โอลิเวีย ยอร์นอต ( Olivier Jornot) อัยการสูงสุดสวิสนำทีมบุกเข้าตรวจค้นสำนักงานธนาคารสัญชาติอังกฤษ HSBC ประจำกรุงเจนีวาในวันพุธ(18) หลังล่าสุดธนาคารแห่งนี้ถูกเปิดโปงถึงการพัวพันฟอกเงิน จากที่ก่อนหน้านี้อื้อฉาวในเรื่องบัญชีลับของลูกค้าอภิมหาเศรษฐีใช้ในการเลี่ยงภาษี ในขณะที่ธนาคารแห่งนี้ตกเป็นข่าวโยงถึงเดลี เทเลกราฟ สื่ออังกฤษ ที่ถูกกล่าวหาว่า เม็ดเงินมหาศาลในการโฆษณาต่อสื่ออังกฤษ ส่งอิทธิพลทำให้รายงานเอกซ์คลูซีฟแฉ “ความสัมพันธ์ลึกลับระหว่าง HSBC และรัฐบาลอิหร่าน” ของแฮร์รี วิลสัน ( Harry Wilson) อดีตบก.ด้านเศรษฐกิจไม่ถูกตีพิมพ์ในปีที่ผ่านมา
สื่ออนไลน์ ยูโรเซอร์เวอร์รายงานเมื่อวานนี้(19) ถึงแถลงการณ์ที่ออกมาจากสำนักงานอัยการสวิตเซอร์แลนด์ในการเข้าบุกค้นสำนักงานธนาคาร HSBC ประจำกรุงเจนีวาว่า “การตรวจค้นยังดำเนินต่อไปภายใต้ความยินยอมของธนาคาร HSBC ที่ในการเข้าตรวจค้นครั้งนี้นำโดยโอลิเวีย ยอร์นอต ( Olivier Jornot) อัยการสูงสุดสวิตเซอร์แลนด์ ร่วมกับอัยการ อีฟส์ เบอร์โทสซา (Yves Bertossa) หลังพบเงื่อนงำการพัวพันฟอกเงินอย่างร้ายแรง
ทั้งนี้ข่าว HSBC ถูกเปิดเผยขึ้นหลังจากถูก แอร์เว ฟัลซิอานี (Herve Falciani) อดีตพนักงานด้าน IT ของ HSBC ได้เปิดเผยต่อหนังสือพิมพ์ฝรั่งเศส “เลอมงด์” ถึงความลับที่ทางธนาคารสัญชาติอังกฤษช่วยลูกค้าเจ้าสัวทั่วโลกช่วยเลี่ยงภาษี และต่อสมาคมผู้สื่อข่าวสืบสวนระหว่างประเทศ (International Consortium of Investigative Journalists )หรือ ICIJ ซึ่งเอกสารลับที่บันทึกการกระทำในช่วงปี 2005 – 2007 ชี้ว่า ทางธนาคารได้ช่วยลูกค้าให้สามารถหลบเลี่ยงภาษีหลายล้านดอลลาร์ โดยการอนุญาตให้บรรดาลูกค้าเศรษฐีหมื่นล้านใช้ช่องทางบัญชีลับสวิสเป็นแหล่งซ่อนเงิน และยังให้คำแนะนำถึงช่องโหว่ทางกฎหมายของอียูที่เกี่ยวกับภาษีคำสั่งออมทรัพย์ยุโรป (European Savings Directive)
โดยมีรายละเอียดเพิ่มเติมที่พบว่า หนังสือพิมพ์รายวัน “เลอมงด์” ของฝรั่งเศสได้รับข้อมูลความยาวหลายพันหน้า ซึ่งเอกสารที่ถูกเปิดโปงเหล่านี้ได้ถูกส่งต่อไปยังสมาคมผู้สื่อข่าวสืบสวนระหว่างประเทศ หนังสือพิมพ์ เดอะการ์เดียน บีบีซีพาโนรามา และสำนักข่าวกว่า 50 แห่งทั่วโลก โดยถือเป็นส่วนหนึ่งในการสืบสวนร่วมกัน
เอกสารดังกล่าวมีข้อมูลของลูกค้าชาวอังกฤษเกือบ 7,000 คน และบัญชีโดยมากไม่เคยเปิดเผยให้สรรพากรรับรู้มาก่อน
