ไฟใต้คุโชนมานานกว่า 10 ปี แม้วันนี้เหตุรุนแรงเริ่มลดลงบ้าง แต่คดีความต่างๆ ที่เข้าสู่ศาลก็ปรากฏเป็นข่าวความคืบหน้ามากขึ้่นเรื่อยๆ
แน่นอนว่าการพิพากษาลงโทษผู้ก่อเหตุรุนแรงเป็นข่าวอยู่บ่อยครั้ง แต่การกระทำละเมิด ล่วงล้ำสิทธิมนุษยชน หรือปฏิบัติการเกินกว่าเหตุของฝ่ายรัฐ ก็มีคดีอยู่ไม่น้อยเช่นกัน
โดยเฉพาะคดีในศาลปกครอง!
ศาลรับฟ้องคดีวิฯปริศนาที่รือเสาะ
เมื่อวันที่ 2 ก.พ.58 ศาลปกครองสงขลามีคำสั่งรับคำฟ้องไว้พิจารณา ในคดีหมายเลขดำที่ 155/2557 ซึ่ง น.ส.ซำซียะห์ หะยีมะตะโละ และบุตรผู้เยาว์ 3 คน กับมารดาของผู้ตาย ในฐานะผู้ฟ้องคดีที่ 1 ถึง 5 ยื่นฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และ 2 กรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจยิง นายสูเพียง สาและ ถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 5 ต.ค.56 ที่หมู่บ้านสะแนะ ต.เรียง อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส โดยศาลยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลทั้งหมดให้แก่ผู้ฟ้องคดีทั้งห้า
ในเหตุการณ์เดียวกันนี้ที่หมู่บ้านสะแนะ ศาลปกครองสงขลาได้รับฟ้องโดยยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลทั้งหมดให้แก่ผู้ฟ้องคดีซึ่งเป็นญาติของผู้ตาย คือ นายสูเพียง สาและ กับ นายอุสมาน เด็งสาแม ซึ่งรายหลังศาลปกครองรับฟ้องและยกเว้นค่าธรรมเนียมไปเมื่อวันที่ 22 ม.ค.58 เป็นคดีหมายเลขดำที่ 156/2557
คดีนี้สืบเนื่องจาก เมื่อวันที่ 5 ต.ค.56 เจ้าหน้าที่ตำรวจสังกัดศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศชต.) ได้สนธิกำลังร่วมกับเจ้าหน้าที่ทหาร เข้าปฏิบัติการปิดล้อมตรวจค้นในพื้นที่บ้านสะแนะ หมู่ 1 ต.เรียง อ.รือเสาะ ระหว่างการปิดล้อมตรวจค้นบ้านเลขที่ 12/4 ในหมู่บ้านดังกล่าว นายสูเพียง สาและ กับ นายอุสมาน เด็งสาแม ได้สมัครใจออกมาแสดงตนให้เจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจค้นและควบคุมตัวโดยปราศจากอาวุธหรือสิ่งผิดกฎหมายใดๆ ซึ่งทั้งสองคนถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจใช้สายพลาสติกมัดมือทั้งสองข้างเอาไว้ แล้วนำไปควบคุมรวมกับบุคคลอื่นที่สนามหญ้านอกบริเวณบ้านที่เกิดเหตุ
หลังจากนั้นได้เกิดเหตุยิงปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจกับผู้ต้องสงสัยที่ยังหลบอยู่ในบ้าน กระทั่งเหตุการณ์สงบลง ผู้ที่ยิงปะทะกับเจ้าหน้าที่เสียชีวิตบนบ้านที่เกิดเหตุ 2 คน และเจ้าหน้าที่ตำรวจได้รับบาดเจ็บ 2 คน (ต่อมาเสียชีวิต)
แต่ต่อมาปรากฏว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจได้นำตัว นายสูเพียง สาและ กับ นายอุสมาน เด็งสาแม ซึ่งถูกพันธนาการและควบคุมตัวไว้แล้วดังกล่าวกลับเข้าไปในบริเวณพื้นที่เกิดเหตุอีก โดยนำตัว นายสูเพียง เข้าไปภายในบ้านที่เกิดเหตุ และนำตัว นายอุสมาน เข้าไปในสวนยางพาราหลังบ้าน อ้างว่าจะนำไปชี้ยืนยันตัวผู้ตาย และชี้จุดตรวจค้นอาวุธ
