ผลการตรวจสอบในวาระครบ 1 ปี ซึ่งพบว่า แบตเตอรีกล่องดำของเที่ยวบิน MH370 “ไฟหมด” ตั้งแต่ก่อนเครื่องตก เป็นประเด็นสำคัญที่จะใช้ฟ้องร้องเอาผิดกับสายการบินมาเลเซียแอร์ไลน์สได้ ทีมทนายซึ่งเป็นตัวแทนญาติผู้โดยสารแถลงวันนี้ (9 มี.ค.)
สำนักงานกฎหมาย Kreindler & Kreindler LP ในสหรัฐฯ ซึ่งเป็นตัวแทนญาติผู้โดยสารราว 20 ครอบครัว ระบุว่า แบตเตอรีที่หมดอายุเป็นข้อมูลสำคัญที่จะใช้เรียกร้องค่าเสียหายจากมาเลเซียแอร์ไลน์ส หากพิสูจน์ได้ว่ามันเป็นอุปสรรคต่อการค้นหาเครื่องบิน
รายงานความยาว 584 หน้า ซึ่งชี้แจงผลการสอบสวนที่ครอบคลุมเกี่ยวกับการสูญหายของเครื่องบินโบอิ้ง 777-200ER ลำนี้ ระบุว่า แบตเตอรีของอุปกรณ์บันทึกข้อมูลการบินซึ่งจะส่งสัญญาณระบุตำแหน่งในกรณีที่เครื่องบินตกลงทะเล หมดอายุไปตั้งแต่เดือนธันวาคม ปี 2012 และไม่ได้รับการเปลี่ยนใหม่
สำนักงานการบินพลเรือนมาเลเซีย ชี้แจงว่า ระบบคอมพิวเตอร์ฝ่ายวิศวกรรมของมาเลเซียแอร์ไลน์สทำงานผิดพลาด เป็นเหตุให้ฝ่ายซ่อมบำรุงตรวจไม่พบว่าแบตเตอรีหมดอายุ
“สายการบินนี้ปล่อยให้เครื่องบินและลูกเรือเดินทางออกไป ทั้งๆ ที่อุปกรณ์สำคัญบนเครื่องแบตเตอรีหมด มิหนำซ้ำยังปฏิเสธที่ชดเชยค่าเสียหายอย่างเหมาะสมต่อญาติผู้โดยสาร จนกว่าพวกเขาจะพิสูจน์ได้ว่าเสียหายอย่างไรบ้าง และยังไม่สามารถหาหลักฐานมายืนยันการตกของเครื่องบินได้ด้วย” จัสติน กรีน ทนายฝ่ายคดีการบินของสำนักงานทนายความ Kreindler & Kreindler LP ให้สัมภาษณ์กับรอยเตอร์ทางอีเมล
“เวลานี้เห็นได้ชัดว่า สายการบินอาจจะต้องรับผิดชอบที่การค้นหาไม่ประสบความสำเร็จ”
เมื่อเดือนมกราคม มาเลเซียแอร์ไลน์สได้แถลงอย่างเป็นทางการว่า การสูญหายของเที่ยวบิน MH370 เป็นอุบัติเหตุ ซึ่งเป็นขั้นตอนหนึ่งที่จะเปิดโอกาสให้ญาติผู้โดยสารขอรับค่าชดเชย ในขณะที่ภารกิจค้นหาก็ยังดำเนินต่อไป
พนักงานสอบสวนเชื่อว่า เครื่องบินลำนี้พาผู้โดยสารและลูกเรือ 239 ชีวิต ออกนอกเส้นทางไปไกลหลายพันไมล์ ก่อนจะตกลงสู่มหาสมุทรอันเวิ้งว้างนอกชายฝั่งตะวันตกของออสเตรเลีย
ภารกิจค้นหาในเขตน่านน้ำ 60,000 ตารางกิโลเมตร ห่างจากชายฝั่งเมืองเพิร์ธไปทางตะวันตกราว 1,600 กิโลเมตร ยังไม่พบชิ้นส่วนที่จะยืนยันการตกของเครื่องบินได้แม้แต่ชิ้นเดียว และอาจจะต้องยุติลงกลางคันในเดือนพฤษภาคมนี้ หลังจากรองนายกรัฐมนตรีแดนจิงโจ้ออกมาแถลงเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า กำลังมีการหารือระหว่างออสเตรเลีย มาเลเซีย และจีน ว่าสมควรปิดฉากการค้นหาที่ยืดเยื้อนี้หรือไม่
อย่างไรก็ดี นายกรัฐมนตรี นาจิบ ราซัก แห่งมาเลเซีย และรัฐบาลจีน ยังยืนกรานว่าเต็มใจที่จะสนับสนุนภารกิจค้นหา MH370 ต่อไป
ผู้โดยสาร 154 คนบนเที่ยวบิน MH370 เป็นพลเมืองจีน
ผลการตรวจสอบเบื้องต้นที่เผยแพร่วานนี้ (8) ไม่ได้ระบุสาเหตุที่ทำให้เครื่องบินสูญหาย และย้ำว่าจากประวัติทั้งด้านการเงิน สุขภาพ หรือชีวิตส่วนตัวของกัปตันและลูกเรือ ไม่มีอะไรที่น่าสงสัยว่าพวกเขาจะจงใจก่อวินาศกรรม
ขณะที่มาเลเซีย แอร์ไลนส์ (MAS) สายการบินแห่งชาติของมาเลเซีย แถลงว่า ตัวส่งสัญญาณระบุตำแหน่งอุปกรณ์บันทึกเสียงในห้องนักบิน (SSCVR) และแบตเตอรี่ของอุปกรณ์ดังกล่าว ยังคงทำงานเป็นปกติขณะที่เครื่องบินประสบเหตุสูญหายไร้ร่องรอยเมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2014 และสามารถส่งสัญญาณได้นาน 30 วันหลังจากจมน้ำ
สืบเนื่องจากรายงานเบื้องต้นที่คณะสอบสวนอิสระเผยแพร่ออกมาในวันอาทิตย์ (8) ในวาระครบรอบ 1 ปีที่เที่ยวบิน MH370 สูญหายไประหว่างเส้นทางกัวลาลัมเปอร์-ปักกิ่งนั้น ระบุว่า แบตเตอรี่ของตัวส่งสัญญาณระบุตำแหน่งอุปกรณ์บันทึกข้อมูลการบินของเที่ยวบิน ได้หมดอายุตั้งแต่เดือนธันวาคม 2012 ต่อมาในวันเดียวกันนั้นเอง สำนักกฎหมายจากอเมริกา ไครนด์เลอร์ แอนด์ ไคลนด์เลอร์ ที่เป็นตัวแทนของครอบครัวผู้สูญหาย 20 ครอบครัว แถลงว่า อาจใช้ประเด็นนี้เป็นเกณฑ์ในการพิจารณาค่าเสียหาย หากเรื่องนี้ส่งผลกระทบต่อปฏิบัติการค้นหาเครื่องบินที่หายไป
ทั้งนี้อุปกรณ์บันทึกข้อมูลประจำเครื่องบินหรือที่เรียกกันว่า “กล่องดำ” นั้น ประกอบด้วยอุปกรณ์ 2 ชุดแยกจากกัน ได้แก่ อุปกรณ์บันเสียงในห้องนักบิน และ อุปกรณ์บันทึกการบินของเที่ยวบิน
รายงานการสอบสวนเบื้องต้นอ้างว่า กรณีแบตเตอรี่หมดอายุนี้เป็นความผิดพลาดในการอัพเดตระบบคอมพิวเตอร์ในแผนกวิศวกรของ MAS