ตำรวจมาเลเซียจับกุมบรรณาธิการจากสำนักข่าวแห่งหนึ่ง 3 คนและตั้งข้อหาพวกเขาในความผิดฐานปลุกระดมมวลชนต่อต้านรัฐบาล ทนายของพวกเขาและทางการ ระบุวันนี้ (31) โดยมีสาเหตุมาจากรายงานข่าวเกี่ยวกับการถกเถียงเรื่องบทลงโทษที่ตัดสินภายใต้กฎหมายอิสลาม
สำนักงานของสำนักข่าวเดอะ มาเลเซียน อินไซเดอร์ ถูกตำรวจและเจ้าหน้าที่จากคณะกรรมการด้านการสื่อสารและสื่อผสมของมาเลเซีย (MCMC) บุกตรวจค้นเมื่อช่วงค่ำวานนี้ (30)
ไลโอเนล มาราอิส บรรณาธิการบริหาร , ซุลคีฟี ซูลอง บรรณาธิการบทความ และ อามิน อินคานเดาร์ บรรณาธิการข่าวชาวมาเลย์ ถูกนำตัวคุมขัง และคอมพิวเตอร์หลายเครื่องตลอดจนสิ่งของอื่นๆ ถูกยึด
นับตั้งแต่เดือนสิงหาคมปีที่แล้ว ทางการมาเลเซียได้ใช้ข้อหาปลุกระดมมวลชนต่อต้านรัฐบาลเดินหน้าจับกุมนักการเมืองฝ่ายค้าน , นักเคลื่อนไหว และนักวิชาการไปแล้วหลายคน หนึ่งในนั้นคือ นูรุล อิสซา อันวาร์ บุตรสาวของ อันวาร์ อิบรอฮิม ผู้นำฝ่ายค้านที่ถูกคุมขัง โดยเธอถูกจับด้วยข้อหาดังกล่าวในเดือนนี้จากคำปราศรัยที่เธอพูดในรัฐสภา
การจับกุมรอบล่าสุดนี้มีต้นเหตุมาจากบทความที่ระบุว่า สหพันธ์แห่งผู้ปกครอง (Confederation of Ruler) หรือระบอบกษัตริย์ของมาเลเซีย ปัดตกร่างแก้ไขกฎหมายกลาง ที่อาจอนุญาตให้มีการใช้บทลงโทษแบบอิสลามหรือ “ฮูดุด” ในแดนเสือเหลือง
พรรคฝ่ายค้านสายอิสลามิสต์ของมาเลเซียกำลังเรียกร้องให้มีการบังคับใช้ชารีอะห์หรือกฎหมายอิสลามอย่างเข้มงวดกับชาวมุสลิม ที่รวมถึงการตัดอวัยวะและปาหิน
“เรื่องนี้เริ่มขึ้นเพราะตำรวจต้องการสอบปากคำบรรณาธิการกลุ่มนี้และยึดบัญชีการเงิน” สยาห์เรดซาน โจฮาน ทนายความฝ่ายสำนักข่าวแห่งนี้ ระบุ “เราทราบแต่เพียงว่าพวกเขาต้องการทำการจับกุม หลังจากที่พวกเขามาที่สำนักงาน”
ตำรวจและเจ้าหน้าที่จาก MCMC กำลังสืบสวน โมราอิส , ซูลอง และอิสคันดาร์ ในข้อหาต่อต้านรัฐบาลและใช้บริการเครือข่ายอย่างไม่เหมาะสม “ลามกอนาจาร เป็นเท็จ ใช้ข้อความเชิงคุกคามหรือโจมตี” โจฮานกล่าว
ตำรวจก็ยืนยันด้วยว่า ชายทั้งสามได้ถูกนำตัวคุมขังแล้วและอยู่ระหว่างการสืบสวน
กฎหมายห้ามปลุกระดมมวลชนต่อต้านรัฐบาลของมาเลเซีย ซึ่งมีมาตั้งสมัยเป็นอาณานิคมของอังกฤษ กำหนดให้ถ้อยคำที่มี “แนวโน้มปลุกปลั่น” เป็นความผิดทางอาญา นักวิจารณ์หลายคน ระบุว่า รัฐบาลใช้กฎหมายนี้เพื่อปิดปากผู้เห็นต่าง , ขัดขวางไม่ให้มีการโต้เถียงและการสนทนาอย่างเปิดเผย
รัฐบาลระบุว่า กฎหมายฉบับนี้มีความจำเป็นในการควบคุมไม่ให้เกิดการกระทำยั่วโทสะที่อาจกระตุ้นให้ความตึงเครียดในประเทศหลายหลายเชื้อชาติแห่งนี้ปะทุขึ้นมา นายกรัฐมนตรี นาจิบ ราซัค ซึ่งเคยให้คำมั่นว่าจะยกเลิกกฎหมายนี้ในปี 2012 ได้หนุนกฎหมายนี้ในปีที่แล้วเพื่อปกป้องความศักดิ์สิทธ์ของศาสนาอิสลามและเหล่าสุลต่านที่เป็นผู้ปกครองดั้งเดิมของมาเลเซีย