รัฐบาลอินเดียล้มเหลวในการแก้ไขวิกฤต “วัณโรค” ที่กำลังแพร่ระบาดหนัก โดยสาเหตุสำคัญเกิดจากปัญหาด้านงบประมาณ และรัฐบาลไร้ความสามารถในการควบคุมระบบสาธารณสุขเอกชนที่ “จ้องแต่แสวงหาผลประโยชน์” บทความซึ่งได้รับการตีพิมพ์ลงวารสารการแพทย์อังกฤษ (British Medical Journal) ระบุ
งานวิจัยซึ่งเผยแพร่วันนี้ (24 มี.ค.) เนื่องในวันวัณโรคโลก (World Tuberculosis Day) เรียกร้องให้รัฐบาลเดลีทุ่มเม็ดเงินลงทุนกับโครงสร้างระบบสาธารณสุข เพื่อวินิจฉัยและรักษาผู้ป่วยวัณโรคซึ่งถือเป็นวิกฤตสาธารณสุขที่ “ร้ายแรงที่สุด” ในอินเดียเวลานี้
อินเดียมีผู้ป่วยวัณโรครายใหม่ๆ สูงถึง 2.2 ล้านคนจากทั้งหมดราว 8.6 ล้านคนทั่วโลกในแต่ละปี และหากเทียบจำนวนผู้ป่วยก็พบว่าสูงกว่าประเทศอื่นๆ เกิน 2 เท่าตัว ตามข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก (WHO)
ปัจจุบันมีชาวอินเดียเสียชีวิตเพราะวัณโรคราว 300,000 คนต่อปี
บทความซึ่งเรียบเรียงโดย นพ.ซารีร์ เอฟ. อุดวาเดีย แพทย์ประจำโรงพยาบาลเอกชนที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในนครมุมไบ ระบุว่า โครงการวัณโรค (ทีบี) ของรัฐบาลยังไม่สามารถดูแลไปถึงระบบสาธารณสุขเอกชนที่กำลังขยายตัวอย่างรวดเร็ว
“สถานพยาบาลเหล่านี้คือจุดที่ผู้ป่วยจะวิ่งเข้าหาเป็นแห่งแรกเมื่อรู้ตัวว่าเป็นวัณโรค แม้จะมีหลายกรณีที่แพทย์วินิจฉัยผิด หรือรักษาไม่เหมาะสมก็ตาม” อุดวาเดีย ซึ่งทำงานกับโรงพยาบาลและศูนย์วิจัยการแพทย์ พี.ดี. ฮินดูจา เนชันแนล กล่าว
“ผู้ป่วยวัณโรคในอินเดียมักตัดสินใจไม่ได้ว่าจะเลือกสถานพยาบาลรัฐที่ไม่ค่อยเห็นใจคนป่วย หรือโรงพยาบาลเอกชนที่จ้องแต่จะแสวงหาผลประโยชน์ จนกระทั่งอาการป่วยทรุดหนักหรือไม่ก็หมดเงิน แต่ระหว่างนั้นพวกเขาก็แพร่เชื้อไปยังบุคคลใกล้ชิดโดยไม่รู้ตัว”
อินเดียจัดสรรงบอุดหนุนโครงการต่อต้านวัณโรคเพียง 5,000 ล้านรูปีต่อปี ซึ่งถือว่า “น้อยจนน่าขำ” และน้อยที่สุดในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา BRICS
เมื่อไม่นานนี้ คณะผู้เชี่ยวชาญได้ยื่นจดหมายถึงนายกรัฐมนตรี นเรนทรา โมดี เพื่อเรียกร้องให้ยกระดับโครงการต่อสู้วัณโรคเป็น “วาระฉุกเฉินแห่งชาติ” ตลอดจนเพิ่มความตระหนักรู้แก่ชาวอินเดียในการป้องกันตนเองจากโรคนี้