นพ.อภิชัย มงคล อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า กรมฯได้รวบรวมงานวิจัยและศึกษาวิจัยเกี่ยวกับสารสกัดในสมุนไพรที่ก่อประโยชน์จำนวนมาก โดยพบว่า ขิง (Zingiber officinale Roscoe) มีสารสำคัญที่ออกฤทธิ์ในการยับยั้งการอาเจียน เรียกว่า “สารจินเจอรอล ( gingerol)” โดยมีการเปรียบเทียบกับยาหลอก ในกลุ่มตัวอย่าง 80 คน ด้วยการให้รับประทานขิง 1 กรัมต่อวัน เทียบกับยาหลอกสำหรับอาการเมาคลื่น พบว่า เกิดอาการเมาคลื่นน้อยกว่าอย่างมีนัยสำคัญเมี่อเทียบกับยาหลอก ทั้งนี้ สังเกตจากการกรอกตาไปมา ส่วนการทดลองทางคลินิกพบว่า ช่วยลดอาการอาเจียนจากการตั้งครรภ์ โดยมีการทดลองในหญิงมีครรภ์ ซึ่งมีอาการอาเจียนจากการแพ้ท้องในช่วงตั้งครรภ์ 20 อาทิตย์จำนวน 27 ราย พบว่า รับประทานขนาดวันละ 1 กรัม ทาน 4 ครั้งต่อวัน ซึ่งทั้งหมดไม่พบอาการคลื่นไส้แพ้ท้องแต่อย่างใด
“ขิงจัดเป็นอาหารในชีวิตประจำวันมาช้านาน เป็นสมุนไพรที่มีศักยภาพแก้อาเจียนได้ผลดี ในปัจจุบันประเทศไทยใช้ประโยชน์ส่วนใหญ่ในรูปยาผง เหง้าสดของขิงได้นำมาใช้เป็นยาในสาธารณสุขมูลฐาน คือ แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ และปวดท้อง แก้คลื่นไส้อาเจียน แก้ไอและขับเสมหะ เนื่องจากมีผู้ศึกษาคุณสมบัติทางชีวภาพและฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาอย่างกว้างขวาง ทั้งในสัตว์ทดลองและการทดลองทางคลินิก ยืนยันว่า สามารถแก้อาเจียนได้ผลอย่างมีนัยสำคัญ อีกทั้งค่อนข้างปลอดภัย ส่วนการรายงานพบว่า ในระยะสั้นสำหรับหญิงมีครรภ์พบว่าแก้ปัญหาคลื่นไส้จากการแพ้ท้องได้ แต่หากต้องการข้อมูลเชิงลึกอาจต้องมีการศึกษามากขึ้น ทั้งนี้เบื้องต้นไม่พบฤทธิ์ทำให้ทารกมีรูปร่างผิดปกติ” อธิบดีกรมวิทย์ กล่าว