เมื่อวันที่ 25 มีนาคม พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและภริยาพร้อมคณะ ได้เดินทางเยือนบรูไนดารุสซาลามอย่างเป็นทางการตามคำเชิญของสมเด็จพระราชาธิบดีฮัจญี ฮัสซานัล โบลเกียห์ แห่งบรูไนฯ พร้อมด้วย พลเอก ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและภริยา นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม
การเยือนบรูไนฯ ครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อสานต่อผลการหารือระหว่างนายกรัฐมนตรีกับสมเด็จพระราชาธิบดีของนายกรัฐมนตรีระหว่างการประชุมสุดยอดอาเซียน – สาธารณรัฐเกาหลี สมัยพิเศษ ณ นครปูซาน เมื่อเดือนธันวาคม 2557 โดยเฉพาะความร่วมมือด้านการเกษตรและประมง การค้าการลงทุนให้มีผลเป็นรูปธรรม
ในโอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีได้หารือทวิภาคีกับสมเด็จพระราชาธิบดีฯ โดยทั้งสองฝ่ายยินดีที่สถานะความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศดีเยี่ยม และเห็นพ้องให้ส่งเสริมการแลกเปลี่ยนการเยือนระดับสูงอย่างสม่ำเสมอ ในการนี้ สมเด็จพระราชาธิบดีฯ ทรงตอบรับการเชิญของนายกรัฐมนตรีในการเสด็จพระราชดำเนินเยือนไทยอย่างเป็นทางการ
นอกจากนี้ ได้ชื่นชมนโยบายปฏิรูปการศึกษาด้านวิชาชีพตามวิสัยทัศน์แห่งชาติ Wawasan 2035 ซึ่งสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ประเทศไทยปี 2558 – 2563 และยินดีที่ไทยกับบรูไนฯ มีความร่วมมือด้านการศึกษาที่ใกล้ชิดภายใต้บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการศึกษา
ในด้านความร่วมมือด้านความมั่นคงทางอาหารและประมง ไทยและบรูไนฯ ได้มีการลงนามร่างบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการเกษตรไทย – บรูไนฯ ซึ่งจะช่วยส่งเสริมการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และการเรียนรู้ซึ่งกันและกันในด้านการเกษตรและเห็นพ้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามบันทึกความเข้าใจที่มีอยู่ระหว่างกัน นอกจากนี้ ฝ่ายไทยแจ้งความสนใจที่จะลงทุนร่วมในเขตประมงของบรูไนฯ ที่เปิดให้ต่างชาติเข้าไปทำประมง โดยขอให้บรูไนฯ พิจารณาให้ความสำคัญลำดับต้นกับภาคเอกชนไทย
นายกรัฐมนตรีได้ขอบคุณบรูไนฯ ที่นิยมบริโภคข้าวไทยและนำเข้าข้าวจากไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องซึ่งสมเด็จพระราชาธิบดีฯ บอกว่ากว่าร้อยละ 90 ของการนำเข้าข้าวเป็นข้าวไทยและพร้อมขยายการนำเข้าข้าวจากไทยต่อไป
ด้านสินค้าฮาลาล นายกรัฐมนตรีแสดงความยินดีกับบรูไนฯ ที่มีมาตรฐานตราสินค้าฮาลาล เป็นที่ยอมรับในระดับสากล และโดยที่ไทยมีความเชี่ยวชาญด้านอุตสาหกรรมอาหารฮาลาล จึงเห็นว่าทั้งสองประเทศสามารถเกื้อกูลและร่วมมือกันด้านอุตสาหกรรมอาหารฮาลาลเพื่อการส่งออก และสนับสนุนการสานต่อความร่วมมือทางวิชาการระหว่างศูนย์ Bio Innovation Corridor (BIC) และศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์ด้านการวิจัยและการพัฒนาเทคโนโลยีฮาลาล ในการนี้ นายกรัฐมนตรีได้เชิญชวนบรูไนฯ ร่วมลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมฮาลาลที่จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งรัฐบาลได้กำหนดให้เป็นศูนย์ผลิตอาหารฮาลาลของไทย และสนับสนุนให้ภาคเอกชนไทยเข้าร่วมการประชุม“Brunei Bio-Tech and Food Conference 2015” ในเดือนพฤษภาคม 2558 ณ บันดาร์เสรีเบกาวัน
ด้านพลังงาน ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะร่วมมือด้านพลังงานทดแทนโดยเฉพาะการค้นคว้าวิจัยผ่าน Brunei National Energy Research Institute และนายกรัฐมนตรีแสดงความสนใจที่จะซื้อก๊าซธรรมชาติเหลวและถ่านลิกไนต์ของบรูไนด้วย
ด้านความร่วมมือด้านการทหารก็มีการแลกเปลี่ยนการเยือนและการฝึกศึกษาด้านการทหาร และทั้งสองฝ่ายให้ความสำคัญกับการฝึกอบรมหลักสูตรด้านการทหารระหว่างกัน
ด้านความร่วมมือระหว่างประเทศ นายกรัฐมนตรีได้ขอบคุณที่บรูไนฯ สนับสนุนแนวทางของไทยในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ในกรอบความร่วมมืออิสลามและขอบคุณที่บรูไนฯ ให้การสนับสนุนการสมัครเป็นสมาชิกไม่ถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ วาระปี 2017 – 2018
โดยการเดินทางเยือนบรูไนฯ ครั้งนี้ นายกรัฐมนตรีจะเดินทางเยือนเป็นเวลา 2 วัน โดยจะเดินทางกลับในเช้าวันนี้ (26 มีนาคม)