ปากีฯแก้ปัญหาเหตุรุนแรง ขีดเส้นตายต้องลงทะเบียนลายนิ้วมือแลกใช้มือถือ

ในความพยายามล่าสุดของรัฐบาลปากีสถานที่จะป้องกันการก่อการร้ายหลังเหตุนักเรียนและครูร่วม 150 คนต้องจบชีวิตในปีที่ผ่านมา นโยบายล่าสุดกำหนดให้เจ้าของโทรศัพท์มือถือต้องแสดงตนโดยการจดทะเบียนลายนิ้วมือกับหน่วยงานรัฐ หรือไม่เช่นนั้นจะไม่ได้รับอนุญาตให้ใช้บริการ ในความคาดหวังว่าจะช่วยยับยั้งเหตุก่อการร้ายที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นที่ใช้โทรศัพท์มือถือเป็นส่วนหนึ่งในการระเบิด ซึ่งเหตุโจมตีโรงเรียนเปชาวาร์ ปากีสถานในปีที่ผ่านมาพบว่าผู้ก่อการร้าย 6 คนใช้โทรศัพท์มือถือจำนวนหนึ่งโดยซิมการ์ดที่จดทะเบียนในนามหญิงคนหนึ่งซึ่งไม่มีความเกี่ยวพันในระหว่างเกิดเหตุ

ASTV รายงานจากหนังสือพิมพ์วอชิงตันโพสต์ สื่อสหรัฐฯ รายงานเมื่อวานนี้ (23) ว่า หลังจากทางการปากีสถานตรวจพบว่า ผู้ก่อการร้าย6 คนที่บุกโจมตีโรงเรียนเปชาวาร์สังกัดกองทัพในเดือนธันวาคม และทำให้มีนักเรียนและครูร่วม 150 คนต้องจบชีวิตในเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ได้ใช้โทรศัพท์มือถือจำนวนหนึ่งซึ่งมีซิมการ์ดซึ่งจดทะเบียนภายใต้ชื่อหญิงคนหนึ่งซึ่งไม่มีความเกี่ยวพัน เป็นผลทำให้รัฐบาลปากีสถานได้ออกมาตรการใหม่เพื่อป้องกันไม่ให้คนร้ายสามารถนำโทรศัพท์เคลื่อนที่ไปใช้ในการก่อเหตุระเบิดได้

ทว่า การล้อมคอกเพื่อกำหนดให้ผู้ใช้โทรศัพท์มือถือในปากีสถานที่พบว่ามีการใช้งานโทรศัพท์มือถือแบบซิมการ์ดร่วม 103 ล้านซิม ทางเจ้าหน้าที่ปากีสถานเองไม่ทราบชัดว่า ทั้งหมดนั้นมีการจดทะเบียนอย่างถูกต้องหรือไม่ แต่กระนั้นเป็นที่แน่ชัดว่า บริษัทผู้ให้บริการสัญญาณเครือข่ายมีเวลาจนถึง 15 เมษายน นี้เพื่อที่จะระบุตัวตนของเจ้าของหมายเลขโทรศัพท์ ซึ่งซิมการ์ดต้องระบุข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ใช้เพื่อความปลอดภัย

ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ปากีสถานเผยว่า ใน 6 สัปดาห์ที่ผ่านมา ซิมการ์ดจำนวน 53 ล้านซิมได้ถูกระบุความเจ้าของโดยประชาชนร่วม 38 ล้านคนผ่านระบบไบโอเมตริกแล้ว “เมื่อซิมการ์ดทุกซิมได้ถูกระบุความมีตัวตนของเจ้าของแล้ว ซิมการ์ดหมายเลขโทรศัพท์ที่เหลือจะถูกปิดและไม่สามารถใช้ได้ต่อไป ซึ่งจะทำให้ผู้ก่อการร้ายไม่สามารถนำโทรศัพท์มือถือไปใช้ก่อเหตุได้ในที่สุด ทางรัฐบาลปากีสถานทราบว่าเป็นงานหนักและยุ่งยากสำหรับทั้งบริษัทผู้ให้บริการเครือข่ายและบรรดาผู้ใช้งานที่เป็นลูกค้า แต่นี่เป็นสิ่งที่ต้องทำเพื่อความปลอดภัยของปากีสถาน” แหล่งข่าวเจ้าหน้าที่ปากีสถานให้ความเห็น

