เจ้าชายซาอุฯ เตือนเหล่ามหาอำนาจของโลกในวันจันทร์ (16มี.ค.) ว่า การทำข้อตกลงเรื่องนิวเคลียร์กับอิหร่าน อาจจะทำให้เกิดความเสี่ยงที่เทคโนโลยีด้านปรมาณูจะแพร่กระจายออกไปในวงกว้างยิ่งขึ้น เนื่องจากทั้งซาอุดีอาระเบียและประเทศอื่นๆ จำเป็นต้องได้รับสิทธิเช่นเดียวกับที่อิหร่านจะได้รับ ความเคลื่อนไหวคราวนี้มีขึ้นในขณะที่รัฐมนตรีต่างประเทศของสหรัฐฯกับอิหร่านกำลังเจรจากันอย่างเข้มข้นเพื่อให้ได้กรอบข้อตกลงที่จะเปิดประวัติศาสตร์หน้าใหม่ภายในสิ้นเดือนนี้
กลุ่ม P5+1 ซึ่งหมายถึง 5 สมาชิกถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (สหรัฐฯ, รัสเซีย, จีน, อังกฤษ, ฝรั่งเศส) บวกด้วย 1 คือ เยอรมนี ขณะนี้กำลังเจรจากับอิหร่าน เพื่อจัดทำข้อตกลงซึ่งมุ่งหมายที่จะจำกัดกิจกรรมทางด้านนิวเคลียร์ของอิหร่าน ทว่าไม่ได้ให้ยุติโครงการทั้งหมด
พวกที่ไม่เห็นด้วยโต้แย้งว่า การทำเช่นนี้จะจุดชนวนให้เกิดการแข่งขันด้านอาวุธนิวเคลียร์ในภูมิภาคตะวันออกกลาง โดยมีความเป็นศัตรูคู่แข่งกันระหว่างซาอุดีอาระเบียกับชีอะห์อิหร่าน เป็นตัวกระตุ้น นอกจากนั้นอิสราเอลและพวกล็อบบี้ยิสต์ของรัฐยิวในสหรัฐฯก็แสดงความไม่พอใจ เนื่องจากไม่ต้องการให้มีการเปลี่ยนแปลงสถานะเดิมในปัจจุบัน ซึ่งเป็นที่รู้กันทั่วไปแม้ไม่มีการยอมรับอย่างเปิดเผย ว่าอิสราเอลเป็นชาติเดียวในตะวันออกกลางซึ่งมีอาวุธนิวเคลียร์อยู่ในครอบครอง
เจ้าชายเตอร์กี อัล-ไฟซาล อดีตผู้อำนวยการสำนักงานข่าวกรองของซาอุดีอาระเบีย ตลอดจนเคยเป็นเอกอัครราชทูตของริยาดประจำวอชิงตันและลอนดอน ได้ตอกย้ำจุดยืนของราชอาณาจักรซาอุดิอาระเบีย ระหว่างให้สัมภาษณ์สถานีวิทยุแลโทรทัศน์บีบีซี ของอังกฤษคราวนี้ โดยบอกว่า ตนพูดมาตลอดว่า ซาอุดีฯ ต้องการได้สิ่งเดียวกับที่จะคลอดออกมาจากการเจรจาดังกล่าว
“ถ้าอิหร่านสามารถเสริมสมรรถนะยูเรเนียมไม่ว่าในระดับใด คงไม่ได้มีเพียงซาอุดีฯ เท่านั้นที่จะเรียกร้องในสิ่งเดียวกัน แต่โลกทั้งโลกจะเปิดประตูสู่เส้นทางเดียวกันโดยปราศจากการยับยั้ง และนั่นคือเหตุผลหลักของผม ในการคัดค้านกระบวนการของ P5+1”
ขณะที่การเจรจาดังกล่าวกำลังงวดเข้ามา เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ซาอุดีฯ ได้ลงนามข้อตกลงความร่วมมือด้านนิวเคลียร์กับเกาหลีใต้ ซึ่งรวมถึงแผนการศึกษาความเป็นไปได้ในการสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ 2 แห่งในซาอุดีอาระเบีย กับโรงไฟฟ้าขนาดเล็กกำลังผลิตเพียง 15 กิโลวัตต์เท่านั้น