สำนักงานสรรพากร และศุลกากรอังกฤษ (MHRC) ได้รับข้อมูลเหล่านี้เมื่อปี 2010 และระบุว่า พบว่ามีชาวอังกฤษที่ยังไม่ได้เสียภาษี 1,100 คน แต่แม้ว่าเวลาจะผ่านไปเกือบ 5 ปีแล้ว ก็ยังมีผู้เลี่ยงภาษีถูกดำเนินคดีเพียงรายเดียว
MHRC ระบุว่า ผู้ที่ซุกซ่อนทรัพย์สินไว้ในบัญชีธนาคารที่สวิตเซอร์แลนด์ได้จ่ายภาษี ดอกเบี้ย และค่าปรับรวมเป็นเงิน 135 ล้านปอนด์ (ราว 6,700 ล้านปอนด์)
HSBC ไม่เพียงแต่ทำเป็นไม่รู้ไม่เห็นว่า ลูกค้ากำลังเลี่ยงภาษีเท่านั้น แต่ยังกระทำผิดกฎหมาย ด้วยการลงมือช่วยเหลือลูกค้าในบางกรณี เป็นต้นว่า ออกบัตรเครดิตต่างประเทศแก่ครอบครัวฐานะร่ำรวย เพื่อให้พวกเขาสามารถถอนเงินที่ปกปิดสรรพากรจากตู้กดเงินต่างประเทศ
นอกจากนั้น HSBC ยังได้ช่วยลูกค้าที่เลี่ยงภาษีให้รอดพ้นจากการกฎหมายอีกด้วย
เมื่อมีการบังคับใช้คำสั่งออมทรัพย์ยุโรป (European Savings Directive) เมือปี 2005 ก็มีการกำหนดให้ธนาคารสวิสจะต้องเรียกเก็บภาษีค้างชำระจากบัญชีธนาคารที่ไม่ได้รับการเปิดเผย และส่งภาษีไปยังสรรพากร
ภาษีดังกล่าวถูกกำหนดขึ้นมาเพื่อสกัดผู้หลบเลี่ยงการจ่ายภาษี แต่แทนที่ HSBC จะเรียกเก็บภาษีจากลูกค้า ธนาคารนี้กลับทำหนังสือถึงลูกค้า เพื่อเสนอแนวทางเลี่ยงภาษีรูปแบบใหม่ อย่างไรก็ตาม HSBC ยังยืนกรานปฏิเสธข้อกล่าวหาที่ว่า ผู้ถือบัญชีเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นผู้หนีภาษีโดยทั้งสิ้น
ในเวลานี้ ธนาคารนี้กำลังถูกสอบสวนอาญาทั้งในสหรัฐฯ ฝรั่งเศส เบลเยียม และอาร์เจนตินา HSBC กล่าวว่ากำลัง “ร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจที่เกี่ยวข้อง” แต่ที่อังกฤษ ซึ่งเป็นที่ตั้งสำนักงานใหญ่ของธนาคารแห่งนี้ กลับไม่มีการดำเนินการดังกล่าว
HSBC ระบุว่า ได้สังคายนาธุรกิจการธนาคารเอกชนของทางสถาบันแล้ว รวมทั้งได้ลดจำนวนบัญชีธนาคารจากสวิตเซอร์แลนด์ลงเกือบร้อยละ 70 นับตั้งแต่ปี 2007 และ “ HSBC ได้ดำเนินมาตรการมากมายเพื่อป้องกันไม่ให้มีผู้ใช้บริการธนาคารของตนเป็นช่องทางในการเลี่ยงภาษี หรือฟอกเงิน”
อย่างไรก็ตาม บีบีซีพาโนรามาได้พูดคุยกับแหล่งข่าวคนหนึ่งซึ่งระบุว่า ยังคงพบปัญหาการเลี่ยงภาษีเกิดขึ้นที่ธนาคารHSBC ขณะเธอทำงานที่ธนาคารนี้เมื่อปี 2013
ซู เชลลี เคยเป็นหัวหน้าฝ่ายผู้กำกับดูแลการปฏิบัติงานด้านธุรกิจการธนาคารพาณิชย์ของธนาคารHSBC ในลักเซมเบิร์ก เธอชี้ว่า HSBC ไม่ได้ทำตามสัญญาว่าจะเปลี่ยนแปลงวิธีการดำเนินงานให้โปร่งใสขึ้น “ดิฉันคิดว่าการตกปากรับคำก็เป็นเรื่องที่ดีมาก แต่พวกเขาไม่ได้ลงมือทำจริง และเรื่องนั้นก็เป็นสิ่งที่รบกวนจิตใจดิฉันอย่างรุนแรง”
