นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า จากการสำรวจอัตราการเกิดในปีที่ผ่านมาพบว่าเด็กเกิดน้อยลงเหลือเพียงประมาณปีละ 600,000 คน จากเดิมที่เกิดปีละประมาณ 800,000 คน เป็นเพราะคนไทยแต่งงานช้า และไม่ยอมมีบุตร นอกจากนี้ยังพบแนวโน้มการหย่าร้างสูง โดย 1ใน 4 ของคู่แต่งงานจะหย่าร้างกันใน 3 ปีที่ผ่านมามีความพยายามในการรณรงค์ให้คนไทยมีบุตรเพิ่มขึ้นตลอด แต่ถือว่าล้มเหลวโดยปัญหาหนึ่งที่คนไม่ยอมมีบุตรก็เพราะต้องทำงานนอกบ้านมีลูกแล้วไม่มีคนเลี้ยง
ล่าสุดเมื่อวันที่ 9 เมษายนที่ผ่านมาได้มีการหารือของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและเห็นชอบในการดำเนินการหลายอย่างเพื่อส่งเสริมให้คนไทยมีบุตรเพิ่มขึ้นอย่างมีคุณภาพ คือ
1.จัดกิจกรรมส่งเสริมให้ชายหญิงได้มีการพบปะกัน เพื่อเพิ่มโอกาสในการแต่งงานและมีบุตร
2. จัดให้มีระบบการให้คำแนะวัยรุ่นเพื่อเตรียมความพร้อมก่อนมีบุตรหลังอายุ 20 ปี เนื่องจากปัจจุบันพบว่านอกจากเด็กไทยเกิดน้อยแล้วยังเกิดจากเด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี ทำให้ทารกที่เกิดมามีน้ำหนักตัวน้อยกว่า 2,500 ทำให้มีปัญหาสุขภาพตามมา และโตมาแบบมีพัฒนาการไม่สมวัย
3. ให้มีกฎหมายบังคับให้หน่วยงานภาครัฐและเอกชนมีสถานเลี้ยงเด็กอ่อน หากไม่สะดวกที่จะดำเนินการต้องจัดให้มีศูนย์เลี้ยงเด็กอ่อนใกล้กับสถานที่ทำงาน โดยกรมอนามัยจะจัดทีมพี่เลี้ยงเพื่อไปฝึกอบรมเรื่องการดูแลเด็กอ่อนให้ โดยในส่วนของต่างจังหวัดไม่ค่อยมีปัญหาเพราะมีศูนย์เด็กเล็กอยู่แล้ว จะขยายให้เป็นศูนย์รับดูแลเด็กอ่อนด้วย ตรงนี้กรมอนามัยจะจัดหลักสูตรดูแลคุณภาพพนักงานศูนย์เด็กอ่อนให้มีคุณภาพตามมาตรฐานทางการแพทย์ ทางอนามัย โดยส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปอบรมเรื่องการดูแลเด็กอ่อนอย่างถูกวิธี
ทั้งนี้นอกจากจะเป็นการส่งเสริมให้คนไทยมีบุตรโดยไม่ต้องกังวลเรื่องการเลี้ยงดูแล้วยังเป็นการเพิ่มพัฒนาการเด็กได้อย่างสมวัยด้วยจากเดิมที่พบว่าประเทศไทยมีเด็กที่พัฒนาการไม่สมวัยอยู่ประมาณร้อยละ 30 แนวทางดังกล่าวจะเสนอเสนอครม.พิจารณาภายในเดือนนี้ให้เป็นยุทธศาสตร์เร่งด่วน
“นอกจากเด็กจะเกิดน้อยลงแล้ว แต่ยังเกิดจากคุณภาพต่ำแม่อายุต่ำกว่า 20 ปีลงมา ทำให้เด็กร่างกายไม่สมบูรณ์ น้ำหนักตัวน้อยกว่า 2,500 กรัม ดังนั้นจะวางแผนให้ตั้งครรภ์หลังอายุ 20 ดังนั้นเราต้องทำตรงนี้ ต้องสนับสนุนเรื่องการเลี้ยงดูลูกเด็กเล็ก กรมอนามัยได้รวบรวมหน่วยงานที่ทำเรื่องพัฒนาการเด็กอ่อน ตั้งเป็นสถานบันพัฒนาการเด็กแห่งชาติเมื่อปีที่แล้ว และในปีนี้เพิ่งได้รับงบประมาณ 77 ล้านบาท ในการสร้างอาคารหลังใหม่ เพื่อดูแลเด็กตั้งแต่แรกคลอด และเอาความรู้มาขยายผลอบรมบุคลากรที่ดูแลเด็กให้มีคุณภาพตามมาตรฐาน” นพ.พรเทพ กล่าว.