หลังจากนั้นนายสูเพียง กับ นายอุสมาน ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจยิงเสียชีวิต ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจอ้างว่าทั้งสองคนที่ถูกควบคุมตัวเข้าไปนั้นได้ไปนำอาวุธมาต่อสู้กับเจ้าหน้าที่
เหตุการณ์ดังกล่าวนำมาซึ่งความเคลือบแคลงสงสัยของชาวบ้านและญาติของผู้ตายเป็นอย่างยิ่ง และเห็นว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจกระทำการเกินกว่าเหตุ ทำให้บุคคลทั้งสองถึงแก่ความตาย จึงนำมาสู่การฟ้องคดีดังกล่าว โดย น.ส.ซำซียะห์ หะยีมะตะโละ ภรรยา และบุตรผู้เยาว์ 3 คน กับมารดาของนายสูเพียง ได้ยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครองสงขลา เรียกร้องให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติและสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นหน่วยงานต้นสังกัดของเจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ รับผิดชอบชดใช้ค่าเสียหายจากการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำละเมิดต่อสิทธิเสรีภาพในชีวิตของผู้ตาย โดยเรียกค่าเสียหายทั้งหมดเป็นเงิน 24,127,622.50 บาท
ตุลาการแถลงคดีชี้ประเด็น นศ.ยะลาถูกซ้อม
อีกคดีหนึ่ง เมื่อต้นเดือน ม.ค.58 ที่ศาลปกครองสูงสุด ชั้น 3 ห้องพิจารณาคดีที่ 12 ศาลออกนั่งพิจารณาคดีครั้งแรกในคดีระหว่าง นายอิสมาแอ เตะ ผู้ฟ้องคดีที่ 1 และ นายอามีซี มานาก ผู้ฟ้องคดีที่ 2 กับกองทัพบก ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และกระทรวงกลาโหม ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 กรณีการใช้อำนาจตามพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พ.ศ.2457 ของเจ้าหน้าที่ทหารในการควบคุมตัวนักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏยะลาโดยมิชอบ
ตุลาการศาลปกครองสูงสุดออกนั่งพิจารณาคดี พร้อมตุลาการผู้แถลงคดี ขณะผู้ฟ้องคดีที่ 1 ได้แถลงด้วยวาจาต่อศาลยืนยันว่าตนเองถูกซ้อมทรมานและทำร้ายร่างกายโดยเจ้าหน้าที่ทหารจริง ปรากฏตามใบรับรองแพทย์ จึงขอให้ศาลปกครองสูงสุดได้โปรดพิจารณาค่าเสียหายจากการถูกทำร้ายร่างกายและซ้อมทรมานตามมาตรา 32 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550
คดีนี้ศาลปกครองสงขลา มีคำพิพากษาเมื่อปลายเดือน พ.ย.54 ให้กองทัพบกและกระทรวงกลาโหมจ่ายค่าเสียหายกรณีที่สองนักศึกษากล่าวหาว่าถูกทหารใช้อำนาจตามกฎอัยการศึกจับกุมโดยมิชอบ คือ ควบคุมตัวเกินกำหนดเวลาที่กฎหมายให้อำนาจ และทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียง จำนวน 505,000 บาทตามฟ้อง แต่ก็ยืนยันว่าเจ้าหน้าที่ทหารมีอำนาจจับกุมและควบคุมตัว ขณะที่ข้อกล่าวหาเรื่องซ้อมทรมาน ศาลไม่ได้เชื่อตามฟ้องทั้งหมด
