แม่ทัพภาค 4 ตั้งกรรมการสอบเหตุปิดล้อมปะทะที่บ้านโต๊ะชูด ทุ่งยางแดง ให้รายงานข้อเท็จจริงใน 7 วัน อธิการ มฟน.ย้ำอย่าให้เกิดซ้ำ เพราะทุกฝ่ายกำลังสร้างสันติภาพ ชี้ปัญหาภาคใต้ไม่มีวันจบหากเจ้าหน้าที่ยังใช้ความรุนแรง
โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ (DSJ) รายงานว่าเวลา 09.30 น.วันที่ 28 มีนาคม 2558 ที่กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) ค่ายสิรินธร ต.เขาตูม อ.ยะรัง จ.ปัตตานี พล.ท.ปราการ ชลยุทธ แม่ทัพภาคที่ 4 พร้อมด้วย พล.ต.ท.อนิรุต กฤษณะการะเกตุ ผู้บัญชาการศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศชต.) นายภาณุ อุทัยรัตน์ เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) นายเกรียงศักดิ์ ยกศิริ รองผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี นายแวดือราแม มะมิงจิ ประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานี และดร.อิสมาอีลลุตฟี จะปะกียา อธิการบดีมหาวิทยาลัยฟาฏอนี ได้ร่วมกันชี้แจงแนวทางการดำเนินการกรณีเหตุปิดล้อมตรวจค้นที่บ้านโต๊ะชูด ต.พิเทน อ.ทุ่งยางแดง จ.ปัตตานี เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 4 ราย และถูกควบคุมตัว 22 ราย
ทั้งนี้ ทาง กอ.รมน.ภาค 4 สน.ได้แสดงความเสียใจกับญาติและครอบครัวของผู้ที่เสียชีวิต ส่วนผู้ที่ถูกควบคุมตัวทั้ง 22 ราย ขณะนี้ได้ปล่อยตัวกลับภูมิลำเนาแล้ว 13 ราย ส่วนที่เหลือจะเร่งรัดการสอบสวนเพิ่มเติม หากไม่มีส่วนเกี่ยวข้องจะเร่งส่งตัวกลับต่อไป
พล.ท.ปราการ ชี้แจงว่า เหตุการณ์ดังกล่าว ทาง กอ.รมน.ภาค 4 สน. น้อมรับทุกข้อสงสัยของพี่น้องประชาชน และหลายๆ ฝ่าย รวมถึงนักศึกษาของมหาวิทยาลัยฟาฏอนีตามที่ระบุในแถลงการณ์เมื่อวานนี้ เพื่อความโปร่งใส เป็นธรรมให้กับทุกฝ่าย และแสดงถึงความบริสุทธิ์ใจ จริงใจ ในการแก้ไขปัญหาของพี่น้องประชาชน
พล.ท.ปราการ แถลงว่า ขณะนี้ กอ.รมน.ภาค 4 สน.ได้แต่งตั้งคณะกรรมการกลางแสวงหาข้อเท็จจริงกรณีเหตุการณ์นี้ โดยจะประกอบด้วยผู้นำศาสนา ผู้นำชุมชน ผู้แทนองค์กรศาสนา สภาทนายความภาค 9 ผู้แทนจากมหาวิทยาลัยฟาฏอนี ผู้แทนของจังหวัดปัตตานี ผู้แทน ศอ.บต. ผู้แทน ศชต. และ กอ.รมน.ภาค 4 สน. โดยมีนายแวดือราแม มะมิงจิ เป็นประธาน นายกิตติ สุระคำแหง ผู้อำนวยการสำนักบริหารงานยุติธรรมเป็นเลขานุการ
