สภาแห่งรัฐกลันตันมีมติเอกฉันท์ให้นำบทลงโทษตามหลักชารีอะห์มาบังคับใช้สำหรับชาวมุสลิมในรัฐ สร้างกระแสวิจารณ์จากพันธมิตรฝ่ายค้าน ซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยในชาติส่อไม่พอใจหนัก
บทลงโทษในอิสลาม หรือ อัล-หุดูด (Al-hudud) ไม่ได้ถูกนำมาใช้ทั่วไปในมาเลเซีย และถูกใช้กับชาวมุสลิมในรัฐกลันตันเท่านั้น
แต่การดำเนินการดังกล่าวส่งผลให้การจับขั้วระหว่างพรรค PAS กับอีก 2 พรรคฝ่ายค้านที่เป็นพรรคการเมืองของชนกลุ่มน้อยในมาเลย์เสี่ยงที่จะพังทลายลง โดยกล่าวหาว่า PAS ละเมิดกรอบนโยบายที่เคยตกลงร่วมกันไว้
พรรคเดโมเครติก แอคชัน (DAP) ซึ่งเป็นตัวแทนชนกลุ่มน้อยชาวจีน คัดค้านการบังคับใช้กฎหมายศาสนาอย่างรุนแรง และเตรียมที่จะเรียกประชุมพรรคในสัปดาห์หน้าเพื่อทบทวนจุดยืนของพรรคในการเป็นพันธมิตรกับ PAS
“พรรค PAS แสดงออกชัดเจนแล้วว่า พวกเขาเชื่อถือไม่ได้… ดังนั้น จึงไม่มีเหตุอันสมควรที่เราจะรักษาความสัมพันธ์ไว้ต่อไป” โคภินท์ สิงห์ ดีโอ ส.ส.พรรค DAP ออกมาแถลงวันนี้ (19)
พันธมิตรปากาตันรักยัต (People’s Pact) ซึ่งประกอบด้วยพรรค PAS, DAP และพรรคพีเพิลส์ จัสติส ภายใต้การนำของ อันวาร์ อิบรอฮีม ได้สร้างแรงสั่นสะเทือนต่อฝ่ายรัฐบาล บาริซัน เนชันแนล (บีเอ็น) ด้วยการชนะป๊อบปูลาร์โหวตร้อยละ 52 ในศึกเลือกตั้งทั่วไปเมื่อปี 2013 แต่ก็ไม่สามารถครองที่นั่งส่วนใหญ่ในสภาได้ เนื่องจากแพ้ในการแบ่งเขตเลือกตั้ง
แม้กลุ่มปากาตันรักยัตจะมีพลังท้าทายรัฐบาลได้มากพอสมควร แต่ทั้ง 3 พรรคก็ยังมีอุดมการณ์ลึกๆ ที่แตกต่างกันจนไม่อาจรวมตัวเหนียวแน่น
นักวิเคราะห์ชี้ว่า กลุ่มปากาตันรักยัตอาจคงความเข้มแข็งต่อไปได้ ตราบใดที่บทลงโทษของอิสลามยังถูกห้ามโดยกฎหมายรัฐบาลกลาง
มาเลเซียมีพลเมืองนับถือศาสนาอิสลามราว 2 ใน 3 หรือประมาณ 30 ล้านคน ซึ่งพรรค PAS ก็ยืนยันว่า “อัล-หุดุด” จะบังคับใช้กับชาวมุสลิมเท่านั้น