การเจรจาระหว่า อิหร่านและกลุ่มชาติมหาอำนาจ พี5+1ในวันพฤหัสบดี(2เม.ย.) บรรลุกรอบข้อตกลงเบื้องต้นในการจำกัดศักยภาพโครงการนิวเคลียร์ของเตหะรานอย่างน้อยๆก็ 1 ทศวรรษ หลังเจรจาล่าสุดยาวนานกว่า 8 วัน โดยคณะมนติความมั่นคงแห่งสหประชาชาติจะยกเลิกมติต่างๆ ที่มีต่ออิหร่านเป็นการตอบแทน
ข้อตกลงเบื้องต้นนี้เป็นการเปิดทางสำหรับการเจรจาข้อตกลงฉบับสมบูรณ์ในอนาคต ต่อโครงการนิวเคลียร์อิหร่าน แลกกับการยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่อเตหะราน
ประะธานาธิบดีบารัค โอบามาแห่งสหรัฐฯ ระบุในถ้อยแถลงว่าผลลัพธ์ดังกล่าวคือข้อตกลงที่ดี โดยเปรียบเทียบกับข้อตกลงควบคุมอาวุธนิวเคลียร์ที่เหล่าอดีตผู้นำอเมริกาเห็นพ้องกับสหภาพโซเวียตระหว่างสงครามเย็น ซึ่งช่วยให้โลกมีความปลอดภัยขึ้น “วันนี้ สหรัฐฯพร้อมด้วยพันธมิตรและคู่หู บรรลุความเข้าใจครั้งประวัติศาสตร์กับอิหร่าน ซึ่งหากมันบังคับใช้อย่างสมบูณณ์ ก็จะช่วยปกป้องอิหร่านจากการได้มาซึ่งอาวุธนิวเคลียร์” เขากล่าว
ภายใต้กรอบข้อตกลงนี้ อิหร่านจะปิดเครื่องหมุนเหวี่ยงยูเรเนียม ซึ่งใช้สำหรับสร้างระเบิดนิวเคลียร์ มากกว่า 2 ใน 3 และรื้อถอนเตาปฏิกรณ์แห่งหนึ่งที่ใช้ในการผลิตพลูโตเนียม รวมถึงยอมรับการตรวจสอบ
“วันนี้เรามีมาตรการที่เด็ดขาด เราบรรลุตัวแปรต่างๆ” เฟเดริกา โมเกรินี หัวหน้านโยบายต่างประเทศของอียู แถลงต่อผู้สื่อข่าว “ความมุมานะทางการเมืองและความมีไมตรีจิตจากทุกฝ่ายทำให้เรื่องนี้เป็นไปได้ นี่คือการตัดสินใจครั้งสำคัญของการวางพื้นฐานข้อตกลง เพื่อเนื้อหาสุดท้ายของแผนดำเนินการอย่างครอบคลุม ตอนนี้เราสามารถเริ่มต้นร่างเนื้อหาและภาคผนวกต่างๆได้แล้ว” โมเกนรินี ซึ่งทำหน้าที่ในฐานะผู้ประสานงานของ 6 ชาติมหาอำนาจที่เกี่ยวข้องกับโต๊ะหารือนี้ อันประกอบด้วย อังกฤษ จีน ฝรั่งเศส เยอรมนี รัสเซียและสหรัฐฯ
กรอบข้อตกลงนี้ซึ่งถูกต่อต้านอย่างดุเดือดจากอิสราเอล พันธมิตรสหรัฐฯ ยังรวมไปถึงการจำกัดการแปรรูปยูเรเนียมของอิหร่านเป็นเวลา 10 ปี อย่างไรก็ตามนายจาวัด ซารีฟ รัฐมนตรีต่างประเทศของเตหะรานเตือนว่า “เรายังคงอยู่ห่างจากจุดที่เราต้องการไปถึง”
เจ้าหน้าที่ตะวันตกบอกว่าทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องว่าข้อตกลงฉบับสมบูรณ์จำเป็นต้องกำหนดให้อิหร่านเจือจางหรือลำเลียงสต๊อกยูเรเนียมที่ผ่านการแปรรูปแล้วออกนอกประเทศทั้งหมด และเหลือเครื่องหมุนเหวี่ยงยูเรเนียมที่ปฏิบัติการต่อไปได้แค่ 6,000 เครื่องจากทั้งหมด 19,000 เครื่อง
