การจำหน่ายกระแสไฟฟ้าให้แก่สิงคโปร์ โดยผ่านข่ายสายส่งไฟฟ้าในไทย และมาเลเซีย ยังเป็นเรื่องที่ไม่ง่าย ถึงแม้ว่าทางการลาวจะดำเนินการ และ หารือกับประเทศที่เกี่ยวข้องมาข้ามปีก็ตาม เจ้าหน้าที่ของลาวหวังว่า เรื่องนี้คงจะหาข้อสรุปในทางปฏิบัติได้ ในการประชุมระดับรัฐมนตรีพลังงานของอาเซียน ที่จะมีขึ้นอีกครั้งหนึ่งปลายปีนี้ในมาเลเซีย
นี่เป็นผลสรุปจากการประชุมระดับคณะกรรมการปฏิบัติการ ที่จัดขึ้นในนครเวียงจันทน์ สัปดาห์ก่อน เทศกาลหยุดยาวที่ผ่านมา สำนักข่าวทางการรายงาน
ตามแผนการดังกล่าว ลาวจะจำหน่ายกระแสไฟฟ้าให้สิงคโปร์ 100 เมกะวัตต์ และได้ปรึกษาหารือในรายละเอียดทางเทคนิคกับไทย และมาเลเซีย เกี่ยวกับการส่งไฟฟ้าผ่านข่ายสายส่งในทั้งสองประเทศ ลงไปยังเกาะทางปลายสุดของคาบแหลมมลายู ในขณะที่ลาวผลิตไฟฟ้าได้มากขึ้นทุกปี มากจนเหลือใช้ในประเทศ สำนักข่าวสารปะเทดลาวรายงานอ้าง นายคำโส้ กุโพคำ หัวหน้าคณะกรรมการดำเนินงานเชื่อมโยงสายส่งไฟฟ้าแรงสูงระหว่าง 4 ประเทศ
เจ้าหน้าที่ผู้นี้กล่าวว่า ในการดำเนินการดังกล่าว ลาวจะต้องยอมรับเงื่อนไขกฎระเบียบทั้งของไทย มาเลเซีย รวมทั้งข้อกำหนดของประเทศผู้ซื้อปลายทางด้วย แต่คาดว่าบันทึกความเข้าใจฉบับหนึ่งเกี่ยวกับเรื่องนี้จะสามารรถลงนามได้ระหว่างการประชุมรัฐมนตรีพลังงานครั้งที่ 33 ที่จะจัดขึ้นในกรุงกัวลาลัมเปอร์
ตามรายงานของสื่อทางการ ปัจจุบัน ลาวมีโครงข่ายที่สามารถเชื่อมต่อกับประเทศเพื่อนบ้านได้จำนวน 25 ข่าย ส่งกระแสไฟฟ้าไปจำหน่ายให้แก่ จีน ไทย เวียดนาม และกัมพูชา
ลาว ขายไฟฟ้าให้ไทยกับเวียดนาม ในราคา 7 เซ็นต์ (560 กีบ) ต่อหน่วย (หรือกิโลวัตต์-ชั่วโมง) ขายให้กัมพูชา 6 เซ็นต์ (420 กีบ) ต่อหน่วย ส่วนสิงคโปร์ ราคาจำหน่ายจะเป็นหน่วยละ 20 เซ็นต์ หรือ 1,600 กีบ ทั้งนี้ เนื่องจากระยะทางยาวไกล ทำให้มีต้นทุนในการส่งไฟฟ้าสูงกว่า สำนักข่าวสารปะเทดลาวรายงานก่อนหน้านี้ อ้าง นายวิระพัน วีระวง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพลังงานและเหมืองแร่
ความคิดนี้เป็นผลจากการประชุมรัฐมนตรีพลังงานอาเซียนครั้งที่ 32 ในนครเวียงจันทน์ เดือน ก.ย.ปีที่แล้ว ตามความริเริ่มการเชื่อมต่อโครงข่ายพลังงานในกลุ่มอาเซียน ที่จะรวมตัวกันเป็นประชาคมใหญ่ในสิ้นปี 2558 นี้
ยังไม่ทราบผลละเอียดการปรึกษาหารือครั้งล่าสุด รวมทั้งราคาที่จะจำหน่ายให้แก่สิงคโปร์ แต่เจ้าหน้าที่ของลาว กล่าวว่า ถึงแม้จะมีค่าใช้จ่ายสูงขึ้นในการส่งไฟฟ้าไปยังประเทศเกาะดังกล่าว แต่ไฟฟ้าพลังน้ำก็เป็นพลังงานสะอาด มีความมั่นคง และยั่งยืน