สหรัฐฯ ให้สัญญาเมื่อวันที่ 23 เมษายนที่ผ่านมา ว่าจะจัดส่งสุดยอดเครื่องบินขับไล่ F-35 แก่อิสราเอลเพื่อดำรงแสนยานุภาพที่เหนือกว่าของรัฐยิวในตะวันออกกลาง และยืนยันว่าข้อตกลงนิวเคลียร์ที่ทำกับอิหร่านจะคำนึงถึงความมั่นคงของอิสราเอลเป็นสำคัญ
รองประธานาธิบดี โจ ไบเดน แห่งสหรัฐฯ ได้ประกาศกลางพิธีรำลึกวันเอกราชอิสราเอลซึ่งจัดโดยสถานทูตยิวว่า สหรัฐฯ จะปกป้องแสนยานุภาพทางทหารที่เหนือชั้นของอิสราเอล (qualitative edge) และเตรียมส่งฝูงบินขับไล่ F-35 ที่ได้ชื่อว่าเป็นเพชรยอดมงกุฎในบรรดาอาวุธที่อเมริกาพัฒนาขึ้นให้แก่อิสราเอลในปีหน้า
“ปีหน้าเราจะส่งเครื่องบินขับไล่ F-35 ซึ่งเป็นรุ่นที่ดีเยี่ยมที่สุดของเราไป ซึ่งจะทำให้อิสราเอลเป็นประเทศเดียวในตะวันออกกลางที่ครอบครองอากาศยานทางทหารชนิดนี้”
การปรากฏตัวของไบเดนในงานนี้ชี้ให้เห็นถึงความพยายามของทำเนียบขาวที่จะลดความขุ่นเคืองใจระหว่างประธานาธิบดีบารัค โอบามา กับนายกรัฐมนตรี เบนจามิน เนทันยาฮู ในเรื่องนโยบายการทูตตะวันออกกลาง
ความสัมพันธ์ระหว่างวอชิงตันและเทลอาวีฟที่ทำทีเป็นว่าจะตึงเครียด หลังจากที่เนทันยาฮูเดินทางไปปราศรัยต่อสภาคองเกรสตามคำเชิญของพรรครีพับลิกันเมื่อเดือนที่แล้ว และได้วิจารณ์ความพยายามของโอบามาที่จะบรรลุข้อตกลงควบคุมนิวเคลียร์กับอิหร่าน นำมาซึ่งความชอบธรรมในการประเคนอาวุธทันสมัยที่สุดให้กับอิสราเอล ในภาวะที่อิสราเอลมักใช้อาวุธทันสมัยเหล่านี้เกือบทั้งหมดไปกับการโจมตีชาวปาเลสไตน์ที่เสมือนปราศจากอาวุธ
ไบเดนย้ำชัดเจนว่า “จะไม่มีข้อตกลงใดๆ เกิดขึ้น” ถ้าอิหร่านไม่ยอมรับการตรวจสอบจากนานาชาติ และหากเตหะราน “เล่นตุกติก” สหรัฐฯ ก็พร้อมที่พิจารณาแนวทางตอบโต้ทุกอย่าง
รองประธานาธิบดีสหรัฐฯ ยอมรับว่า แม้จะมีความเห็นต่างกันอยู่บ้าง แต่วอชิงตันและยิวยังคง “ปกป้องซึ่งกันและกัน” เสมอ
อิสราเอลได้สั่งซื้อฝูงบินขับไล่ F-35 จำนวน 19 ลำในปี 2010 เป็นมูลค่า 2,750 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปีนี้ก็ได้ลงนามในสัญญาสั่งผลิตอากาศยานจากค่ายล็อกฮีดมาร์ตินเพิ่มอีก 14 ลำ คิดเป็นมูลค่าราว 3,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
กระทรวงกลาโหมอิสราเอลแถลงเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ว่า เครื่องบินขับไล่ F-35 สองลำแรกจะถูกส่งมอบแก่รัฐยิวในช่วงปลายปี 2016 และจะได้รับครบจำนวนที่สั่งซื้อภายในปี 2021
ทั้งนี้สภาคองเกรสได้ออกกฎหมายเมื่อปี 2008 กำหนดให้สหรัฐฯ ต้องคำนึงถึงการปกป้องแสนยานุภาพที่เหนือกว่า (qualitative military edge) ของอิสราเอล ซึ่งหมายความว่าวอชิงตันจะจำหน่ายอาวุธให้แก่กลุ่มประเทศตะวันออกกลางได้ก็ต่อเมื่อไม่ทำให้อิสราเอลอยู่ในภาวะสุ่มเสี่ยง