ต่อมาทั้งผู้ฟ้องคดีและผู้ถูกฟ้องคดีได้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด และเมื่อต้นเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา ตุลาการผู้แถลงคดีได้ชี้แจงด้วยวาจาประกอบคำแถลงการณ์เป็นหนังสือต่อหน้าศาลปกครองสูงสุด สรุปประเด็นได้ดังต่อไปนี้
ประเด็นแรก เจ้าหน้าที่ทหารมีอำนาจควบคุมตัวผู้ฟ้องคดีมาตั้งแต่ต้นหรือไม่
วินิจฉัยว่า เจ้าหน้าที่ทหารมีอำนาจควบคุมตัว แม้ตามอุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดีทั้งสองจะโต้แย้งว่า เจ้าหน้าที่ทหารไม่ได้แสดงพยานหลักฐานตามที่กล่าวอ้างว่าตรวจพบประกาศกระทรวงกลาโหมเกี่ยวกับการกำหนดชนิดยุทธภัณฑ์ที่ต้องขออนุญาต ข้อมูลเกี่ยวกับอาวุธที่ควรรู้ เอกสารเกี่ยวกับสถานการณ์การก่อความไม่สงบ ภาพการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ รูปภาพของเจ้าหน้าที่ตำรวจภูธรยะลา ภาพการประกอบระเบิดเคลย์โมร์ และไฟล์การรวบรวมระเบิดต่างๆ มาแสดงต่อศาลตามที่กล่าวอ้าง แต่เนื่องจากมีผู้ที่ถูกออกหมายจับอาศัยอยู่ในบ้านพักที่ผู้ฟ้องคดีทั้งสองพักอาศัยอยู่ด้วย ก็ถือว่ามีเหตุเพียงพอให้เจ้าหน้าที่ทหารใช้อำนาจตามกฎหมายเข้าตรวจค้นและควบคุมตัวผู้ฟ้องคดีทั้งสองได้
ส่วนการควบคุมของเจ้าหน้าที่ทหารมีอำนาจตามมาตรา 15 ทวิ พระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พ.ศ.2457 ซึ่งกำหนดให้ควบคุมตัวได้ไม่เกิน 7 วัน แต่การควบคุมตัวผู้ฟ้องคดีทั้งสองรวม 9 วัน จึงเป็นการกระทำโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายและเป็นการละเมิดผู้ฟ้องคดีทั้งสอง
ทั้งนี้ ตามที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 อุทธรณ์โต้แย้งว่าในระหว่างถูกควบคุมตัวพบข้อเท็จจริงใหม่อันเป็นเหตุให้ควบคุมตัวผู้ฟ้องคดีทั้งสองต่อนั้น เห็นว่าฟังไม่ขึ้น เนื่องจากต้องปฏิบัติตามที่กฎหมายกำหนด
และที่ผู้ถูกฟ้องคดีอุทธรณ์ว่าตนไม่ต้องรับผิดตามมาตรา 16 พระราชบัญญัติกฎอัยการศึกฯนั้น ศาลวินิจฉัยว่าการกระทำที่ได้รับการคุ้มครองตามมาตรา 16 นั้น ต้องเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยชอบตามกฎหมายด้วย เมื่อมีการกักตัวเพื่อซักถามเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด จึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และไม่ได้รับการคุ้มครองตามมาตรา 16 ถือเป็นการกระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดีทั้งสอง
ประเด็นที่สอง ผู้ฟ้องคดีทั้งสองควรได้รับค่าเสียหายเพิ่มเติมตามที่ขอท้ายฟ้องหรือไม่
