อาเซียนเตือนการกระทำของจีนอาจทำลายความสงบสุขในทะเลจีนใต้

ความพยายามในการสร้างเกาะของจีนในน่านน้ำพิพาททะเลจีนใต้ ที่เส้นทางขึ้นลงเครื่องบินกำลังถูกสร้างขึ้นบนแนวปะการัง เสี่ยงที่จะบ่อนทำลายความสงบสุข ความมั่นคง และเสถียรภาพในภูมิภาค ผู้นำประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวเตือนในที่ประชุมสุดยอดผู้นำระดับภูมิภาคในวันนี้ (27)

ร่างคำแถลงปิดการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ระบุถึงความวิตกต่อการถมทะเลบนแนวปะการังที่เป็นข้อพิพาทในการอ้างกรรมสิทธิ์ ซึ่งก่อให้เกิดความกลัววว่าจีนจะเข้าควบคุมเส้นทางทางทะเล

ส่วนหนึ่งในร่างคำแถลงของมาเลเซีย ที่เป็นประธานอาเซียนหมุนเวียนในปีนี้ระบุว่า ผู้นำบางประเทศในกลุ่มได้แสดงความวิตกต่อการถมทะเลที่กำลังดำเนินอยู่ในทะเลจีนใต้ ที่บ่อนทำลายความไว้วางใจ และความเชื่อมั่น และยังอาจทำลายความสงบสุข ความมั่งคง และเสถียรภาพของภูมิภาค

ส่วนหนึ่งของชาติสมาชิกในสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ที่ประกอบด้วย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และบรูไน ต่างอ้างสิทธิในพื้นที่บางส่วนของทะเลจีนใต้ที่อุดมด้วยแหล่งพลังงาน แหล่งทำการประมง และยังเป็นเส้นทางการค้าสำคัญของโลก แต่ปักกิ่งระบุว่า พื้นที่เกือบทั้งหมดเป็นดินแดนทางทะเลของจีนที่ไม่อาจโต้แย้งได้

ภาพถ่ายดาวเทียมที่เผยแพร่ออกมาเมื่อช่วงต้นเดือนเป็นหลักฐานชิ้นใหม่ที่เผยให้เห็นถึงขนาดโครงการของจีน ภาพกองเรือของจีนที่กำลังขุดลอกทรายบนแนวปะการังมิสชีพ ในบริเวณหมู่เกาะสแปรตลีย์ ขณะที่ภาพถ่ายชิ้นอื่นๆ ยังแสดงให้เห็นเส้นทางขึ้นลงเครื่องบิน และท่าเรือที่กำลังเป็นรูปเป็นร่างบนแนวปะการังเฟียรี่ ครอส ซึ่งอยู่ในหมู่เกาะสแปรตลีย์เช่นกัน ซึ่งนักวิเคราะห์ด้านกลาโหมระบุว่า กิจกรรมเหล่านี้เป็นการเพิ่มการปรากฏตัวอย่างถาวรของจีนในทะเล

คำแถลงปิดการประชุมของมาเลเซีย ยังมีคำสั่งให้รัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนเร่งแก้ไขปัญหาด้วยกลไกการเจรจาระหว่างกลุ่ม และจีน ซึ่งเป็นการปัดข้อเรียกร้องของรัฐมนตรีต่างประเทศฟิลิปปินส์ วานนี้ ที่ต้องการให้อาเซียนยืนหยัดต่อต้านปักกิ่ง และยุติการถมทะเลโดยทันที ด้วยไม่ต้องการที่จะเป็นปฏิปักษ์ต่อจีน

นายกรัฐมนตรีนาจิบ ราซัค ของมาเลเซีย กล่าวในพิธีเปิดการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนในวันนี้ (27) ว่า อาเซียนต้องจัดการต่อปัญหาดังกล่าวในทางบวก และสร้างสรรค์

ทั้งนี้ กลุ่มอาเซียนเลี่ยงที่จะตอบโต้จีนในนามของสมาชิกกลุ่ม เนื่องจากปักกิ่งมีอิทธิพลในภูมิภาค ทั้งในด้านการค้าและการทูต และไม่ใช่ทุกประเทศในกลุ่มที่มีข้อพิพาทดินแดนกับจีน มีเพียงฟิลิปปินส์ และเวียดนามที่เผชิญหน้าโดยตรงกับจีนในประเด็นพิพาททางทะเลนี้ และคาดว่านายกรัฐมนตรีนาจิบ จะเปลี่ยนความสนใจของการประชุมไปยังการจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ที่จะเกิดขึ้นในช่วงปลายปีนี้แทน.

ความคิดเห็น

comments

ใส่ความเห็น