มุสลิมนอร์เวย์นับพันแสดงเป็นหนึ่งเดียวกับยิว สกัดพวกตอกลิ้มขัดแย้งในยุโรป

เมื่อวันเสาร์ (21 ก.พ.) ชาวนอร์เวย์ผู้นับถือศาสนาอิสลามรวมตัวกันจัดพิธีรำลึกถึงสันติภาพในกรุงออสโล เพื่อแสดงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกับชาวยิว ภายหลังเกิดเหตุกราดยิงที่โบสถ์ยิว และสถานที่จัดงานสัมมนาหัวข้อเสรีภาพในการพูด ในเมืองหลวงของเดนมาร์ก

ภายหลังชาวยิวกลุ่มเล็กๆ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุทยอยออกมาจากโบสถ์ยิว เมื่อสวดมนต์วันซับบาโตเสร็จสิ้น หนุ่มสาวชาวมุสลิมกลุ่มหนึ่งซึ่งโดยมากเป็นสาววัยรุ่นสวมฮิญาบก็ยืนล้อมวงกลมนอกศาสนสถานแห่งนี้ เรียกเสียงปรบมือเกรียวกราวจากฝูงชนกว่าพันคน

ซีลัน อับดุลเลาะห์ หนึ่งในผู้จัดงานวัย 37 ปีปราศรัยต่อฝูงชนว่า “พิธีวันนี้แสดงให้เห็นว่ามีผู้สร้างสันติภาพมากกว่าผู้ก่อสงคราม”

เรา “ยังคงมีความหวังว่าคนทุกศาสนา ตลอดจนภูมิหลังที่แตกต่างกันจะยังมีมนุษยธรรม สันติภาพ และความรักให้แก่กัน” เขาเสริม ก่อนเริ่มพิธีชับบาโตกลางแจ้งจะเริ่มต้นขึ้น ในยามที่ผู้ชุมนุมมากมายร่วมกันเปล่งเสียงคลอไปกับเสียงสวดภาษาฮิบรู

หัวหน้าแรบไบซึ่งเป็นผู้นำศาสนายิวในนอร์เวย์ดูซาบซึ้งกับภาพตรงหน้าอย่างเห็นได้ชัด เมื่อเขาบอกว่า นี่เป็นครั้งแรกที่มีผู้มาเข้าร่วมพิธีกลางแจ้งมากมายเพียงนี้

มีการวางกำลังตำรวจอย่างแน่นหนาในพิธีวานนี้ (21) โดยมีพลแม่นปืนซุ่มประจำอยู่บนอาคารต่างๆ รอบโบสถ์ยิว แต่ไม่มีรายงานว่าเกิดเหตุไม่สงบใดๆ

หนุ่มสาวชาวมุสลิมพากันคล้องแขนเพื่อสร้างวงกลมแห่งสันติภาพ ซ้อนวงกลมของชาวนอร์เวย์ผู้นับถือศาสนายิว ที่ยืนรอบโบสถ์ยิวอีกทีหนึ่ง โดยพวกเขาทำเช่นนี้เพื่อประณามการก่อเหตุรุนแรงของกลุ่มหัวรุนแรง ที่บุกโจมตีชุมชนชาวยิวในฝรั่งเศสและเดนมาร์ก

ผู้ที่เป็นแรงกระตุ้นให้มีการจัดงานรำลึกครั้งนี้คือบรรดาหนุ่มสาวในชุมชนชาวมุสลิมของนอร์เวย์ ซึ่งคิดเป็นเพียงราวร้อยละ 3 ของประชากรชาวนอร์เวย์ทั้งหมด 5.3 ล้านคน โดยพวกเขาต้องการให้กำลังใจชาวยิวประมาณ 1,300 คนในประเทศนี้ ภายหลังเกิดเหตุถล่มยิงที่กรุงโคเปนเฮเกน ของเดนมาร์ก เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว จนเป็นผลให้อาสาสมัครวัย 37 ที่รักษาความปลอดภัยด้านนอกโบสถ์ยิวในเมืองหลวงของเดนมาร์กเสียชีวิต

มีรายงานว่า มือปืนผู้ก่อเหตุสะเทือนขวัญ ซึ่งตำรวจระบุว่า เป็นชาวเดนมาร์กเชื้อสายปาเลสไตน์วัย 22 ปี ชื่อ อุมัร อัล-ฮุสเซน ได้ถูกปลูกฝังคติหัวรุนแรง ระหว่างที่เขาอยู่ในคุกนาน 2 ปี

ยูสเซฟ บาร์โธ อัสซิดิก ผู้นำยุวชนมุสลิมกล่าวกับเอเอฟพีว่า พิธีรำลึกที่กรุงออสโลแสดงให้เห็นว่า ชาวมุสลิม “ยืนหยัดเพื่อเสรีภาพในการพูด ยืนหยัดเพื่อเสรีภาพในการนับถือศาสนา และยืนหยัดเพื่อกันและกัน”

 

ความคิดเห็น

comments

ใส่ความเห็น