ถึงแม้ปากีสถานที่ต้องผจญกับปัญหาความไม่สงบ และทำให้พลเมืองพบเห็นต่อจุดตรวจทางทหารต่างๆ แต่ทว่าโชเฟอร์แท็กซี่ปากีสถานรายหนึ่งให้ความเห็นกับวอชิงตันโพสต์ว่า “ผมต้องทำงานทั้งวัน และบางทีต้องทำเลยไปถึงช่วงดึก ดังนั้นผมจึงไม่สามารถอดทนที่ต้องรอเข้าคิวเป็นเวลานานหลายชั่วโมงเพียงเพื่อจะทำให้ซิมการ์ดของโทรศัพท์มือถือของผมได้รับการยืนยันจากทางรัฐบาลได้ แต่หากผมไม่ทำเช่นนั้นผมจะไม่สามารถใช้โทรศัพท์มือถือเพื่อติดต่อกับสมาชิกครอบครัวคนอื่นได้ มันเป็นเพียงหนทางการติดต่อเดียวที่ผมจะทำได้ในขณะนี้” อาบิด อาลี ชาห์ (Abid Ali Shah) โชเฟอร์แท็กซี่วัย 50 ปีกล่าว

จากรายงานเวิลด์แบงก์พบว่า อัตราการจดทะเบียนโทรศัพท์เคลื่อนที่ในปากีสถานมีสูงถึง 73% ไม่ต่างไปจากประเทศเพื่อนบ้าน อินเดีย ซึ่งเป็นที่น่าแปลกใจว่าโทรศัพท์มือถือสามารถเข้าถึงบริเวณที่ห่างไกลหรือแม้แต่บริเวณภูเขาสูง ที่ไฟฟ้า และยานพาหนะยากที่เข้าถึง โดยอีก 50 ล้านซิมการ์ดที่ยังไม่ได้รับการยืนยันตัวตนเจ้าของ บริษัทผู้ให้บริกาในปากีสถานได้ส่งทีมงานเข้าไปยังบริเวณที่ห่างไกล และบริเวณเทือกเขาสูงเพื่อแจ้งต่อลูกค้าเหล่านี้ถึงมาตรการใหม่ของรัฐบาลปากีสถาน

วอชิงตันโพสต์รายงานเพิ่มเติมว่า ลายนิ้วมือของเจ้าของโทรศัพท์มือถือจะถูกเปรียบเทียบกับฐานข้อมูลเอกลักษณ์บุคคลของรัฐบาลปากีสถานที่ได้เริ่มต้นสร้างในปี 2005 และสำหรับพลเมืองคนใดที่ยังไม่ได้ให้ข้อมูลเอกลักษณ์บุคคล เช่น ลายนิ้วมือ สแกนม่านตากับทางรัฐ คนเหล่านั้นต้องเริ่มกระบวนการใหม่ทั้งหมดโดยการส่งข้อมูลไปยัง หน่วยงานบัญชีราษฎร์และฐานข้อมูลเอกลักษณ์บุคคลแห่งชาติปากีสถาน (National Database & Registration Authority) และถึงแม้บางส่วนของผู้อาศัยอยู่ในปากีสถานที่ไม่ใช่พลเมือง เช่น ผู้ลี้ภัยอัฟกัน ต้องร้องขอศาลเพื่ออนุญาตให้ใช้บริการโทรศัพท์มือถือเช่นกัน

ในหลายปีที่ผ่านมา กลุ่มประเทศที่รวมถึงแอฟริกาใต้ และอินเดียได้เริ่มต้นสร้างฐานข้อมูลขนาดใหญ่เพื่อรวบรวมเอกลักษณ์บุคคลของพลเมืองในชาติ แต่ผู้เชี่ยวชาญด้านนี้ชี้ว่า ไม่เคยพบว่าชาติใดจะสามารถรวบรวมข้อมูลเอกลักษณ์บุคคลได้รวดเร็วเท่าปากีสถานในเวลานี้ และเมื่อกระบวนการต่างๆในการยืนยันเอกลักษณ์บุคคลต่อการใช้ซิมการ์ดได้เสร็จสมบูรณ์ ตำรวจปากีสถานและหน่วยงานข่าวกรองจะสามารถทำงานได้อย่างรวดเร็วขึ้นในการหาที่มาของเหตุก่อการร้าย อัมมาร์ แจฟฟรี (Ammar Jaffri) อดีตผู้ช่วยผู้อำนวยการสอบสวนกลางปากีสถานกล่าว และชี้ว่า เหตุระเบิดจำนวนมากในปากีสถานมาจากการใช้โทรศัพท์มือถือเป็นชนวนจุดระเบิด

ความคิดเห็น

comments

ใส่ความเห็น