วันนี้ (18 ก.พ.) ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พร้อมด้วย ดร.โยนาส เทคเกิน ผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย แถลงข่าวเกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. … โดย ศ.นพ.รัชตะ กล่าวว่า เมื่อเร็วๆ นี้ พญ.มาร์กาเร็ต ชาน ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก (WHO) และดร.เวอรา ลุยซา ดา คอสตา อี ซิลวา เลขาธิการภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมการบริโภคยาสูบได้ส่งจดหมายถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานออก พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. … ของ สธ.และรัฐบาลไทย โดย พญ.มาร์กาเร็ต เขียนจดหมายระบุชัดเจนว่าสนับสนุนร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว เพราะเป็นการพัฒนามาตรการควบคุมยาสูบตามพันธกรณีภายใต้อนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบองค์การอนามัยโลก ซึ่งไม่แปลกใจที่เห็นปฏิกิริยาจากธุรกิจยาสูบหรือกลุ่มต่างๆ ซึ่งธุรกิจยาสูบได้ดำเนินการในหลายประเทศแต่ไม่สำเร็จ และไม่ควรทำให้รัฐบาลลังเลในการดำเนินการเพื่อปกป้องสุขภาพของคนไทย ส่วน ดร.เวอรา ระบุว่าขอสนับสนุนร่างกฎหมายนี้เช่นกัน เพราะเป็นมาตรการที่เข้มแข็งในการคุ้มครองสุขภาพของประชาชน โดยเฉพาะเด็ก
“ความคืบหน้าในการออกกฎหมาย ขณะนี้ได้รับความคิดเห็นจากทุกกระทรวงที่เกี่ยวข้องเรียบร้อยแล้ว คาดว่าจะเข้าสู่การพิจารณาของ ครม.ในเร็วๆ นี้ ส่วนข้อโต้แย้งต่างๆ นั้นสามารถไปแสดงความคิดเห็นได้ในขั้นตอนการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ ซึ่งหลังจากผ่านกฤษฎีกาก็จะเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) อีก 3 วาระ ส่วนข้อกังวลว่าจะเกิดผลกระทบต่อชาวไร่ยาสูบนั้น หากร่างกฎหมายผ่าน ครม.แล้ว จะมีการตั้งคณะทำงานเพื่อศึกษาผลกระทบว่าเกิดขึ้นหรือไม่ อย่างไร และหากมีผลกระทบจะมีการเยียวยาต่อไป” รมว.สาธารณสุข กล่าว
ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ ที่ปรึกษา รมว.สาธารณสุข กล่าวว่า อนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมการบริโภคยาสูบฯ มีมาตรการเยียวยาอยู่ในมาตรา 17 และ18 โดยร่างแนวทางช่วยเหลือชาวไร่ยาสูบนี้มีมานาน แต่ยังไม่มีการนำแนวทางนี้มาใช้เลย เนื่องจากยังไม่พบว่าเกิดผลกระทบต่อชาวไร่ยาสูบ เพราะหากจะเกิดผลน่าจะใช้เวลานาน ซึ่งแนวทางการเยียวยามาตรา 17 เรื่อง บทบัญญัติเกี่ยวกับการสนับสนุนกิจกรรมทางเลือกที่มีความเป็นไปได้ในทางเศรษฐกิจ และมาตรา 18 เรื่องการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของบุคคล เพื่อเตรียมพร้อมที่จะช่วยเหลือชาวไร่ยาสูบ กรณีที่มีความจำเป็นและเป็นความต้องการของชาวไร่ยาสูบที่ต้องการปลูกพืชทดแทนการปลูกยาสูบ