ลือ ICAO อาจขึ้นแบล็กลิสต์สายการบินของไทย หลัง “ยูเอ็น” เล็งบีบ “เอเชีย” เพิ่มมาตรฐาน

การเดินทางอากาศด้วยสายการบินสัญชาติเอเชียดูเหมือนไม่ปลอดภัยอีกต่อไป และความปลอดภัยในการเดินทางอากาศในเอเชียถูกตั้งคำถาม เมื่อโยงไปถึงเหตุการณ์สลดที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปีที่ผ่านมา ซึ่งล้วนเกิดขึ้นกับสายการบินสัญชาติเอเชียทั้งสิ้น ล่าสุดมีรายงานว่า ICAO องค์กรรับรองมาตรฐานการบินพลเรือนนานาชาติ ภายใต้สังกัดขององค์การสหประชาชาติเข้ามาตรวจสอบมาตรฐานความปลอดภัยของกรมการบินพลเรือน ที่เสี่ยงอาจถูกลดลำดับความน่าเชื่อถือ จากหมวดเอ ลงไปอยู่ที่หมวดบี หลังICAO ตรวจพบไทยออกใบอนุญาตให้กับบริษัทการบินในประเทศโดยที่ไม่ได้ส่งคนไปอบรมกับICAO ตามที่องค์กรกำกับการบินของยูเอ็นกำหนดไว้ และสายการบินสัญชาติไทยอีกร่วม 28 บริษัทอาจโดนขึ้นแบล็กลิสต์ห้ามบินตามไปด้วย หลังวอลสตรีทเจอร์นัล รายงานว่า ICAO ประกาศที่จะเดินหน้าผลักดันให้ชาติเอเชียเพิ่มมมาตรฐานความปลอดภัยทางการเดินทางอากาศหลังเกิดอุบัติเหตุทางอากาศบ่อยครั้งกับสายการบินเอเชีย

วอลสตรีทเจอร์นัล รายงานล่าสุดถึง สาเหตุการเกิดโศกนาฎกรรมทางอากาศที่บ่อยครั้งนับตั้งแต่ในปีที่ผ่านมาจนมาถึงล่าสุดเกิดขึ้นกับสายการบินทรานส์เอเชียสัญชาติไต้หวัน เป็นผลทำให้ ICAO องค์กรรับรองมาตรฐานการบินพลเรือนนานาชาติ ภายใต้สังกัดองค์การสหประชาชาติ มีความห่วงใยในความปลอดภัยทางการเดินทางอากาศในเอเชีย และทางหน่วยงานต้องการใช้มาตรการเพื่อผลักดันรัฐบาลชาติต่างๆในเอเชียปรับปรุงมาตรฐานความปลอดภัยให้สูงขึ้นที่ล่าสุด ดูเหมือนไทยตกเป็นหนึ่งในประเทศที่โดน ICAO เข้าตรวจสอบ และอาจมีความเป็นไปได้ว่า กรมการบินพลเรือนที่ดูแลการบริหารจัดการอุตสาหกรรมการบินของไทยอาจถูกลดระดับความน่าเชื่อถือ จากการรายงานของสื่อไทยภาคภาษาอังกฤษ บางกอกโพสต์ เมื่อวานนี้(10) และสื่อไทยอื่นๆในประเทศ เช่น ไทยรัฐ และโพสต์ทูเดย์ พบว่าอาจกระทบไปถึงสายการบินของไทยอีก 28 บริษัทที่อาจได้รับผลกระทบถูกขึ้นแบล็กลิสต์ด้วยการถูกสั่งห้ามบินไปยังประเทศต่างๆหลายประเทศ เนื่องจากไม่ทำตามมาตรฐาน ICAO  ที่ำกำหนดไว้

ทั้งนี้พบว่ามีความเป็นไปได้สูงที่การบินพลเรือนอาจถูกลดระดับจาก ICAO  จากหมวดเอไปยังหมวดบี ซึ่งโพสต์ทูเดย์ชี้ว่า ICAO อาจถือเหตุลดระดับความน่าเชื่อถือ หลังได้เข้ามาประเมินไทยเมื่อวันที่ 19- 30 มกราคม ที่ผ่านมาและพบว่าไทย “ไม่ได้ทำตามข้อกำหนดขององค์กรรับรองมาตรฐานการบินพลเรือนนานาชาติ” เช่น การบินพลเรือนออกใบอนุญาตมาตรฐานความปลอดภัยให้กับผู้ประกอบกิจการบินทั้งๆที่ทางหน่วยงานไม่ได้ส่งคนไปเข้ารับการอบรมเพื่อเรียนรู้ตามมาตรฐาน ICAO ประเภทนั้นๆตามที่องค์กรกำกับการบินของยูเอ็นกำหนด และเมื่อทาง ICAO ได้เข้าตรวจสอบสายการบินเหล่านั้นที่ได้รับใบอนุญาต กลับพบว่า มีบางบริษัทไม่ผ่านมาตรฐานของ ICAO แต่การบินพลเรือนกลับแก้ปัญหาด้วยการเรียกใบอนุญาตกลับคืนจากบริษัทสายการบินทั้ง 28 แห่ง

