“ใต้-อีสาน”ร่วมใจ จัดอบรมเติมศรัทธาเยาวชนมุสลิมอีสาน

มัสยิดดารุสสลาม บุรีรัมย์ จับมือเยาวชนมุสลิมใต้ ผนึกกำลังจัดโครงการโรงเรียนอบรมเติมศรัทธา ครั้งที่ 5 พัฒนาจริยธรรมเยาวชนมุสลิมในถิ่นอีสานใต้

“ต้องขอบคุณอัลลอฮฺที่ให้เรายังมีชีวิต ต้องขอบคุณอัลลอฮฺที่ยังไม่เอาอิหม่านไปจากหัวใจของเรา เมื่อถึงวันศุกร์ให้เราได้เดินทางไกลหลาย 10 กิโลเมตรมามัสยิดเพื่อละหมาด” อ.รุสดี พี่เลี้ยงค่ายที่เดินทางไกลกว่าพันกิโลเมตรจากจังหวัดชายแดนภาคใต้มาทำหน้าที่พี่เลี้ยงในโรงเรียนอบรมเติมศรัทธาดินแดนอีสานใต้ กล่าวในคุตบะวันศุกร์ที่ 10 เมษายน ณ มัสยิดดารุสสลาม

“อย่าให้ความรู้ของผู้ที่เดินทางกว่าพันกิโลเมตร มาให้ความรู้กับลูกหลานของเราต้องสูญเปล่า” อ.มูฮัมหมัด ฮีมมานะ คอตีบ และหัวหน้าฝ่ายวิชาการโรงเรียนอบรมเติมศรัทธา ครั้งที่ 5 มัสยิดดารุสสลาม กล่าวหลังจากละหมาดวันศุกร์

มัสยิดดารุสสลาม อ.กระสัง จ.บุรีรัมย์ จัดโครงการโรงเรียนอบรมเติมศรัทธาต่อเนื่องกันเป็นครั้งที่ 5 ในช่วงปิดเทอม ซึ่งในปีนี้จัดขึ้นในช่วงระหว่างวันที่ 3 – 23 เมษายน โดยมีเยาวชนเข้าร่วมกว่า 31 ท่าน อยู่ประจำ 25 คน ไปกลับ 6 คน เป็นเยาวชนจากสุรินทร์ซึ่งมีพรมแดนติดกับ อ.กระสัง เยาวชนจากบุรีรัมย์ พื้นที่ใกล้เคียง และนอกจากนี้ยังมีเด็กกำพร้าจากชาวเขาในพื้นที่ภาคเหนือ 3 คนเดินทางมาร่วมค่ายอบรมในครั้งนี้ด้วย

โดยแต่ละปีจะมีการร่วมมือจากพี่น้องมุสลิมในหลายพื้นที่ ทั้งจากภาคเหนือ และภาคใต้ ในการเดินทางมาช่วยในการเป็นพี่เลี้ยงให้กับเยาวชนในพื้นที่อีสานใต้ ซึ่งในปีนี้ได้ทำหนังสือขอตัวนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยฟาฏอนี มาช่วยเป็นพี่เลี้ยงเนื่องจากอยู่ในช่วงเปิดภาคการศึกษาทำให้นักศึกษาไม่สามารถเดินทางมาได้ปกติ นอกจากในส่วนของวิชาการ มีครูสอนกุรอานเดินทางมาจากกรุงเทพมหานคร เพื่อให้ความรู้กับเยาวชนด้วย

ขณะที่ในด้านกิจกรรม มีการหลากหลายกิจกรรมที่สร้างความสามัคคี ความรักในศาสนาให้กับพี่น้องมุสลิม และยังมีกิจกรรมที่แสดงให้เห็นความต้องการของเยาวชนในพื้นที่ภาคอีกสานเช่นการให้เยาวชนร่วมกันวาดภาพบ้านของฉัน ซึ่งเผยให้เห็นความรู้สึกในเบื้องลึกของหัวใจเยาวชนที่ห่างไกลจากชุมชนมุสลิม มีความฝันที่อยากจะมีมัสยิดอยู่ใกล้ๆ กับบ้านของตนเอง

ทั้งนี้พี่น้องมุสลิมในพื้นที่อีสานใต้ มีจำนวนไม่มาก แต่ส่วนมากจากต้องเดินทางกว่า 30 กิโลเมตรมาละหมาดที่มัสยิด ส่วนมากจะเป็นพี่น้องมุสลิมที่เดินทางเข้ามาเพื่อประกอบธุรกิจ อาจต่างกันในด้านของเชื้อชาติแต่มีความร่วมมือร่วมใจในกิจการศาสนา และแสวงหาความรู้ด้านศาสนาให้กับลูกหลานอย่างต่อเนื่อง แต่ติดปัญหาที่ในพื้นที่ยังขาดผู้รู้ที่จะคอยให้ความรู้ และสอนศาสนาให้กับเยาวชนอย่างเนื่องเนื่อง แม้ขณะนี้จะมีเยาวชนในพื้นที่บางส่วนเดินทางเดินทางไปเรียนศาสนาในกรุงเทพมหานคร และในโรงเรียนศาสนาในภาคใต้บ้างแล้ว แต่การให้ความรู้ทางศาสนาสำหรับเยาวชนในพื้น ณ ปัจจุบันนี้ยังคือเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างมากในพื้นที่

i-News Daily 58-04-11-269m

ความคิดเห็น

comments

ใส่ความเห็น