ทั้งนี้ งานของเชลลี คือการสร้างความมั่นใจว่า HSBC บริหารกิจการอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ทว่า เธอถูกไล่ออกเมื่อยกประเด็นที่เธอกังวลขึ้นหารือ และจากนั้นเธอก็ชนะคดีถูกเลิกจ้างไม่เป็นธรรม
และผลจากข่าวการเลี่ยงภาษีครั้งใหญ่ที่ถูกเปิด คาดกันว่ารัฐบาลในกลุ่มเศรษฐกิจยุโรปต้องสูญเสียเม็ดเงินร่วม 1 ล้านล้านยูโรต่อปี และทำให้สหภาพยุโรปต้องออกมาตรการตอบโต้ เพิ่มมาตรการให้มีความเข้มงวดมากขึ้น และให้มีการยกเครื่องกฎหมายเปิดเผยข้อมูลทางบัญชีออฟชอร์ที่อย่ภายในกลุ่มประเทศสมาชิกมากยิ่งขึ้น และยังรวมไปถึงมีการเจรจาทวิภาคีระหว่างอียูและรัฐบาลสวิสในภาษีเงินฝากในปี 2014
การเปลี่ยนแปลงใหม่ยังรวมไปถึง การให้ข้อมูลเงินคงเหลือทางบัญชีของลูกค้า ดอกเบี้ย เงินปันผล และการขายที่เพิ่มมากขึ้นจากทรัพย์สินทางการเงิน รวมไปถึงข้อมูลอื่นๆ นอกจากนี้รัฐบาลสวิสยังรับปากที่จะออกกฎหมายเพื่อบังคับให้สถาบันการเงินในสวิตเซอร์แลนด์ต้องเปิดเผยข้อมูลเหล้านี้ก่อนปี 2017
นอกจากนี้ ธนาคาร HSBC ยังตกเป็นข่าวฉาวเพิ่มขึ้นเมื่อ บัสฟีด สื่อออนไลน์ รายงานในวันเดียวกัน(19)ว่า หนังสือพิมพ์ เดลี เทเลกราฟ ยักษ์ใหญ่ของวงการสื่ออังกฤษ ได้ปฎิเสธที่จะกล่าวคำขอโทษ ในการไม่เสนอข่าวเอ็กสคลูซีฟในปีที่ผ่านมา ซึ่งเปิดเผยถึงความเชื่อมโยงของ HSBC ที่มีต่อรัฐบาลอิหร่าน โดนบัสฟีดชี้ว่า เป็นข้อมูลเบื้องหลังเจาะลึกที่แฉว่า ทางธนาคารยอมจ่ายร่วมหลายแสนปอนด์เป็นค่าเช่าที่ของสำนักงานสาขากลางกรุงลอนดอนให้กับบริษัทพลังงานอิหร่านที่อยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐบาลเตหะราน
ซึ่งแฮร์รี วิลสัน ( Harry Wilson) อดีตบก.ด้านเศรษฐกิจเป็นผู้เปิดเผยเป็นครั้งแรก และข้อมูลชิ้นนี้ถูกตีพิมพ์ครั้งแรกในหนังสือพิมพ์เดลี เทเลกราฟ เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2014 ที่ในท้ายที่สุดกลับถูกสื่ออังกฤษปรับข้อมูลเจาะลึกชิ้นนี้ให้ลดความสำคัญลง ที่แทบไม่สามารถสังเกตเห็นได้ เหลือเป็นแค่ข่าวย่อยจำนวน 43 คำ ถูกเสนอรวมในข่าวทั่วไปของ HSBC ในหน้าเศรษฐกิจ และเป็นที่น่าเสียดายว่า บทความชิ้นนี้กลับไม่เคยที่จะได้รับการเผยแพร่ทางออนไลน์ชองเดลี เทเลกราฟ และที่สำคัญไปกว่านั้น เนื้อหายังถูกตัดข้อมูลสำคัญในย่อหน้าท้ายของบทความที่ชี้ถึงธนาคาร HSBC ได้จ่ายเงินให้กับรัฐบาลอิหร่านด้วยวิธีใด