และผลจากการที่สายการบิน 28 แห่งของไทยไม่ผ่านมาตรฐาน มีความเป็นไปได้ว่าจะไม่สามารถบินเข้าบางประเทศได้ ซึ่งทางบริษัทสายการบินที่ประสบปัญหาต้องทำการตรวจสอบกับประเทศที่มีเส้นทางการบินว่า จะยังคงอนุญาตให้บริษัททำการบินเข้าไปยังประเทศนั้นๆได้หรือไม่

โดยบางกอกโพสต์รายงานเพิ่มเติมว่า สมชาย พิพุธวัฒน์ อธิบดีกรมการบินพลเรือนชี้แจงว่า ที่ผ่านมาทางหน่วยงานได้ออกใบอนุญาตมาตรฐานความปลอดภัยให้กับบริษัทสายการบินที่ทำการบินระหว่างประเทศ 10 แห่ง และบริษัทสายการบินภายในประเทศและเช่าเหมาลำอีก 10 แห่ง รวมไปถึงบริษัทสายการบินขนส่งทางอากาศอีก 1 แห่ง

นอกจากนี้ สำหรับในส่วนสายการบินประจำชาติ หลังจากที่บริษัทการบินไทยตกเป็นข่าวที่ต้องเข้ารับการปรับโครงสร้างเพื่อทำให้ผลประกอบการกลับมาทำกำไรอีกครั้ง ล่าสุดต้องประสบปัญหาเจ้าหน้าที่พนักงานโหลดกระเป๋าของสายการบินผละงานในช่วงสั้นในวันอาทิตย์(8) และตามมาด้วย บริษัทออกประกาศยกเลิกเส้นทางการบินชั่วคราวบางเส้นทางในยุโรปที่ไม่ทำกำไร เช่น เส้นทางการบินไปยังกรุงแมดริด และกรุงมอสโก จนกว่าสภาพทางเศรษฐกิจจะเอื้ออำนวยกว่านี้

จากความเข้มงวดของ ICAO ที่มีต่อไทยนั้น ทางวอลสตรีทเจอร์นัลชี้ว่า เกิดมาจากความห่วงใยขององค์กรกำกับการบินนานาชาติที่ประเมินว่า บางประเทศในแถบเอเชียที่มีการเติบโตทางอุตสาหกรรมการบินสูง และส่งผลให้มีความหนาแน่นในเส้นทางจราจรทางอากาศเพิ่มขึ้น แต่ประเทศนั้นๆกลับล้มเหลวในการเข้ากำกับดูแลความปลอดภัย และนิวยอร์กไทมส์ได้ชี้ว่า จากอุบัติเหตุทางอากาศที่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง ซึ่งล่าสุดเกิดขึ้นกับสายการบินทรานสเอเชีย สัญชาติไต้หวัน ทำให้มีการตั้งคำถามถึงมาตรฐานความปลอดภัยสายการบินสัญชาติเอเชียเหล่านี้ว่ามีมากเพียงใด

ซึ่งในการสัมภาษณ์ในสัปดาห์ที่ผ่านมา เรย์มอนด์ เบนจามิน (Raymond Benjamin) ผู้อำนวยการใหญ่ ICAO เปิดเผยกับวอลสตรีทเจอร์นัลว่า จากสถิติพบว่า 1 ใน 3 ของสายการบินพาณิชย์ตกในเอเชียในช่วงปี 2008 -2012 ส่วนหนึ่งเกี่ยวข้องกับความไม่มีประสิทธิภาพในการกำกับดูแล (Regulatory oversight) อ้างอิงจากรายงานการประชุมนานาชาติว่าด้วยความปลอดภัยทางการบิน ICAO ซึ่งจัดขึ้นในสัปดาห์นี้ที่กรุงมอนทรีออล แคนาดา

รายงานนี้ที่จัดทำโดยแผนกความปลอดภัยเอเชียแปซิฟิกของ ICAO ชี้ว่า “เห็นควรที่จะให้การเพิ่มมาตรการเพื่อทำให้รัฐบาลท้องถิ่นเพิ่มความใส่ใจในมาตรฐานความปลอดภัยในส่วนที่คาดว่าต้องการได้รับการแก้ไขมากที่สุด” และรายงานชิ้นนี้ยังระบุว่า มีเพียงครึ่งหนึ่งของประเทศทั้งหมดในภูมิภาคนี้ที่ปฎิบัติตามมาตรฐานขั้นต่ำของ ICAO ในการตรวจสอบการตกของเครื่องบิน