คณะกรรมการชุดนี้มีหน้าที่หาข้อเท็จจริงในทุกๆ เรื่อง และรายงานข้อเท็จจริงภายใน 7 วัน เพื่อแจ้งให้พี่น้องสื่อมวลชนและประชาชนได้ทราบโดยทั่วกัน โดยกอ.รมน.ภาค 4 สน.และส่วนราชการทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ยืนยันที่จะให้ความเป็นธรรมโดยยึดหลักกฎหมาย หลักสิทธิมนุษยชน และความยุติธรรมกับทุกฝ่าย ปราศจากการแทรกแซง หรืออคติใดๆ เพราะพวกเราเชื่อว่า สันติสุขจะเกิดขึ้นได้อย่างถาวรโดยสันติวิธี
ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2558 มหาวิทยาลัยฟาฏอนีได้ออกแถลงการณ์ในเรื่องดังกล่าวแล้ว โดยยืนยันว่า นักศึกษาของมหาวิทยาลัยฟาฏอนี 2 คนที่เสียชีวิตในเหตุการณ์นี้ด้วย ไม่เคยปรากฏพฤติกรรมที่ส่อไปในทางเป็นภัยต่อความมั่นคง และได้ขอให้ตั้งกรรมการสอบสวนและแสวงหาข้อเท็จจริงร่วมกันในเรื่องนี้
อย่าให้เกิดซ้ำ เพราะทุกฝ่ายกำลังสร้างสันติภาพ
ต่อมาเวลาประมาณ 15.30 น.วันเดียวกัน ดร.อิสมาอีลลุตฟี จะปะกียา อธิการบดีมหาวิทยาลัยฟาฏอนี ได้เปิดแถลงข่าวอีกครั้ง ที่มหาวิทยาลัยฟาฏอนี อ.ยะรัง จ.ปัตตานีว่า มั่นใจว่าผู้ใหญ่ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้จะให้ความเป็นธรรมได้ แต่อย่าให้ความผิดพลาดเช่นนี้เกิดขึ้นซ้ำอีก เพราะทุกฝ่ายกำลังพยายามในการสร้างสันติภาพให้เกิดขึ้นได้ด้วยดี แต่เหตุการณ์นี้มาสะกิดถึงการทำงานของรัฐ
“มหาวิทยาลัยฟาฏอนีเป็นมหาวิทยาลัยสีขาว ไม่มีใครเกี่ยวข้องกับการก่อความไม่สงบ ทุกคนช่วยกันตักเตือนและพยายามใช้สันติวิธีในการแก้ปัญหาทุกเรื่อง เพื่อให้เกิดสันติสุขขึ้นในพื้นที่ ซึ่งเป็นเรื่องที่ทุกคนตระหนักอยู่แล้ว”ดร.อิสมาอีลลุตฟี กล่าว
ผศ.โสรัตน์ อับดุลสตา คณบดีคณะศิลปะศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยฟาฏอนี แถลงด้วยว่า นักศึกษาที่เสียชีวิตในเหตุการณ์นี้ทั้ง 2 คน เรียนอยู่ชั้นปีที่ 4 เสียชีวิตในขณะที่ยังอยู่ในชุดนักศึกษา เพราะก่อนเกิดเหตุได้ลงพื้นที่เพื่อเก็บข้อมูลทำวิทยานิพนธ์ ไม่ได้วางแผนเรื่องการก่อเหตุร้าย ซึ่งนักศึกษาของที่นี่ทุกคนไม่มีส่วนเกี่ยวข้องแน่นอน สามารถตรวจสอบได้
นายสุไฮมี ดูละสะ ประธานสหพันธ์นักเรียน นิสิต นักศึกษา และเยาวชนปาตานี หรือ PERMAS ซึ่งร่วมฟังการแถลงด้วยได้มีข้อเสนอต่อทางมหาวิทยาลัย 4 ข้อ คือ 1.ให้ทางมหาวิทยาลัยส่งตัวแทนไปสร้างเครือข่ายกับญาติผู้เสียชีวิตทั้ง 4 รายในเหตุการณ์นี้ 2.ให้มหาวิทยาลัยให้คำนิยามที่ชัดเจนเกี่ยวกับความยุติธรรมในกรณีนี้ 3.ให้ช่วยเหลือเยียวยาหรือประสานการช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ และ 4.ให้มีการทำความเข้าใจเรื่องทุ่งยาแดงโมเดลว่าคืออะไรและให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรทบทวนเรื่องนี้