วินิจฉัยว่า แม้ศาลปกครองสามารถนำมาตรา 438 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาบังคับใช้ได้โดยอนุโลม และกำหนดค่าเสียหายตามความร้ายแรงแห่งการละเมิดก็ตาม แต่เมื่อพิจารณากฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และอัตราในการจ่ายค่าตอบแทนแก่ผู้เสียหายและค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา พ.ศ.2546 ข้อ 3 ซึ่งออกตามความในพระราชบัญญัติค่าตอบแทนแก่ผู้เสียหายและค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา พ.ศ.2544 อันเป็นกฎหมายที่มีเจตนารมณ์เพื่อแก้ไขเยียวยาและเพื่อสร้างความเป็นธรรมในสังคม จึงนำมาใช้กับคดีนี้ได้เพื่อความเป็นธรรมกับทั้งผู้ฟ้องคดีและผู้ถูกฟ้องคดี
เห็นว่า ในระหว่างการกักตัวผู้ฟ้องคดีทั้งสองไว้เพื่อซักถาม ข้อเท็จจริงต้องรับฟังเป็นที่ยุติว่าบาดแผลบริเวณร่างกายของผู้ฟ้องคดีที่ 1 เป็นบาดแผลที่เกิดขึ้นระหว่างการกักตัวไว้เพื่อสอบถามของหน่วยงานราชการ และปรากฏว่าเจ้าหน้าที่ได้ดำเนินการซักถามจนเกิดบาดแผล ที่ศาลปกครองสงขลาวินิจฉัยว่าเป็นการกระทำละเมิดจึงชอบแล้ว
แต่เห็นว่าคำพิพากษาของศาลปกครองสงขลายังคลาดเคลื่อนไปอยู่บ้างในส่วนของการกำหนดค่าเสียหาย จึงพิพากษาแก้เป็นให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 จ่ายค่าเสียหายตามกฎกระทรวงฯ ข้างต้น กล่าวคือ ค่ารักษาพยาบาลและค่าฟื้นฟูสมรรถภาพทางร่างกายและจิตใจเป็นเงินคนละ 30,000 บาท (กฎกระทรวงกำหนดค่ารักษาพยาบาลให้จ่ายตามจริงแต่ไม่เกิน 30,000 บาท และค่าฟื้นฟูสมรรถภาพทางกายและจิตใจไม่เกิน 20,000 บาท) ส่วนค่าเสียหายตามรัฐธรรมนูญมาตรา 32 นั้น เห็นว่าอยู่ในข้อ 3 (4) ค่าตอบแทนค่าเสียหายอื่น กำหนดให้คนละ 15,000 บาท (กฎกระทรวงกำหนดให้จ่ายไม่เกิน 30,000 บาท)
ประเด็นที่สาม ที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 อุทธรณ์ว่าค่าเสียหายในการถูกควบคุมตัวเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดที่ศาลปกครองสงขลากำหนดค่าเสียหายให้ผู้ฟ้องคดีทั้งสองคนละ 250,000 บาทนั้น สูงเกินไปหรือไม่
เห็นว่า ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองถูกควบคุมตัวเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดเพียง 2 วัน เมื่อพิจารณากฎกระทรวงดังกล่าวข้างต้น ซึ่งกำหนดค่าขาดประโยชน์ทำมาหาได้ในระหว่างที่ไม่สามารถประกอบการงานได้ตามปกติ ให้จ่ายในอัตราวันละไม่เกิน 200 บาท ดังนั้นจึงเห็นควรกำหนดค่าเสียหายในส่วนนี้ให้ผู้ฟ้องคดีทั้งสองคนละ 400 บาท (กฎกระทรวงกำหนดให้จ่ายวันละ 200 บาท เป็นระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี)
รวมค่าเสียหายที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ต้องชดใช้แก่ผู้ฟ้องคดีที่ 1 และที่ 2 เป็นเงินคนละ 45,400 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่ผู้ฟ้องคดีทั้งสอง
อนึ่ง คำแถลงการณ์ของตุลาการผู้แถลงคดี ไม่ใช่คำพิพากษาของศาล และไม่ผูกพันต่อคำพิพากษาของตุลาการเจ้าของสำนวน
ข้อมูลจากสำนักข่าวอิศรา