ด้านแนนซี เกรแฮม ( Nancy Graham) เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยระดับสูงของ ICAO ให้ความเห็นว่า ทางหน่วยงานได้พัฒนาตารางความเสี่ยง  (Risk matrix) ที่มุ่งไปยังการตรวจสอบและการให้ความช่วยเหลือด้านเทคนิกแก่ประเทศที่จำเป็นต้องรับความช่วยเหลือมากที่สุด “เราไปยังประเทศที่ทางเราต้องไปเยือน ซึ่งเป็นประเทศที่เราพบว่ามีความเสี่ยง และเราร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับรัฐบาลท้องถิ่นเพื่อกระตุ้นให้ภาคการเมืองของประเทศนั้นๆเห็นความสำคัญ” เกรแฮมกล่าว และย้ำว่า มีความจำเป็นต้องจัดหา regulator เพิ่มมากขึ้น รวมไปถึงการเสริมมาตรการกำกับดูแลต่างๆ

ซึ่งสาเหตุจากการที่มีงบประมาณจำกัด รวมไปถึงขาดผู้เชี่ยวชาญทางเทคนิก และขาดบุคลากรส่งผลกระทบต่อมาตรการความปลอดภัยในประเทศเอเชียต่างๆที่พบว่า มีการขยายตัวทางอุตสาหกรรมการบินเป็นอันมาก เช่น อินโดนีเซีย มาเลเซีย อินเดีย เวียดนาม และไทย

โดยในส่วนของการบินพลเรือนนั้น สมชายยอมรับถึงปัญหาที่เกิดขึ้นส่วนหนึ่งเนื่องมาจากทางหน่วยงานต้องทำงานทั้งกำกับกิจการบิน รวมไปถึงการบริหารจัดการสนามบินทั้งหมด 28 แห่งทั่วประเทศ และอาจทำให้เกิดผลประโยชน์ทับซ้อน ซึ่งสมชายเผยว่า โดยส่วนตัวเห็นด้วยที่ควรจะแยกออกจากกัน แต่ในทางปฏิบัติทำได้ยาก และนอกจากนี้ทางหน่วยงานยังมีปัญหา ที่บุคลากรของกรมการบินพลเรือนมีจำนวนไม่มาก รวมไปถึงมีอัตราผลตอบแทนจูงใจต่ำ บางกอกโพสต์ รายงานเพิ่มเติม

แต่กระนั้น เกรแฮมชี้ว่า กัมพูชา และเนปาล ถือเป็น 2 ประเทศที่น่าเป็นห่วงมากที่สุดในสายตาของ ICAO ส่วนหนึ่งเป็นเพราะ เมื่อการขยายตัวการท่องเที่ยว หมายความว่าประเทศเหล่านี้ต้องมีแผนเตรียมพร้อมจัดการความปลอดภัยเพื่อรับมือกับนักท่องเที่ยวที่หลังไหลเข้าประเทศ โดยเจ้าหน้าที่ระดับสูงในการบินพลเรือนกัมพูชาเปิดเผยว่า “การตรวจสอบของ ICAO ในปี 2007 ไม่ได้พบปัญหาใหญ่ใดๆ และทางเราพร้อมสำหรับการตรวจสอบในปี 2015 หลังจากที่ผ่านมารัฐบาลกัมพูชาได้ร่วมมือใกล้ชิดกับหน่วยงานกำกับการบินของสหประชาชาติ และกัมพูชาพร้อมทุกประการ”

ด้านเนปาล โมฮาน กฤษณา ซาปโคตา ( Mohan Krishna Sapkota)โฆษกกระทรวงการท่องเที่ยวและการบินเนปาลให้สัมภาษณ์ว่า “อุตสาหกรรมการบินของเนปาลมีความปลอดภัยอย่างสมบูรณ์แบบ และทางเราได้ทำตามทุกสิ่งที่ ICAO กำหนด”

นอกจากนี้เกรแฮมเปิดเผยว่า ทางหน่วยงานยังจัดให้มีการอบรมด้านจัดการความปลอดภัยแก่เจ้าหน้าที่จากหน่วยงานกำกับดูแลความปลอดภัยทางการบินระดับสูงของประเทศต่างๆ เพื่อทำให้มั่นใจว่า เจ้าหน้าที่ปฎิบัติงานในการกำกับดูแลจะสามารถรับรู้ถึงสิ่งผิดปกติได้ทันท่วงที เพื่อให้มีความปลอดภัยเพิ่มมากขึ้น ซึ่งการอบรมในลักษณะนี้เป็นสิ่งจำเป็นมาก

ความคิดเห็น

comments

ใส่ความเห็น