ริยาดยังลงนามข้อตกลงความร่วมมือด้านนิวเคลียร์กับจีน ฝรั่งเศส และอาร์เจนตินา และมีแผนสร้างโรงไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์ 16 เตาภายในระยะเวลา 20 ปี
เมื่อต้นเดือนนี้ จอห์น เคร์รี รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ บินสู่ริยาดเพื่อรับรองกับซาอุดีอาระเบีย และพันธมิตรอาหรับชาติอื่นๆ ว่า อเมริกาจะยอมรับข้อตกลงที่เป็นการป้องกันไม่ให้อิหร่านผลิตอาวุธนิวเคลียร์เท่านั้น
อย่างไรก็ตาม ระหว่างการเยือนคราวนั้น เคร์รีได้รับแจ้งจากผู้นำของชาติเหล่านี้ว่า การที่อิหร่านสนับสนุนกลุ่มชีอะต์ในความขัดแย้งในตะวันออกกลาง ไม่ว่าจะเป็นที่เยเมน ซีเรีย อิรัก ปาเลสไตน์ หรือบาห์เรน ถือเป็นปัญหาใหญ่ไม่ต่างอะไรกับโครงการนิวเคลียร์
“เพราะฉะนั้น การยุติความกลัวเรื่องการพัฒนาอาวุธทำลายล้างสูง ไม่ได้ทำให้ปัญหายุ่งยากที่เราเผชิญจากอิหร่านจบสิ้นลง” เจ้าชายเตอร์กีกล่าว ถึงแม้เขาไม่ได้ดำรงตำแหน่งหน้าที่ทางราชการใดๆ แล้ว แต่ก็เป็นที่เข้าใจกันอย่างกว้างขวางว่าสิ่งที่เขาพูดเป็นการสะท้อนความคิดเห็นของบุคคลระดับอาวุโสในราชวงศ์อัล ซาอุด ทั้งนี้ เจ้าชายเตอร์กี ยังเป็นพี่ชายของ เจ้าชายซาอุด อัล-ไฟซาล รัฐมนตรีต่างประเทศซาอุดีอาระเบียคนปัจจุบันด้วย
สิ่งที่ริยาดกังวลที่สุดคือ การที่อิหร่านสนับสนุนกองกำลังอาวุธท้องถิ่นชาวชีอะห์ในอิรัก ทำการต่อสู้กับกลุ่มไอเอส บทบาทดังกล่าวยิ่งชัดเจนเปิดเผยมากขึ้นในการบุกชิงเมืองติกริต ซึ่งกำลังดำเนินอยู่ในเวลานี้ โดยที่ นายพล กอเซ็ม โซเลมานี ผู้บัญชาการหน่วยรบพิเศษ “คุดส์” ของกองทัพพิทักษ์การปฏิวัติของอิหร่าน กำลังก้าวออกจากเงามืดออกมาชี้นำกองกำลังอาวุธของฝ่ายชีอะห์อย่างเปิดเผย
อย่างไรก็ดี ระหว่างการเยือนแบกแดดเมื่อไม่นานมานี้ พลเอกมาร์ติน เดมป์ซีย์ ประธานคณะเสนาธิการร่วมทางทหารของสหรัฐฯ ได้แสดงความกังวลต่อการที่ผู้นำการเมืองชีอะต์ของอิรักไม่ทำตามสัญญาในการสร้างความปรองดองระหว่างประชากรชาวมุสลิม และชาวชีอะต์ พร้อมเตือนว่าเรื่องนี้อาจบ่อนทำลายกลุ่มพันธมิตรนานาชาติต่อต้านไอเอส ที่ซาอุดีฯ และหลายรัฐอาหรับที่ เข้าร่วมด้วย
ขณะเดียวกัน ซาอุฯไม่พอใจที่วอชิงตันยังปฏิเสธไม่ยอมติดอาวุธให้นักรบต่อต้านซีเรีย ในการต่อต้านการปกครองอย่างอธรรมของรัฐบาลบาชาร์ อัล-อัสซาดซึ่งเป็นพันธมิตรใกล้ชิดของอิหร่าน
ทั้งนี้ ซาอุดีฯ ตกลงเข้าร่วมโครงการฝึกและติดอาวุธให้กบฏซีเรียที่มีอเมริกาเป็นแกนนำ ถึงแม้โครงการดังกล่าวมีเป้าหมายเพื่อต่อสู้กับไอเอส ไม่ใช่อัสซาดก็ตาม แต่เจ้าชายเตอร์กีบอกว่า ตัวเขาเชื่อว่า การสู้รบกับไอเอสนั้น ในที่สุดแล้วก็จะเป็นการสู้รบกับอัสซาดอย่างหลีกเลี่ยงไม่พ้น