กว่าข้อตกลงดังกล่าวจะบรรลุ การเจรจาก็ล่วงเลยเข้าสู่วันที่ 8 ซึ่งขยายเวลาออกมาหลังจากเส้นตายเดิมที่กำหนดไว้ในช่วงเที่ยงคืนวันอังคาร(31มี.ค.) โดยมีเป้าหมายได้ข้อตกลงทางการเมืองที่จะถูกนำไปเป็นรากฐานข้อตกลงสุดท้ายฉบับสมบูรณ์ในวันที่ 30 มิถุนายน
พวกชาติตะวันตกชี้ว่าการแปรรูปยูเนียมสามารถนำไปใช้ในการผลิตอาวุธนิวเคลียร์ แต่เตหะรานยืนหรานว่ามันเป็นโครงการพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติเท่านั้น
โต๊ะเจรจาครั้งนี้ถือเป็นโอกาสอันดีที่สุดสำหรับการคืนสัมพันธ์อันดีระหว่างสหรัฐฯและอิหร่าน นับตั้งแต่สองฝ่ายกลายมาเป็นศัตรูกันหลังจากเหตุปฏิวัติอิหร่านในปี 1979 แต่ข้อตกลงนี้กลับก่อความคลางแคลงใจแก่พวกอนุรักษ์นิยมในทั้งสองประเทศหลังจากผู้นำสูงสุดของทั้งสองมีการลักลอบส่งจดหมายพูดคุยกันเป็นการส่วนตัวก่อนการเจรจาจะเริ่มต้นขึ้น
ในเนื้อหาของข้อตกลงเบื้องต้น อิหร่านจะได้รับการปลดเปลื้องมาตรการคว่ำบาตรเศรษฐกิจจากสหรัฐฯและสหภาพยุโรปตามลำดับ ขณะที่พวกเขาต้องพิสูจน์ให้เห็นว่ายอมปฏิบัติตามข้อตกลงนิวเคลียร์ฉบับสมบูรณ์ในอนาคต ที่ทั้งสองฝ่ายวางกรอบไว้ว่าต้องได้ข้อสรุปในวันที่ 30 มิถุนายน แต่หากเตหะรานล้มเหลวในการปฏิบัติตามเงื่อนไขของข้อตกลง มาตรการคว่ำบาตรเหล่านั้นก็จะถูกบังคับใช้อีกครั้ง
ข้อตกลงเบื้องต้นระบุด้วยว่ามติต่างๆของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติที่มีต่ออิหร่านจะถูกยกเลิก และจะมีมติใหม่ออกมาเพื่อรับประกันว่าข้อตกลงในอนาคตรวมเอาเงื่อนไขต่างๆเกี่ยวกับการเคลื่อนย้ายเทคโนโลยีและกิจกรรมที่อ่อนไหวต่างๆเข้าไปด้วย
อย่างไรก็ตามในเนื้อหาของข้อตกลงระบุว่ามาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐฯต่ออิหร่าน ในด้านก่อการร้าย การละเมิดสิทธิมนุษยชนและขีปนาวุธนำวิถีจะถูกบังคับใช้ต่อไป พร้อมบอกว่าหากข้อตกลงฉบับสมบูรณ์บรรลุ การตรวจสอบอย่างเข้มข้นต่อห่วงโซ่อุปทานยูเรเนียมของอิหร่านอาจต้องใช้เวลานานถึง 25 ปี
ข้อตกลงดังกล่าวมีขึ้นในขณะที่อิหร่านมีปัญหากับกลุ่มประเทศอาหรับแทบทุกประเทศจากความพยายามแทรกแซงทางการเมืองของอิหร่านที่หนุนหลังกลุ่มหัวรุนแรงชีอะห์ในพื้นที่ประเทศต่างๆ โดยล่าสุดมีความขัดแย้งหนักอยู่ที่ เยเมน ซีเรีย และอิรัก