และข่าวฉาวชิ้นนี้ยังทำให้ ปีเตอร์ ออสบอร์น ( Peter Oborne) คอมเมนเทเตอร์ด้านการเมืองของเดลี เทเลกราฟที่ทำงานให้เกือบ 5 ปี ต้องลาออกในบ่ายวันอังคาร(17) โดยอ้างเหตุสืบเนื่องมาจากการที่ทางเดลี เทเลกราฟ สื่ออังกฤษยินยอมให้ HSBC เข้ามามีอิทธิพลต่อการนำเสนอข่าวเศรษฐกิจของสิ่งพิมพ์ “เพราะธนาคารแห่งนี้เป็นลูกค้ารายใหญ่ที่ลงโฆษณาให้กับเดลี เทเลกราฟ” ที่หลังจากนั้นพบว่าบทความที่วิพากษ์ HSBC ในแง่ลบได้ถูกถอดออกจากเดลี เทเลกราฟอย่างเป็นปริศนา
ด้าน HSBC แถลงไม่ตอบข้อซักถามถึงเงื่อนงำที่ถูกแฉโดยออสบอร์น แต่อ้างว่าทางธนาคารไม่สามารถมีอิทธิพลเหนือสื่ออังกฤษไปได้ ส่วนเดลี เทเลกราฟปฎิเสธที่จะขอโทษ หรือให้คำอธิบายว่าเหตุใดทางสื่อจึงไม่ตีพิมพ์บทความที่สมบูรณ์ในการแฉ HSBC ของวิลสันลงบนเว็บไซต์ของสื่ออังกฤษ และนอกเหนือไปกว่านี้ ทางสื่ออังกฤษยังปฎิเสธการกล่าวหาของออสบอร์นที่อ้างว่า เดลี เทเลกราฟต้องทำตามความประสงค์ของ HSBC เนื่องจากเม็ดเงินโฆษณามหาศาล
นอกจากนี้บัสฟีดยังชี้เพิ่มเติมว่า ไม่พบสื่อเจ้าอื่นจะติดตามเสนอข่าว “HSBC พัวพันอิหร่าน” จนกระทั่งในอีก 11 วันต่อมาเมื่อสื่อไทม์สได้เสียสละเนื้อที่ในหน้าธุรกิจในฉบับตีพิมพ์เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2014 เสนอบทความที่มีความยาว 467 คำรายงานภายใต้หัวข้อ “HSBC finds political unexploded bomb in London branch” หรือ “HSBC เจอระเบิดการเมืองในสาขากรุงลอนดอน” เปิดโปงความเชื่อมโยงธนาคารอังกฤษและอิหร่าน และสื่อมวลชนอื่นที่เกาะติดหลังจากการรายงานของไทม์ส ต่างยกย่องให้ไทม์สถือเป็นเจ้าแรกที่เปิดโปง โดยไม่ทราบมาก่อนว่า วิลสันจากเดลี เทเลกราฟได้เคยเปิดโปงเรื่องนี้มาก่อนหน้านั้นแล้ว
การรายงานของบัสฟีดยังสอดคล้องกับการเปิดเผยของเดอะการ์เดียน สื่ออังกฤษ ในวันพฤหัสบดี(19) ที่ว่า พื่น้องตระกูลบาร์เคล เฟเดริก และเดวิด บาร์เคล ได้เงินกู้ร่วม 250 ล้านปอนด์ จาก HSBC เพื่อเข้าพยุงกิจการด้านลอจิสติก โยเดล (Yodel)ของตระกูล ไม่นานก่อนที่บรรดานักข่าวของเดลี เทเลกราฟจะถอดใจไม่ยอมเสนอข่าวขุดคุ้ย HSBC อีกต่อไป โดยเดอะการ์เดียนอ้างจากเอกสารของบริษัทชี้ว่า ข้อตกลงสัมฤทธิผลในวันที่ 14 ธันวาคม 2012 ยิ่งเพิ่มเงื่อนงำตอกย้ำเดลี เทเลกราฟเพิ่มเติมไปจากอิทธิพลเม็ดเงินโฆษณาของ HSBC ที่มีต่อสื่ออังกฤษ