ข้อมูลจากรายงานล่าสุดของสำนักงานสหประชาชาติเพื่อการประสานงานกิจการมนุษยธรรมชี้กว่า 60 เปอร์เซ็นต์ของเงินช่วยเหลือที่ทั่วโลกประกาศทุ่มเทให้กับชาติในแอฟริกาตะวันตก เพื่อต่อกรกับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสมรณะ “อีโบลา” ในช่วงที่ผ่านมานั้น “ไปไม่ถึงมือผู้รับ”
รายงานล่าสุดซึ่งจัดทำโดยสำนักงานสหประชาชาติเพื่อการประสานงานกิจการมนุษยธรรมและมีการเผยแพร่ในวันอาทิตย์ (8 ก.พ.) ระบุว่า ในช่วงที่ผ่านมาประเทศต่างๆทั่วโลกมีการประกาศให้คำมั่นว่าจะมอบเงินช่วยเหลือแก่ประเทศในภูมิภาคแอฟริกาตะวันตกเป็นวงเงินสูงถึงเกือบ 2,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 94,670 ล้านบาท) เพื่อรับมือกับการระบาดของเชื้ออีโบลา
อย่างไรก็ดี ในความเป็นจริงแล้วกลับพบว่า มียอดเงินเพียงแค่ราว 40 เปอร์เซ็นต์หรือราว 1,090 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 35,580 ล้านบาท) เท่านั้น ที่ไปถึงมือของรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในแอฟริกาตะวันตก ขณะที่อีก 60 เปอร์เซ็นต์“ไปไม่ถึงมือผู้รับ” ในปี 2014 ที่ผ่านมา
แคเรน เกรพิน หนึ่งในทีมงานนักวิจัยที่จัดทำรายงานชุดนี้ระบุว่า ความล่าช้าของรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในแอฟริกาตะวันตก รวมถึงองค์กรระหว่างประเทศอย่างองค์การอนามัยโลก(WHO) ในการตอบสนองต่อการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสมรณะอีโบลา กลายเป็นต้นเหตุสำคัญที่ทำให้บรรดาประเทศผู้บริจาคไม่ยอมบริจาคเงินตามที่เคยประกาศเอาไว้
นอกจากนั้น ปัญหาการทุจริตโกงกินของเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นในแอฟริกาตะวันตก ยังถือเป็นอีกมูลเหตุสำคัญที่ทำให้เงินบริจาคจากนานาชาติไปไม่ถึงมือผู้รับที่ต้องการความช่วยเหลืออย่างแท้จริง
ทั้งนี้ ข้อมูลล่าสุดขององค์การอนามัยโลกนับถึงวันที่ 3 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมาระบุว่า การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสอีโบลาในแอฟริกาตะวันตกตั้งแต่ช่วงต้นปีที่แล้วส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตสูงถึง 9,019 คน จากจำนวนผู้ติดเชื้อ 22,560 ราย