สำนักพิมพ์เล็กๆ เจ้าหนึ่งของญี่ปุ่นตีพิมพ์การ์ตูนจากนิตยสารแนวเสียดสี ชาร์ลี เอ็บโด ออกมาเป็นหนังสือ 3,000 เล่ม ซึ่งรวมไปถึงภาพการ์ตูนล้อเลียนศาสดาโมฮัมเม็ดที่เคยตกเป็นประเด็นโต้เถียงกันอย่างกว้างขวาง
“คุณใช่ชาร์ลีหรือเปล่า อิซูรามุ เฮอิโตะ คะ ฟุชิ คะ (นี่เป็นการเสียดสีหรือเกลียดชังศาสนาอิสลามหรือไม่)” เป็นความพยายามที่จะจุดกระแสการโต้เถียงเรื่องรูปแบบของเสรีภาพในการพูดขึ้นมาในญี่ปุ่น อากิระ คิตางาวะ ผู้บริหารสำนักพิมพ์ ได-ซัน โชคัน ซึ่งมีฐานอยู่ที่กรุงโตเกียว กล่าว
การ์ตูนราว 40 ชิ้นงานถูกตีพิมพ์ขึ้นมาใหม่อีกครั้งโดยถูกแปลเป็นภาษาญี่ปุ่น ซึ่งรวมถึงชิ้นงานที่ล้อเลียนสมเด็จพระสันตะปาปา , ฟรองซัวส์ โอลลองด์ ประธานาธิบดีฝรั่งเศสและวิกฤตนิวเคลียร์ฟูกูชิมะในปี 2011 ของญี่ปุ่น
อย่างไรก็ตาม ในภาพการ์ตูนที่ถูกอ้างว่าเป็นท่านนบีมูฮัมหมัด ศ็อลลั๊ลลอฮุอลัยฮิวะซัลลัม ปรากฏว่ามีการเซ็นเซอร์ใบหน้าของท่านไว้ ขณะที่ตัวละครอื่นๆ ไม่มีการทำเช่นนี้
“มีคนแนะนำว่าการเบลอภาพเช่นนี้จะทำให้เกิดความแตกต่างเล็กน้อยสำหรับชาวมุสลิม” คิตางาวะ บอกกับเอเอฟพี “แม้จะมีคนอื่นเห็นว่ามันไม่ได้สร้างความแตกต่างอะไรมากมายเลยก็ตาม” เขากล่าวเสริม
ประชากรมุสลิม ซึ่งมีอยู่ไม่มากนักในญี่ปุ่น ปะท้วงการตีพิมพ์ดังกล่าว โดยระบุว่า การตีพิมพ์การ์ตูนเช่นนี้เป็น “การดูหมิ่น”
อย่างไรก็ตาม คิตางาวะ กล่าวว่า เจตนาของเขาคือการชี้ให้เห็นว่า การ์ตูนพวกนี้เป็นการยั่วยุโดยไม่จำเป็น
เขาบอกกับเอเอฟพีว่า “หนังสือเล่มนี้บ่งบอกอย่างชัดเจนว่า ชาร์ลี เอ็บโด ไม่ใช่นิตยสารที่ดี ฉะนั้นมันไม่สมเหตุสมผลเลยที่คนมุสลิมจะไม่พอใจกับหนังสือเล่มนี้”
ญี่ปุ่นไม่ได้มีประเพณีการวาดการ์ตูนเสียดสีมากนัก นักวิจารณ์บางคนให้ความสำคัญกับความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในสังคมและการไม่สร้างความขุ่นเคืองใจกับผู้คน
ชาวญี่ปุ่นสะพรึงกลัวต่อเหตุโจมตีสำนักงานของ ชาร์ลี เอ็บโด และร้านขายของชำของชาวยิวที่คร่าชีวิตผู้คนไป 17 ราย โดยมีหลายคนแสดงความสงสัยว่า ผู้มีความเชื่อเหล่านี้สามารถเอาความรุนแรงมาใช้ในนามของศาสนาได้อย่างไร
ประชาชนส่วนใหญ่ในแดอาทิตย์อุทัยประกอบพิธีกรรมตามหลักศาสนาพุทธที่นำเข้ามาและชินโตที่มีอยู่เดิมผสมปนเปกันตามแต่โอกาส แม้ว่าบางคนจะบอกว่าตนเองเป็นคนเคร่งศาสนาก็ตาม
สำนักพิมพ์ ได-ซัน โชคัน ซึ่งมีประวัติกับประเด็นโต้เถียงที่สุ่มเสี่ยงหลายครั้ง ก่อนหน้านี้เคยนำข้อมูลเกี่ยวกับการสืบสวนต่อต้านก่อการร้ายโดยตำรวจ ซึ่งมีข้อมูลจำนวนมากมุ่งไปที่ชาวมุสลิมในญี่ปุ่น กลับมาตีพิมพ์อีกครั้ง
นอกจากนี้ สำนักพิมพ์เจ้านี้ยังเคยตีพิมพ์ชีวประวัติของเจ้าหญิง มาซาโกะ ในฉบับแปลภาษาญี่ปุ่นเมื่อปี 2007
“เจ้าหญิง มาซาโกะ : นักโทษแห่งบัลลังก์เบญจมาศ” (Princess Masako: Prisoner of the Chrysanthemum Throne) ซึ่งเดิมทีถูกเขียนโดย เบ็น ฮิลส์ นักข่าวชาวออสเตรเลีย เคยเป็นชนวนให้รัฐบาลญี่ปุ่นออกแสดงการประท้วง
ทั้งนี้ความแตกต่างของการ์ตูนดังกล่าวคือกรณีของการล้อเลียนผู้นำประเทศ หรือผู้นำคริสต์จักร เป็นการล้อเลียนดูหมิ่นที่ตัวบุคคล แต่การ์ตูนดูหมิ่นอิสลามเป็นการพุ่งเป้าดูหมิ่นที่ศาสนา