ออสซีปิดข้อมูลการ“ละเมิดสิทธิมนุษยชน”ในศรีลังกา แลกดีลสกัด“เรือผู้อพยพ”

ออสเตรเลียยอมปิดปากเงียบไม่พูดถึงปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนในศรีลังกา เพื่อแลกเปลี่ยนกับการที่โคลอมโบให้ความร่วมมือในการสกัดกั้นไม่ให้ผู้อพยพล่องเรือไปยังแดนจิงโจ้ รานิล วิเกรเมสิงห์ นายกรัฐมนตรีคนใหม่ของศรีลังกาเปิดเผย ในการให้สัมภาษณ์ที่เผยแพร่ในวันนี้ (23 ก.พ.)

วิเกรเมสิงห์ระบุว่า อดีตประธานาธิบดี มหินทา ราชปักษี เคยตกลงจะหยุดยั้งไม่ให้ผู้แสวงหาที่พักพิงล่องเรือไปยังออสเตรเลีย หากแคนเบอร์รารับปากว่าจะไม่ขุดคุ้ยว่า ระบอบปกครองของราชปักษีเคยมีประวัติละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างไรบ้าง

ระหว่างการให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ “ดิ ออสเตรเลียน” วิเกรเมสิงห์ชี้ว่า สายสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นระหว่างนายกรัฐมนตรี โทนี แอบบ็อตต์ แห่งออสเตรเลีย กับราชปักษี ผู้พ่ายการเลือกตั้งเมื่อเดือนที่แล้วนั้นเป็น “ปริศนา” ที่ชาวศรีลังกาไม่เคยล่วงรู้

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีคนใหม่ของโคลอมโบยังระบุด้วยว่า “ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับรัฐบาลชุดก่อน” ก็มีส่วนร่วมในปฏิบัติการลอบขนผู้อพยพด้วย

“เรื่องนี้เป็นฝีมือของคนในแวดวงของราชปักษา แต่ทันทีที่ออสเตรเลีย กับรัฐบาลของราชปักษีทำข้อตกลงฉบับนี้ ที่มีการทำเป็นเอาหูไปนาเอาตาไปไร่ (ในประเด็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน) จากนั้นรัฐมนตรีกลาโหมก็เริ่มสั่งการให้กองทัพเรือออสเตรเลียดำเนินภารกิจตรวจการณ์ทางทะเล” เขาให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์เจ้านี้

“คุณไม่มีทางพาใครออกจากประเทศนี้ โดยไม่มีเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจหน้าที่ด้านความมั่นคงไม่ตำรวจก็ทหารเรือ คอยหลีกทางให้”

ทั้งนี้ การเข้ามาของผู้แสวงหาที่พักพิงทางเรือนั้น ถือเป็นประเด็นทางการเมืองที่มีความอ่อนไหวในออสเตรเลีย ประเทศที่เริ่มส่งผู้อพยพทางเรือไปยังค่ายผู้ลี้ภัยบนเกาะมานัส ในปาปัวนิวกินี และที่นาอูรู

เรือผู้แสวงหาที่พักพิง ที่เสี่ยงเป็นเสี่ยงตายแล่นไปถึงออสเตรเลียนั้น ส่วนใหญ่ดั้นด้นมาจากอินโดนีเซีย ในขณะที่มี 120 ลำมาจากศรีลังกาเมื่อปี 2012 และเมื่อเร็วๆ นี้ทั้งสองชาติได้ร่วมมือกันดำเนินปฏิบัติการปราบปรามผู้อพยพเข้าเมือง

กระนั้น วิเกรเมสิงห์ก็ออกตัวว่า เขาไม่ได้ต่อต้านรัฐบาลออสเตรเลีย เพียงแต่ขอวิงวอนให้ประเทศนี้เรียนรู้จากประสบการณ์

“นอกจากนี้ ยังมีประเทศอื่นๆ บางประเทศที่ให้การสนับสนุนระบอบปกครองของราชปักษีอย่างเต็มที่” เขาระบุกับสื่อแดนจิงโจ้

“เมื่อสิทธิมนุษยชนถูกเหยียบย่ำ และประชาธิปไตยถูกเก็บขึ้นหิ้ง ประเทศเหล่านี้ก็ปิดปากเงียบ ซึ่งกรณีของศรีลังกาก็เป็นเช่นนั้น”

ทั้งนี้ รัฐบาลชุดใหม่ของศรีลังกาได้ให้คำมั่นว่าจะสืบสวนการก่ออาชญากรรมสงครามภายในประเทศ ในสมัยการปกครองของประธานาธิบดีราชปักษี

รัฐบาลชุดก่อนได้คัดค้านไม่ให้องค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ไต่สวนข้อกล่าวหาที่ว่า มีพลเรือนชาติพันธ์ทมิฬมากถึง 40,000 คนถูกสังหารในช่วงไม่กี่เดือน ก่อนที่สงครามสงครามกลางเมืองในศรีลังการะหว่างรัฐบาล กับกลุ่มกบฏพยัคฆ์ทมิฬสิ้นสุดลงเมื่อเดือนพฤษภาคม ปี 2009

ก่อนออกเดินทางไปยังศรีลังกา เพื่อเข้าร่วมการประชุมซัมมิตเครือจักรภพเมื่อปี 2013 แอบบ็อตต์กล่าวว่า เขา “ไม่ได้ต้องการเดินทางไปต่างแดนเพื่อสั่งสอนประเทศอื่นๆ” แต่เขาจะกระตุ้นให้โคลอมโบ “เคารพสิทธิของทุกคน”

โฆษกของแอบบ็อตต์ระบุในวันนี้ (23) ว่า ออสเตรเลียยังคงมีสายสัมพันธ์อันแนบแน่นกับศรีลังกา

วอเกรเมสิงห์กล่าวว่า รัฐบาลของเขามีภารกิจในการสร้างความปรองดองระหว่างชาวสิงหล กับชนกลุ่มน้อยชาวทมิฬในประเทศ ขณะที่เขารับรองว่า นักโทษชาวทมิฬราว 275 คนที่ถูกควบคุมตัวมาเนิ่นนาน โดยไม่มีการตั้งข้อหา ตามกฎหมายป้องกันการก่อการร้ายนั้นจะได้รับการปล่อยตัวในเร็วๆ นี้

ความคิดเห็น

comments

ใส่ความเห็น