รัฐทางเหนืออินเดียออกกม.ห้ามฆ่า-ขายเนื้อวัว

ที่ประชุมสภาแห่งรัฐหรยาณาทางตอนเหนือของอินเดีย มีมติเอกฉันท์อนุมัติร่างกฎหมายห้ามไม่ให้มีการฆ่าวัวหรือขายเนื้อวัว ผู้ที่มีความผิดฐานฆ่าวัว มีโทษจำคุกสูงสุดถึง 10 ปี และปรับสูงสุด 100,000 รูปี (ประมาณ 52,000 บาท) โดยผู้ที่ไม่สามารถชำระค่าปรับได้จะต้องชดเชยด้วยการจำคุกสูงสุด 1 ปี นอกจากนี้ยังห้ามไม่ให้มีการจำหน่ายเนื้อวัวไม่ว่าในรูปแบบใด ผู้ฝ่าฝืนมีโทษจำคุก 3 – 5 ปี และปรับสูงสุด 50,000 รูปี (ประมาณ 26,000 บาท) โดยยานพาหนะที่ใช้ในการกระทำผิดจะถูกยึดเป็นของรัฐ

กฎหมายยังครอบคลุมไปถึงการส่งออกวัวเพื่อการฆ่าเอาเนื้อ ผู้ที่กระทำผิดมีโทษจำคุก 3 – 7 ปี และปรับ 30,000 – 70,000 รูปี (ประมาณ 15,700 – 36,700 บาท) โดยรายละเอียดละบุว่า ความผิดตามกฎหมายนี้เป็นอาชญากรรมที่ไม่สามารถให้ประกันตัวได้ กฎหมายดังกล่าวมีจุดมุ่งหมายเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์และการพัฒนาสายพันธุ์วัวพื้นบ้าน กำหนดให้มีการจัดตั้งศูนย์ดูแลวัวชรา บาดเจ็บ ร่อนเร่ และวัวที่ไม่ทำประโยชน์ในเชิงธุรกิจ รวมไปถึงการการจัดตั้งห้องทดลองเพื่อคิดค้นพัฒนาคุณภาพนมและเนื้อสัตว์ชนิดอื่น โดยก่อนหน้านี้รัฐมหาราษฏระประกาศใช้กฎหมายในลักษณะเดียวกันตั้งแต่เมื่อต้นเดือน มี.ค. ซึ่งกำหนดโทษจำคุกไว้ 5 ปี

ทั้งนี้ วัวถือเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ตามความเชื่อของศาสนาฮินดูซึ่งเป็นชนกลุ่มใหญ่ของประเทศ โดยในช่วงการหาเสียงเลือกตั้ง พรรคภารติยะชนตะ (บีเจพี) ที่ได้รับเลือกให้เป็นรัฐบาล เคยหาเสียงด้วยการนำเสนอนโยบายในการปกป้องคุ้มครองวัว อย่างไรก็ตาม ประเด็นดังกล่าวยังคงเป็นที่ถกเถียงและวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างมากถึงความเหมาะสม โดยนายมานิศ เตวารี ประธานรัฐสภา กล่าวว่า อินเดียเป็นประเทศที่มีความหลากหลาย ประชาชนต่างมีวัฒนธรรมการกินที่แตกต่างกันไป ซึ่งไม่ควรจะถูกบังคับให้ต้องกินหรือไม่กินอะไร มันเป็นสิทธิส่วนบุคคลที่รัฐไม่ควรเข้าไปก้าวก่าย ตามรายงานของกระทรวงเกษตรสหรัฐในปี 2556 และ 2557 ระบุไว้ว่า อินเดียคือผู้ส่งออกเนื้อวัวรายใหญ่อันดับ 2 ของโลก และในปี 2557 ยังเป็นประเทศที่มีจำนวนปศุสัตว์มากที่สุดในโลกกว่า 301 ล้านตัว

ความคิดเห็น

comments

ใส่ความเห็น