวว่า มาตรการดังกล่าวเป็นการเพิ่มความเข้มงวดในการดูแลการค้าขายออนไลน์ที่กำลังมีการขยายตัวเพิ่มมากขึ้น และสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการสนับสนุนเศรษฐกิจดิจิตอล ซึ่งกรมฯ จะเร่งสนับสนุนให้ผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็ก (SMEs) ใช้ของทางอี-คอมเมิร์ซในการขยายตลาดและขยายธุรกิจทั้งในและต่างประเทศ โดยมีแผนที่จะฝึกอบรมตั้งแต่เริ่มต้นการทำธุรกิจไปจนถึงการฝึกอบรมขั้นสูงสำหรับผู้ประกอบการที่ทำธุรกิจอี-คอมเมิร์ซมาแล้ว
อย่างไรก็ตาม เพื่อเป็นการดูแลผู้บริโภคที่ได้รับผลกระทบจากการซื้อขายออนไลน์ กรมฯ ได้จัดตั้งศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทการซื้อ-ขายออนไลน์ขึ้น เพื่อยุติปัญหาจากการซื้อขายสินค้าหรือบริการทางออนไลน์ระหว่างผู้ประกอบการกับผู้บริโภคที่อาจเกิดขึ้นตามแนวโน้มการขยายตัวของธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ ทั้งนี้ กรมฯ จะทำหน้าที่ติดต่อและประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อติดตามข้อเท็จจริงและไกล่เกลี่ยข้อพิพาทที่ได้เกิดขึ้น โดยธุรกิจออนไลน์สามารถยุติปัญหาลงได้ โดยไม่เผยแพร่สู่สาธารณะจนทำให้เกิดความเสียหายแก่เว็บไซต์และผู้ประกอบการจนยากจะแก้ไข