การปลุกกระแสต่อต้านอิสลามของกลุ่มที่ฉวยโอกาสจากเหตุรุนแรงในกรุงปารีส เมื่อต้นปีที่ผ่านมา กลายเป็นกระแสตีกลับที่ส่งผลให้ยอดขายหนังสือเกี่ยวกับอิสลามขายดิบขายดีในฝรั่งเศสมากยิ่งขึ้น ท่ามกลางกระแสความกังวลและคำถามมากมายเกี่ยวกับศาสนา ซึ่งงานวิจัยของสหรัฐระบุว่าเป็นศาสนาเติบโตเร็วที่สุดในโลก
นิตยสารฉบับพิเศษที่เจาะลึกคำสอนในคัมภีร์อัลกุรอานขายหมดแผงในเวลาอันรวดเร็ว ขณะที่ร้านหนังสือหลายแห่งก็มียอดจำหน่ายหนังสือเกี่ยวกับศาสนาอิสลามเพิ่มขึ้นกว่าแต่ก่อน หลังเหตุรุนแรงที่ทำให้มีผู้เสียชีวิต 17 ศพในกรุงปารีสเมื่อเดือนมกราคม
“ชาวฝรั่งเศสเริ่มตั้งคำถามมากขึ้นเรื่อยๆ และไม่พอใจกับคำตอบที่พวกเขาได้รับจากสื่อทั่วๆ ไป” ฟาบริซ เกอร์เชล ผู้อำนวยการนิตยสารฟิโลโซฟีซึ่งจัดทำฉบับพิเศษดังกล่าวขึ้น เผย
หนังสือว่าด้วยหลักคำสอนของอิสลามมียอดขายเพิ่มขึ้นถึง 3 เท่าตัวในไตรมาสแรกของปีนี้ เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ตามข้อมูลของสหภาพร้านหนังสือแห่งชาติฝรั่งเศส
มาธิลด์ มาฮิเยอ จากเครือร้านหนังสือ La Procure ซึ่งจำหน่ายสิ่งพิมพ์เกี่ยวกับศาสนา ระบุว่า ประชาชนต้องการเข้าใจแก่นแท้ของศาสนาที่กลุ่มไอเอส อ้างว่าเป็นตัวแทน เพื่อจะสามารถวิเคราะห์แยกแยะข้อมูลด้วยตนเองได้
คัมภีร์อัลกุรอานสอนความรุนแรงจริงหรือไม่?
เหตุคนร้ายบุกกราดยิงกองบรรณาธิการนิตยสารเสียดสีชาร์ลีเอ็บโด และซุปเปอร์มาร์เก็ตยิวที่ชานกรุงปารีส ทำให้ผู้ที่มิใช่มุสลิมจำนวนมากต้องการรู้คำตอบ
“วันก่อนมีผู้หญิงที่เป็นคาทอลิกเคร่งครัดมาซื้อคัมภีร์อัลกุรอาน เธอบอกว่าอยากจะทำความเข้าใจด้วยตัวเองว่าอิสลามเป็นศาสนาที่สอนความรุนแรงจริงหรือไม่” อีวอนน์ กิลาแบร์ เจ้าของร้านหนังสือที่เมืองนองต์ส ( Nantes) ทางภาคตะวันตกของฝรั่งเศส ให้สัมภาษณ์
หลายคนหวังที่จะเข้าถึงแก่นของอิสลามที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังลัทธิรากฐานนิยม (Fundamentalism)
“ผมคิดว่าเราต้องรู้จักมองข้ามความเป็นรากฐานนิยม เพื่อพิจารณาอย่างถ่องแท้ว่าศาสนาต่างๆ ให้อะไรกับเราบ้าง” ปาทริซ เบสนาร์ด ลูกค้าประจำของร้านหนังสือศาสนาแห่งหนึ่งในกรุงปารีส กล่าว
นักวิชาการในฝรั่งเศสเองก็กำลังสนใจใคร่รู้ไม่น้อย โดยที่วิทยาลัย คอลเลจ เดอ ฟรองซ์ ได้มีการแต่งตั้งประธานกลุ่มศึกษาพระคัมภีร์อัลกุรอานขึ้น เมื่อวันพฤหัสบดี ที่ผ่านมา (2 เม.ย.)
ฌอง โรนี อาจารย์กฎหมายจากมหาวิทยาลัยซอร์บอนน์ เริ่มต้นศึกษาคัมภีร์อัลกุรอานของศาสนาอิสลามด้วยตนเองเมื่อต้นปีนี้
“จากสถานการณ์ปัจจุบัน ผมได้เพิ่มเนื้อหาเกี่ยวกับศาสนาเอกเทวนิยมเข้าไปในวิชาวัฒนธรรมทั่วไปที่ผมสอนให้กับนักศึกษาที่กำลังเตรียมสอบผู้พิพากษาด้วย” เขากล่าว
มันซูร์ มันซูร์ เจ้าของสำนักพิมพ์ อัล-บุร็อก ซึ่งพิมพ์เผยแพร่ตำราเกี่ยวกับอิสลามและตะวันออกกลาง ยอมรับว่ายอดขายหนังสือช่วงนี้เพิ่มขึ้นกว่าปกติถึง 30 เปอร์เซ็นต์
“ปรากฎการณ์อย่างนี้เคยเกิดขึ้นหลังเหตุวินาศกรรมสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 11 กันยายน ปี 2001” มันซูร์ ให้สัมภาษณ์กับเอเอฟพี และเดาว่าครั้งนี้กระแสจะคงอยู่นานเป็นพิเศษ เนื่องจากภัยคุกคามในภูมิภาคที่มีกลุ่มไอเอสที่อ้างความเป็นอิสลามเกี่ยวพันอยู่อย่างแยกไม่ออก
ส่วนหนึ่งที่ทำให้ชาวฝรั่งเศสสนใจศึกษาอิสลามเพิ่มขึ้นเป็นเพราะนักรบไอเอสที่สังหารพลเมืองในอิรักและซีเรียจำนวนหนึ่ง มีพื้นเพมาจากโลกตะวันตก
สำนักพิมพ์ของ มันซูร์ ตัดสินใจถอดหนังสือหลายเล่มที่สอนอิสลามแบบตรงออกจากแค็ตตาล็อก หลังกลุ่มนักรบไอเอสอาศัยการตีความอัลกุรอานในลักษณะนี้มาเป็นข้ออ้าง
เขายังฝากเตือนผู้นับถือศาสนาอื่นๆ ที่ไปหาคัมภีร์อัลกุรอานมาศึกษาเอง “โดยไม่มีผู้รู้คอยแนะนำ” และชี้ว่าไม่ควรด่วนสรุปถ้อยคำอุปมาอุปไมยซึ่งบางครั้งไม่สามารถจะตีความตามรูปคำได้โดยตรง
สำหรับผู้ที่ไม่เคยศึกษาอิสลามมาก่อนเลย มันซูร์ แนะนำให้เริ่มจากชีวประวัติของศาสดามูฮัมหมัด ศ็อลลั๊ลลอฮุอลัยฮิวะซัลลัม เสียก่อน
ปีที่แล้ว หนังสือเกี่ยวกับอิสลามที่ตีพิมพ์ในฝรั่งเศสมีจำนวนมากกว่าหนังสือศาสนาคริสต์ประมาณ 2 เท่าตัว ตามข้อมูลสถิติจากนิตยสาร ลีฟร์ เอ็บโด