ทีมช่วยเหลือจากอิตาลีและมอลตา ระดมกำลังค้นหาผู้อพยพที่ยังคงสูญหาย หลังเรือล่มในทะเลเมดิเตอร์เรเนียนนอกชายฝั่งลิเบีย ใกล้เกาะลัมเปดูซาของอิตาลี เมื่อคืนวันเสาร์ พบศพแล้ว 24 ราย หนึ่งในผู้รอดชีวิต 28 คน เล่าว่าเรือบรรทุกผู้โดยสารมาราว 950 คน
หน่วยงานผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ กับเจ้าหน้าที่ยามฝั่งของอิตาลี ระบุว่า มีผู้รอดชีวิตจากเหตุเรือล่มครั้งนี้เพียงแค่ 28 ราย โดยผู้รอดชีวิตเหล่านั้นได้ให้การว่า มีคนประมาณ 950 รายอยู่บนเรือประมงความยาว 20 เมตร ลำที่ล่มกลางทะเล
“ดูเหมือนว่าเรากำลังเจอกับการตายหมู่ครั้งรุนแรงที่สุดเท่าที่เคยพบมาในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน” คาร์ลอตตา ซามี โฆษกของยูเอ็นเอชซีอาร์ กล่าว
กองทัพเรือของมอลตา บอกว่าพวกเขาได้รับแจ้งเหตุครั้งนี้เมื่อตอนเที่ยงคืนวันเสาร์ (ประมาณ 5.00 น. ของวันอาทิตย์ตามเวลาไทย)
เจ้าหน้าที่ยามฝั่งของอิตาลี ระบุว่า ตอนที่ได้รับแจ้งขอความช่วยเหลือ เรือลำดังกล่าวอยู่ห่างจากชายฝั่งลิเบียขึ้นไปทางเหนือประมาณ 126 กิโลเมตร และอยู่ห่างจากเกาะลัมเปดูซาของอิตาลีลงมาทางใต้ประมาณ 177 กิโลเมตร
เจ้าหน้าที่ยามฝั่งของอิตาลีได้บอกให้เรือพาณิชย์ที่อยู่ใกล้ให้เข้าไปช่วยเหลือ จากนั้นก็มีเรือของโปรตุเกสมาถึงจุดเกิดเหตุ ซึ่งในตอนนั้นเอง ผู้อพยพที่เห็นเรือพาณิชย์อยู่ไกลๆ ต่างก็พากันไปยืนรวมกันที่ด้านเดียว พยายามจะเรียกให้เรือพาณิชย์เข้ามาช่วย แต่กลายเป็นว่าเรือประมงเสียสมดุลแล้วพลิกคว่ำ
ในช่วงเช้าวันอาทิตย์ มีเรือทั้งหมด 17 ลำอยู่ในบริเวณจุดเกิดเหตุ เพื่อทำการค้นหาบรรดาผู้อพยพแต่ไม่ประสบผลมากนัก โดยเจ้าหน้าที่ยามฝั่งของอิตาลีบอกว่า สามารถช่วยคนในตอนนั้นได้เพียงแค่ 24 รายจากบริเวณจุดเกิดเหตุ
อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ยังไม่สามารถยืนยันตัวเลขที่แน่ชัดได้ โดยสำนักข่าวเอพีรายงานอ้างคำบอกเล่าของผู้รอดชีวิตชาวบังคลาเทศคนหนึ่่งระบุว่า บนเรือมีผู้โดยสารมากถึง 950 คน ในจำนวนเป็นเด็กหลายสิบคน และผู้หญิงราว 200 คน โดยผู้อพยพราว 300 คน ถูกพวกนายหน้าจับขังไว้ใต้ท้องเรือ ซึ่งเจ้าหน้าที่ยังไม่ยืนยันข้อมูลดังกล่าว แต่อาจมีความเป็นไปได้ เพราะในที่เกิดเหตุพบศพแล้ว 24 ราย ซึ่งถือว่าน้อยมาก และหากเป็นจริงอย่างที่พยานเล่า คนจำนวนมากขนาดนั้นจะต้องทำให้เรือจมอย่างแน่นอน
องค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (ไอโอเอ็ม) เผยตัวเลขผู้อพยพที่เสียชีวิตระหว่างเดินทางในต้นปีนี้สูงถึงประมาณ 1,500 ราย ขณะที่ได้รับการช่วยเหลือไปราว 20,000 ราย
ส่วนบรรดาองค์กรที่คอยช่วยเหลือผู้คน ต่างก็ต้องการให้อิตาลีนำปฏิบัติการมารีนอสตรุมของกองทัพเรือกลับมาใช้อีกครั้ง ซึ่งเป็นปฏิบัติการที่เกี่ยวกับการค้นหาและช่วยเหลือผู้ประสบภัยทางทะเล ที่ถูกระงับไปเมื่อสิ้นปีที่แล้ว
อิตาลีได้ลดขนาดของภารกิจลักษณะดังกล่าว หลังจากที่ไม่สามารถจูงใจให้หลายชาติในยุโรปช่วยกันควักเงินสนับสนุนปฏิบัติการมารีนอสตรุม ที่มีค่าใช้จ่ายสูงถึงเดือนละ 9 ล้านยูโร แถมปฏิบัติการดังกล่าวยังถูกมองว่าช่วยให้บรรดาผู้อพยพกล้าเสี่ยงตายเดินทางข้ามทะเลมากขึ้น เพราะรู้ว่าจะมีคนคอยช่วยเหลือ
ปฏิบัติการมารีนอสตรุม ถูกทดแทนด้วยปฏิบัติการใหม่ที่เล็กกว่าเดิมมากของอียู ที่เรียกว่าไตรตัน โดยได้รับการสนับสนุนเล็กน้อยในด้านเงินทุนและกำลังคนจากอิตาลี
เหล่าผู้อพยพมักหาหนทางที่จะไปให้ถึงยุโรปด้วยความช่วยเหลือของพวกลักลอบขนของเถื่อน โดยทั่วไปมีสาเหตุมาจากต้องการหนีให้พ้นจากการสู้รบและการกดขี่ข่มเหงภายในประเทศ อาทิ เอริเทรีย อัฟกานิสถาน ซีเรีย กับอีกพวกที่ต้องการจะหนีความยากจนและอดอยาก อย่างกลุ่มประเทศทางใต้ของทะเลทรายซาฮาราในแอฟริกาและประเทศแถบเอเชียใต้